ผักกาดน้ำเล็ก สรรพคุณและประโยชน์ของผักกาดน้ำเล็ก 10 ข้อ !

ผักกาดน้ำเล็ก

ผักกาดน้ำเล็ก ชื่อวิทยาศาสตร์ Plantago asiatica L. จัดอยู่ในวงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE)[1]

สมุนไพรผักกาดน้ำเล็ก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักกาดน้ำ (ไทย), เชอเฉียนเฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น[1]

ลักษณะของผักกาดน้ำเล็ก

  • ต้นผักกาดน้ำเล็ก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุได้หลายปี มีความสูงได้ประมาณ 20-50 เซนติเมตร ลำต้นอยู่ใต้ดินมีราก[1]

ต้นผักกาดน้ำเล็ก

รากผักกาดน้ำเล็ก

  • ใบผักกาดน้ำเล็ก ใบเป็นใบงอกออกมาจากราก ใบเรียงสลับ ลักษณะของใบคล้ายกับใบผักกาดน้ำไทย แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยมีขนาดกว้างประมาณ 3-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-15 เซนติเมตร ขอบใบเป็นคลื่น[1]

ใบผักกาดน้ำเล็ก

  • ดอกผักกาดน้ำเล็ก ออกดอกเป็นช่อแทงขึ้นมาจากใจกลางต้นเป็นหลายช่อ ช่อดอกยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ต้นหนึ่งมีดอกได้หลายช่อ มีกาบใบลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมห่อหุ้มอยู่ ดอกย่อยเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาล เป็น 4 กลีบ แตกเป็น 4 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน[1]

ดอกผักกาดน้ำเล็ก

  • ผลผักกาดน้ำเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย เป็นสีเขียวอมน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ดสีดำประมาณ 4-9 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 มิลลิเมตร[1]

ผลผักกาดน้ำเล็ก

เมล็ดผักกาดน้ำเล็ก

สรรพคุณของผักกาดน้ำเล็ก

  1. ทั้งต้นและเมล็ดมีรสหวาน เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ ไต ม้าม และทางเดินปัสสาวะ ใช้เป็นยาแก้ร้อนใน (ทั้งต้น, เมล็ด)[1]
  2. ใช้เป็นยาแก้ตาแดงบวมอักเสบ ทำให้ตาสว่าง (ทั้งต้น, เมล็ด)[1]
  3. ช่วยแก้อาการไอ ขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ (ทั้งต้น, เมล็ด)[1]
  1. ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล (ทั้งต้น, เมล็ด)[1]
  2. ช่วยรักษาลำไส้อักเสบ โรคบิดที่ติดเชื้อ (ทั้งต้น, เมล็ด)[1]
  3. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (ทั้งต้น, เมล็ด)[1]
  4. ตำรับยาแก้ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ จะใช้ผักกาดน้ำเล็กทั้งต้น 30 กรัม, หญ้าแซ่ม้า 30 กรัม, โหวเจี๋ยง 30 กรัม, ผู่กงเอ็ง 15 กรัม, ไหกิมซัว 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 300 ซีซี โดยต้มจนเหลือน้ำประมาณ 100 ซีซี ใช้รับประทานวันละ 6 ครั้ง (ทั้งต้น)[1]
  5. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้หนองใน บ้างใช้ใบผักกาดน้ำเล็กสด ๆ และใบกะเม็งตัวเมีย (Eclipta prostrate L.) สด ๆ อย่างละเท่ากัน หนัก 60 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำกินวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ตำรับนี้ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะเป็นเลือดได้ด้วย) (ใบ, ทั้งต้น)[1]
  6. ใช้เป็นยาแก้ไตอักเสบบวมน้ำ (ทั้งต้น, เมล็ด)[1]
  7. ใช้รักษาโรคดีซ่านเฉียบพลัน (ทั้งต้น, เมล็ด)[1]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [1] ต้นแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม ส่วนเมล็ดแห้งให้ใช้ครั้งละ 5-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา[1]

ข้อควรระวัง : ผู้ที่เป็นโรคหรือมีอาการเย็นภายใน หรือสตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานผักกาดน้ำเล็ก[1]

หมายเหตุ : ในวงศ์เดียวกันยังมีผักกาดน้ำอีกชนิดหนึ่ง คือ Plantago depressa Willd. หรือ ผิงเชอเชียนเฉ่า (จีนกลาง) ซึ่งมีลักษณะและสรรพคุณที่ใกล้เคียงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักกาดน้ำเล็ก

  • สารที่พบ ได้แก่ Aucubin, D-xylose, D-galacturonic acid, N-hentriacontane, Plantaginin, Plantenolic acid, L-arabinose, L-rhamnose, Ursolic acid เป็นต้น[1]
  • สารสกัดจากทั้งต้นและเมล็ดผักกาดน้ำเล็ก มีฤทธิ์ในการขับเสมหะในหลอดลมได้[1]
  • เมล็ดของผักกาดน้ำเล็กมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ สามารถขับ Sodium choline และ Ammonieric acid ออกจากร่างกายได้[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ผักกาดน้ำเล็ก”.  หน้า 338.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dongmin Goh, 潘立傑 LiChieh Pan, Foggy Forest, 石川 Shihchuan)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด