9 สรรพคุณและประโยชน์ของผักขี้หูด ! (วาซาบิเมืองไทย)

ผักขี้หูด

ผักขี้หูด ชื่อวิทยาศาสตร์ Raphanus caudatus L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Raphanus sativus var. caudatus (L.) Hook. f. & T. Anderson) จัดอยู่ในวงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE)[1],[2],[3]

ผักขี้หูด คงเป็นชื่อเรียกที่มาจากการเปรียบเทียบกับขี้หูดที่มีลักษณะขึ้นเป็นตะปุ่มตะป่ำ เนื่องจากฝักของผักชนิดนี้จะมีลักษณะขอดเป็นปุ่ม ๆ ยาวตลอดทั้งฝัก ชาวบ้านจึงนำลักษณะของผักชนิดนี้มาตั้งชื่อว่า “ผักขี้หูด[2] และด้วยความที่ว่ามีกลิ่นฉุน ผักขี้หูดจึงได้รับฉายานามว่าเป็น “วาซาบิเมืองไทย[5] นอกจากนี้ผักขี้หูดยังมีชื่อเรียกอื่นอีกว่า ผักเปิ๊ก[4]

ลักษณะของผักขี้หูด

  • ต้นผักขี้หูด จัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุ 1 ปี หรือ 2 ปี ลำต้นตั้งตรง มีขนแข็งปกคลุมเล็กน้อย ต้นขึ้นเป็นกอเหมือนกับผักกาดเขียว มีความสูงได้ประมาณ 30-100 เซนติเมตร ลำต้นเป็นรูปทรงกลมหรือทรงกระบอก ส่วนกลางของลำต้นจะกลวง ก้านใบแทงขึ้นจากดิน โดยเป็นผักพื้นบ้านทางภาคเหนือ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ชอบขึ้นในที่มีอากาศหนาวเย็นหรือที่มีความชุ่มชื้น หาพบในภาคอื่นได้น้อยมาก ส่วนทางภาคอีสานก็พบได้เฉพาะบนภูสูงเท่านั้น ดังนั้นผักชนิดนี้จึงเป็นที่รู้จักและใช้กันอย่างกว้างขวางทางภาคเหนือ[1],[3],[4]

ต้นผักขี้หูด

  • ใบผักขี้หูด ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวอ่อน ออกเรียงสลับเป็นกระจุกที่ผิวดิน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีแกมรูปช้อนแกมรูปเส้น ใบจะอวบน้ำ ส่วนล่างของใบจะมีขอบใบที่เว้าหาเส้นกลางใบ ส่วนยอดสุดปลายจะมนหรือแหลม และมักมีขนาดใหญ่กว่า ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ผิวใบเรียบหรือมีขนเล็กน้อยคล้ายกับใบผักกาด ก้านใบยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร[1],[4]

ใบผักขี้หูด

  • ดอกผักขี้หูด ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ช่อดอกยาวได้ประมาณ 10-50 เวนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยมีขนาดเล็กมาก เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงดอกมี 4 กลีบ เป็นสีเขียว ส่วนกลีบมี 4 กลีบ กลีบดอกเป็นสีม่วง สีม่วงอมชมพู หรือเป็นสีขาว ดอกมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 มิลลิเมตร เมื่อต้นผักขี้หูดเจริญเติบโตจนได้ที่แล้ว ก้านดอกจะแทงยอดขึ้นมาจากกอต้นเป็นก้านยาว และจะมีดอกพราวตลอดก้านตั้งแต่ยอดกิ่งถึงโคนกิ่ง โดยผักชนิดนี้จะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม[1],[2],[4]

ดอกผักขี้หูด

รูปดอกผักขี้หูด

  • ผลผักขี้หูด หรือ ฝักขี้หูด ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลคล้ายฝักถั่ว มีขนาดเล็ก ฝักเป็นสีเขียวอ่อน ปลายฝักแหลม ฝักหยักเป็นคอดเว้าเป็นข้อ ๆ ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ผนังด้านในของฝักจะอ่อนนุ่มคล้ายกับฟองน้ำ ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-10 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดกลมหรือค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 มิลลิเมตร โดยผักชนิดนี้จะออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[4]

รูปผักขี้หูด

รูปผักขี้หูด

สรรพคุณของผักขี้หูด

  1. ฝักและใบช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ, ฝัก)[4]
  2. เนื่องจากผักขี้หูดมีกลิ่นฉุน จึงนิยมนำไปใช้เป็นยาสมุนไพรแก้หวัด (ฝัก)[5]
  3. ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย (ใบ, ฝัก)[4]
  4. ช่วยละลายนิ่ว (ใบ, ฝัก)[4]
  5. ดอกเป็นยาช่วยขับน้ำดี (ดอก)[4]
  6. ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับผักกาดหัวหรือหัวไชเท้า[1]

ประโยชน์ของผักขี้หูด

  • ดอกและฝักของผักขี้หูดสามารถใช้รับประทานเป็นผักได้ทั้งสดและสุก โดยผักขี้หูดเมื่อสดหรืออ่อนจะมีรสชาติเผ็ดเล็กน้อย มีรสคล้ายกับรสมัสตาร์ด แต่เมื่อนำไปต้มหรือทำให้สุกก็จะออกรสหวานมัน คล้ายกับก้านดอกหอม มีรสอร่อย โดยนิยมรับประทานกันมากทางภาคเหนือ โดยอาหารเหนือจะมีความอร่อยเป็นพิเศษหากนำผักขี้หูดมาร่วมปรุงด้วย เช่น การทำแกงแค แกงส้มกับปลาช่อน แกงส้มพริกสดใส่มะเขือเทศ แกงป่ากับหมูสามชั้น แกงผักขี้หูดใส่มดแดง แกงผักขี้หูดกับแหนมใส่ไข่ หรือนำมาใช้ทำเป็นผัดผักขี้หูด เป็นต้น นอกนี้ยังรับประทานเป็นผักสดหรือลวกจิ้มกับน้ำพริก เช่น น้ำพริกกะปิ น้ำพริกอ่อง ฯลฯ[2]
  • คุณค่าทางโภชนาการของผักขี้หูดต่อ 100 กรัมจะให้พลังงาน 30 แคลอรี, ไขมัน 1 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 5.6 กรัม, โปรตีน 1.8 กรัม, ใยอาหาร 0.9 กรัม, วิตามินซี 52 มิลลิกรัม, แคลเซียม 60 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 19 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 0.6 กรัม[2] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าคุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ต่อ 100 กรัม (ของดอกและฝักอ่อน) จะให้พลังงาน 15 แคลอรี, น้ำ 96.6%, โปรตีน 3.6 กรัม, ไขมัน 0.1 กรัม, ใยอาหาร 0.6 กรัม, เถ้า 0.4 กรัม, วิตามินเอ 772 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 0.11 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.05 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 1.10 มิลลิกรัม, วิตามินซี 125 มิลลิกรัม, แคลเซียม 44 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.8 มิลลิกรัม[3]
  • หากนำผักขี้หูดไปหมักผสมกับ EM ก็จะสามารถนำมาใช้เป็นยาไล่แมลงได้[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ผักขี้หูด”.  หน้า 183.
  2. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “เรื่องผักขี้หูด”.  (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th.  [24 เม.ย. 2014].
  3. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ผักขี้หูด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [24 เม.ย. 2014].
  4. หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม 2.  “ขี้หูด”.  (รัตนา พรหมพิชัย).  หน้า 714.
  5. รายการคลินิกเกษตร ช่อง 3.

ภาพประกอบ : www.oknation.net (by aumboon), www.chawnadot.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด