ผักกวางตุ้ง สรรพคุณและประโยชน์ของผักกวางตุ้ง 13 ข้อ !

ผักกวางตุ้ง

ผักกวางตุ้ง ชื่อสามัญ False pakchoi, Mock pakchoi (USA), Flowering white cabbage (UK), Pakchoi (FR)

ผักกวางตุ้ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Brassica rapa L. (Brassica pekinensis var. laxa Tsen & S.H.Lee) จัดอยู่ในวงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE)

ผักกวางตุ้ง มีชื่อเรียกอื่นว่า ผักกาดเขียวกวางตุ้ง (ทั่วไป), ผักกาดฮ่องเต้, ผักกวางตุ้งฮ่องเต้, กวางตุ้งไต้หวัน, ผักกาดสายซิม (ภาคใต้), ปากโชย (ภาษาไต้หวัน) เป็นต้น

กวางตุ้ง เป็นผักที่นิยมนำมาประกอบอาหาร ไม่ว่าจะผัดหรือต้มเป็นแกงจืด ให้รสชาติหวานกรอบ โดยเฉพาะเมนูบะหมี่หมูแดงหรือเกี๊ยวก็จะมีผักชนิดนี้แซมอยู่เสมอ โดยสามารถรับประทานได้ทั้งลำต้น ใบ และดอก ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภค แต่จะนิยมนำมาปรุงให้สุกก่อนนำมารับประทาน (ตามธรรมชาติแล้วผักกวางตุ้งจะมีเส้นใยเหนียว ๆ เคี้ยวยากสักหน่อย)

ผักกาดกวางตุ้ง จะมีสารบางชนิดเมื่อถูกความร้อนแล้วจะกลายเป็นสารตัวใหม่ ซึ่งได้แก่สารไทโอไซยาเนต (thiocyanate) เมื่อได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ความดันเลือดต่ำ ร่างกายอ่อนเพลีย แต่สารชนิดนี้จะสลายไปกับไอน้ำเมื่อเราเปิดฝาทิ้งไว้ แต่ถ้านำมารับประทานสด ๆ ก็ปลอดภัยเช่นกัน แต่จะมีกลิ่นเขียวบ้างเล็กน้อย

จุดเด่นของผักชนิดนี้จะอยู่ที่คุณค่าทางทางโภชนาการ โดยอุดมไปด้วยแคลเซียม วิตามินเอ และวิตามินซีในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งก็มีประโยชน์มาก ๆ เลยทีเดียว โดยการถนอมวิตามินในผักชนิดนี้ก็ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการใส่ไว้ในถุงพลาสติก ปิดให้แน่นแล้วนำไปแช่ไว้ในช่องเก็บผักในตู้เย็น และการนำผักกวางตุ้งไปประกอบอาหารก็ไม่ควรตั้งไฟนานจนเกินไป เพราะความร้อนจะไปทำลายวิตามินที่อยู่ในผักกวางตุ้งอย่างวิตามินซีและเบตาแคโรทีน (แต่สำหรับเบตาแคโรทีนนั้นจะทนความร้อนได้ดีกว่าวิตามินซี)

กวางตุ้ง เป็นหนึ่งในผักที่มักตรวจพบสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงอยู่บ่อย ๆ การเลือกซื้อผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผู้บริโภคควรระมัดระวังในเรื่องของการเลือกซื้อให้มาก และทำความสะอาดผักก่อนการนำมาปรุงเป็นอาหาร ไม่ว่าจะด้วยวิธีการแช่น้ำส้มสายชู แช่ในน้ำเกลือ หรือจะล้างด้วยน้ำที่ไหลจากก๊อกน้ำนานอย่างน้อย 2 นาที ก็จะช่วยลดปริมาณสารพิษที่ตกค้างในผักชนิดนี้ได้เช่นกัน

ประโยชน์ของผักกวางตุ้งผักกวางตุ้ง

ประโยชน์ของผักกวางตุ้ง

  1. ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
  2. ช่วยบำรุงและรักษาสายตา
  3. ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง
  4. ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ผักกวางตุ้งช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
  5. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  1. ช่วยป้องกันกล้ามเนื้อเสื่อม ช่วยเพิ่มความกระฉับกระเฉง
  2. ช่วยในการขับถ่าย ถ่ายสะดวก ป้องกันโรคท้องผูก
  3. เชื่อว่ามีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดตามข้อ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกล้ามเนื้อเสื่อม
  4. ช่วยแก้อาการเป็นตะคริว สำหรับใครที่เป็นตะคริวบ่อย ๆ ผักกวางตุ้งช่วยคุณได้ เพราะเป็นผักที่มีแคลเซียมสูง
  5. การรับประทานผักกวางตุ้งเป็นประจำจะไปทำให้ฟีโรโมน (Pheromone) หลั่งออกมา ซึ่งจะทำให้กลิ่นตัวหอม
  6. เป็นผักที่มีเส้นใยมากและมีไขมันน้อย ทำให้อิ่มท้อง รับประทานมากแค่ไหนก็ไม่ทำให้อ้วน
  7. นิยมนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ต้มจับฉ่าย แกงจืด ผัดผักกวางตุ้ง ฯลฯ

คุณค่าทางโภชนาการของผักกวางตุ้งดิบต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 13 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 2.2 กรัม
  • เส้นใย 1.0 กรัม
  • ไขมัน 0.2 กรัม
  • โปรตีน 1.5 กรัม
  • วิตามินเอ 243 ไมโครกรัม 30%
  • วิตามินเอ 4,468 หน่วยสากล
  • วิตามินซี 45 มิลลิกรัม 54%
  • ธาตุแคลเซียม 105 มิลลิกรัม 11%
  • ธาตุเหล็ก 0.80 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุแมกนีเซียม 19 มิลลิกรัม 5%
  • ธาตุโซเดียม 65 มิลลิกรัม 4%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), www.bedo.or.th, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด