ปวดท้องน้อย (Pelvic pain) อาการ สาเหตุ วิธีแก้ปวดหน่วงท้องน้อย 9 วิธี !

ปวดท้องน้อย

ปวดท้องน้อย ปวดอุ้งเชิงกราน หรือปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน (Pelvic pain) คือ อาการปวดที่เกิดจากการมีความผิดปกติหรือโรคของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ภายในส่วนของท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน (Pelvic cavity) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดขึ้นแบบเฉียบพลันหรือปวดแบบเรื้อรังนาน ๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ต่างกันไป โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย ๆ ของอาการปวดท้องน้อย คือ ปวดประจำเดือน, กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, ไส้ติ่งอักเสบ, ปีกมดลูกอักเสบ และการตั้งครรภ์นอกมดลูก

อาการนี้เป็นอาการที่พบได้มากในผู้หญิงและมากกว่าผู้ชายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ตั้งแต่อายุประมาณ 12 ปี (เริ่มมีประจำเดือน) ถึงอายุประมาณ 50 ปี (วัยหมดประจำเดือน) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะโครงสร้างทางร่างกายที่เอื้อต่อการเกิดความผิดปกติที่ทำให้เกิดอาการปวด อีกทั้งยังมีอวัยวะและระบบการทำงานของร่างกายที่เอื้อต่อการเกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังได้มากกว่า ซึ่งในชีวิตของผู้หญิงทุกคนจะต้องมีอาการปวดท้องน้อยหรือปวดในอุ้งเชิงกรานมาบ้างแล้ว บางทีปวดน้อย บางทีปวดมาก บางทีปวดนาน ๆ ครั้ง หรือปวดแบบเรื้อรัง

อวัยวะภายในท้องน้อย ช่องท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน (Pelvic cavity) จะประกอบไปด้วยระบบทางเดินปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ไต และท่อไตส่วนล่าง), ลำไส้เล็กส่วนล่าง, ลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง (ลำไส้ตรงทวารหนัก), ไส้ติ่ง, เนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่าง ๆ (เช่น หลอดเลือด เส้นประสาท ระบบน้ำเหลือง กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อพังผืด) และส่วนที่แตกต่างกันไปตามเพศ คือ ในผู้หญิงจะมีมดลูก ปีกมดลูก รังไข่ ท่อรังไข่ และช่องคลอด ส่วนในผู้ชาย คือ ต่อมลูกหมาก ซึ่งการที่จะหาสาเหตุของอาการปวดท้องน้อยได้บางครั้งก็เป็นเรื่องยุ่งยากในการค้นหา และสาเหตุบางอย่างก็เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะถ้าปวดจนรู้สึกว่ามีผลต่อการดำเนินชีวิตหรือมากจนสุดทนในบางคราว

สาเหตุของการปวดท้องน้อย

อาการปวดท้องน้อยเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ และแต่ละสาเหตุก็ทำให้มีอาการปวดได้แตกต่างกันไป เช่น ไส้ติ่งอักเสบ (กดเจ็บตรงท้องน้อยด้านขวา), ปีกมดลูกอักเสบ (กดเจ็บตรงท้องน้อยทั้ง 2 ข้าง หรือด้านซ้ายหรือด้านขวาเพียงข้างเดียว และมีไข้สูง), กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน (มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น และเคาะเจ็บที่สีข้าง), การอักเสบของลำไส้ใหญ่, การอักเสบของลำไส้เล็กส่วนที่อยู่ในท้องน้อย, กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อในท้องน้อยอักเสบ, การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย), นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ, นิ่วในท่อไตส่วนล่าง (ปวดตรงท้องน้อยหรือสีข้างและร้าวไปที่ช่องคลอดข้างเดียวกัน), ปวดประจำเดือน (ปวดเวลามีประจำเดือน), เลือดออกทางช่องคลอด, ปวดท้องคลอด (ปวดบิดเป็นพัก ๆ ครรภ์แก่และมีลักษณะแบบปวดท้องคลอด), รกลอกตัวก่อนกำหนด (อายุครรภ์มากกว่า 6 เดือน และมดลูกเกร็งแข็ง), ตั้งครรภ์นอกมดลูก (ประจำเดือนขาดไม่เกิน 3 เดือน และลุกนั่งจะเป็นลม), แท้งบุตร (ประจำเดือนขาด มีอาการตกเลือดทางช่องคลอด และมีเศษเนื้อหรือเศษรกออกมา), เนื้องอกรังไข่, ถุงน้ำรังไข่, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่, เนื้องอกมดลูก (มีประจำเดือนออกมาก หรือกะปริดกะปรอย หรือมีบุตรยาก), โรคมะเร็งของอวัยวะเพศหญิง (เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก), ต่อมลูกหมากอักเสบ, มะเร็งต่อมลูกหมาก, ขัดเบา, ท้องเดิน, ตกขาว หรือแม้กระทั่งภาวะทางจิตใจหรือภาวะเครียด เป็นต้น

อาการปวดท้องน้อยสามารถแยกออกได้เป็น 2-3 กลุ่ม คือ

  1. ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน (Acute pelvic pain) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อยเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย หรือมีอาการเป็นลมในบางราย สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงที่อวัยวะในช่องท้องที่เป็นสาเหตุหรืออาจเกิดจากอวัยวะที่เป็นสาเหตุได้รับความเสียหาย และมักเกิดจากสาเหตุเพียงอย่างเดียว ที่พบได้บ่อย ๆ เช่น
    • การอักเสบต่าง ๆ ได้แก่ มดลูกอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ ลำไส้อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
    • เนื้องอกรังไข่ อาจมีลักษณะเป็นเนื้องอกตันหรือถุงน้ำ (Cyst) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแบบตื้อ ๆ ถ่วง ๆ ท้องน้อย แบบเกิดขึ้นทันทีทันใด ถ้าถุงน้ำมีการรั่วจะทำให้น้ำหรือเลือดออกมาในช่องท้องหรือมีการบิดตัวที่ขั้วถุงน้ำ
    • การตั้งครรภ์นอกมดลูก คือ การตั้งครรภ์ที่ตัวอ่อนไปเกาะเจริญอยู่นอกตัวมดลูก ซึ่งมักเกิดขึ้นที่ท่อนำไข่ (หลังจากปฏิสนธิตัวอ่อน) เมื่อเจริญมากขึ้นก็ดันท่อนำไข่โป่งและแตก จะทำให้มีเลือดไหลออกมาในช่องท้อง ทำให้ปวดและมีอาการเสียเลือด ผู้ป่วยอาจมีอาการช็อกและเสียชีวิตได้
    • ถุงน้ำรังไข่แตก รั่ว หรือบิดขั้ว
    • ภาวะไข่ตกในช่วงกลางรอบเดือน
    • นิ่วในท่อไต
  2. ปวดท้องน้อยเป็นซ้ำ (Recurrent pelvic pain) เช่น
    • ปวดท้องน้อยเนื่องจากไข่ตก (Mittelschmerz) กลุ่มนี้จะเกิดจากมีการหลั่งของสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ออกมาจากถุงรังไข่ที่รั่วออกมา ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดสั้น ๆ ประมาณ 1-2 วัน ในช่วงกลาง ๆ ของรอบเดือน เมื่อรับประทานยาแก้ปวดอาการจะดีขึ้น แต่ในกรณีที่รับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการยังไม่ทุเลาหรือมีภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น เหนื่อยง่าย เป็นลม จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไป
    • ปวดประจำเดือน (Primary dysmenorrhea) ปกติแล้วถ้ามีประจำเดือนไม่ควรจะปวดหรือปวดเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าปวดมากมักจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งอาการปวดมักเกิดขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือนและอาจปวดต่อเนื่องได้ถึง 72 ชั่วโมง อาการปวดมักจะทุเลาได้โดยการใช้ยากลุ่มยับยั้งการสร้างสารโพรสตาแกลนดินหรือการใช้ยาคุมกำเนิด และอาการปวดของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะดีขึ้นหลังจากการมีบุตร
  3. ปวดท้องน้อยเรื้อรัง (Chronic pelvic pain) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาอย่างมากในการวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักมีประวัติการรักษาจากแพทย์หลายคน เนื่องจากการวินิจฉัยหาสาเหตุได้ค่อนข้างยาก อาการปวดอาจเกิดจากสาเหตุเดียวหรือเกิดจากหลาย ๆ สาเหตุร่วมกันก็ได้ โดยเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ แล้วต่อมาจะปวดตลอดเวลา หรืออาจจะปวดเป็นช่วง ๆ ไม่สม่ำเสมอ ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ และอาการปวดมักจะเป็นต่อเนื่องกันมากกว่า 3-6 เดือน (ภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรังเป็นสาเหตุในผู้ป่วยที่ตัดมดลูกทั้งหมดถึง 18%) ส่วนสาเหตุที่พบได้บ่อย ๆ ได้แก่
    • โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่ (Endometriosis) คือ การที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกที่มีหน้าที่เลี้ยงตัวอ่อนเวลาเริ่มตั้งครรภ์ หรือเมื่อหลอดเลือดออกมาพร้อมกับเลือดจากโพรงมดลูกตอนมีประจำเดือนนั้นไปเจริญขึ้นอยู่นอกโพรงมดลูก ซึ่งอาจจะขึ้นอยู่ภายในเนื้อมดลูกหรืออยู่ภายนอกมดลูกในอุ้งเชิงกราน ซึ่งโรคนี้จะทำให้มีอาการปวดประจำเดือน โดยเฉพาะในวันแรก ๆ ของประจำเดือน หรือวันก่อนมีประจำเดือนมา แล้วผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ ส่วนคนที่มีคู่แล้ว อาจมีปัญหาเจ็บในท้องน้อยเวลามีเพศสัมพันธ์หรือมีบุตรยาก ทั้งนี้เป็นเพราะการที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญขึ้นผิดที่จะทำให้มีปฏิกิริยาของร่างกายบริเวณนั้นต่อต้านเหมือนมีการอักเสบ พอนานวันเข้าก็กลายเป็นพังผืดเกิดขึ้น และการที่เลือดออกเหมือนประจำเดือนก็ทำให้เลือดขังอยู่ (โดยเฉพาะในเนื้อมดลูกและรังไข่) จนเกิดเป็นถุงน้ำ (Cyst) ขึ้น และทำให้ปวด แต่บางครั้งเลือดที่ขังอยู่ในถุงน้ำเกิดรั่วหรือแตกออกมาระคายเคืองเนื้อเยื่อช่องท้องก็อาจทำให้มีอาการปวดรุนแรงแบบฉับพลันได้ ส่วนที่ขึ้นอยู่ในเนื้อมดลูกจะทำให้ตัวมดลูกโตขึ้นและมีเลือดประจำเดือนมามากขึ้นเหมือนอาการของเนื้องอกมดลูกได้
    • พังผืดในช่องท้อง โดยเฉพาะพังผืดที่ยึดระหว่างลำไส้ใหญ่ส่วนปลายกับผนังช่องท้อง เป็นสาเหตุถึง 38% ในผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง
    • ช็อกโกแลตซีสต์
    • มดลูกและปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง
    • เส้นเลือดโป่งพองในอุ้งเชิงกราน (Pelvic congestion) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดในขณะยืน และเมื่อนอนพักอาการจะดีขึ้น
    • โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)
    • เนื้องอกมดลูก คือ กล้ามเนื้อของมดลูกกลายเป็นเนื้องอก (มีการแบ่งตัวเจริญเร็วกว่าปกติไม่หยุดนิ่ง แต่ไม่ใช่มะเร็ง เพราะไม่ลุกลามไปที่อื่น) ทำให้มดลูกที่โตขึ้นจนไปเบียดบังอวัยวะอื่น ๆ และก่อให้เกิดอาการปวดตามมา หรือเนื้อดีของมดลูกพยายามจะบีบตัวไล่ก้อนเนื้องอกตอนมีประจำเดือนเพราะคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมก็ทำให้มีอาการปวดขึ้นได้เช่นกัน
    • เนื้องอกและถุงน้ำรังไข่
    • เนื้องอกและมะเร็งลำไส้ใหญ่

อาการปวดท้องน้อย

อาการปวดจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น อาจปวดเจ็บ ปวดหน่วง หรือปวดบิดเป็นพัก ๆ ที่บริเวณท้องน้อย (ระดับใต้สะดือลงมาที่หัวหน่าว) บางทีก็ปวดร้าวไปที่อวัยวะอื่น ๆ (ซึ่งมักจะเป็นหลัง ก้นกบ ต้นขา เป็นต้น) โดยอาจปวดเป็นพัก ๆ หรือปวดตลอดเวลา และอาการปวดอาจเกี่ยวข้องกับระยะของประจำเดือน การปัสสาวะ การถ่ายอุจจาระ หลังการรับประทานอาหาร การนอนหรือการยืน ระหว่างหรือหลังจากการมีเพศสัมพันธ์

อาการปวดดังกล่าวอาจรบกวนการเคลื่อนไหว การนอน การมีเพศสัมพันธ์ การทำงาน จนทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถประกอบภารกิจได้ตามปกติจากอาการปวด หลายคนต้องลาออกจากงานเพราะเมื่อมีอาการปวดก็ไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดตามปกติ และบางครั้งก็ปวดจนสุดที่จะทนได้ อีกทั้งถ้าเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดหรือเกิดความผิดปกติทางด้านจิตใจตามมาได้ เช่น มีอาการซึมเศร้า หรืออารมณ์แปรปรวน

การวินิจฉัยอาการปวดท้องน้อย

เนื่องจากสาเหตุของอาการปวดท้องน้อยมีได้หลากหลาย เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ แพทย์อาจจะต้องใช้เวลาในการหาสาเหตุที่ถูกต้อง โดยจะเริ่มต้นจากการซักถามประวัติต่าง ๆ อย่างละเอียด ทำการตรวจร่างกาย ตรวจภายใน (อาจต้องปรึกษาแพทย์ต่างแผนกบ้างแล้วแต่ว่าจะนึกถึงโรคอื่นใดนอกเหนือจากโรคทางสตรี) และอาจมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับว่าอาการของผู้ป่วยและการตรวจของแพทย์สงสัยว่าเป็นโรคอะไร ทั้งนี้เพื่อช่วยในการวินิจฉัยและแยกโรค เช่น

  • การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ (Ultrasound) ซึ่งจะทำให้เห็นลักษณะของมดลูกและปีกมดลูกได้ดี
  • การตรวจทวารหนักและส่องตรวจลำไส้ใหญ่
  • การส่องกล้องตรวจในช่องท้อง (Diagnostic laparoscopy) เพื่อดูในอุ้งเชิงกราน ซึ่งจำเป็นต้องนำผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัดและดมยาสลบ (การเลือกใช้วิธีนี้แพทย์จะใช้ตรวจในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน)
  • การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ
  • การตรวจปัสสาวะแบบสมบูรณ์แบบ (Complete urine analysis) ในกรณีที่สงสัยว่า น่าจะมาจากระบบทางเดินปัสสาวะ
  • การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
  • การฉีดสีเพื่อดูระบบทางเดินปัสสาวะ
  • การกลืนแป้งหรือสวนแป้งเอกซเรย์เพื่อดูทางเดินอาหาร

ผู้ป่วยจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบอย่างละเอียดว่าลักษณะการปวดเป็นอย่างไร (คำถามต่าง ๆ ที่แพทย์จะถาม ผู้ป่วยควรทบทวนและลำดับเหตุการณ์ให้ดีก่อนจะตอบ เพราะจะช่วยในการวินิจฉัยได้มาก) เช่น

  • ปวดแบบแปลบ ๆ ปวดแบบบีบ ๆ ปวดแบบมวน ๆ ปวดแบบตื้อ ๆ ปวดดิ้น หรือเจ็บเหมือนมีเข็มตำ
  • ปวดตื้น ๆ หรือปวดลึก ๆ มีจุดกดเจ็บหรือไม่
  • ปวดเป็นพัก ๆ หรือปวดตลอดเวลา
  • ปวดมากน้อยเพียงใด ปวดจนเป็นลมหรือเปล่า
  • เวลาที่มีอาการปวด ระยะเวลาที่ปวด มีอาการปวดมากเวลาใด
  • ตำแหน่งที่ปวดอยู่ที่เดียวหรือเปลี่ยนตำแหน่ง
  • อาการปวดเริ่มที่บริเวณใดแล้วปวดร้าวไปที่บริเวณใดบ้างหรือไม่
  • เริ่มปวดเมื่อไหร่ ปวดมาแล้วกี่วัน ปวดมานานแล้วหรือยัง เคยปวดในลักษณะเดียวกันมาก่อนหรือไม่
  • อะไรที่ทำให้อาการปวดดีขึ้นหรือเลวลง (เช่น เมื่อนอนพักอาการปวดจะดีขึ้น แต่จะปวดในขณะที่ยืน)
  • อาการปวดสัมพันธ์กับอะไรบ้างหรือไม่ (เช่น สัมพันธ์กับการมีประจำเดือน การมีเพศสัมพันธ์ การกลั้นปัสสาวะ อาหาร การยืน การเดิน การก้าวขา หรือการนอนหรือไม่)
  • นอกจากนี้ยังรวมถึงประวัติและข้อมูลอื่น ๆ ที่จะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ เช่น การมีประจำเดือน ปริมาณประจำเดือนมากน้อยเพียงใด การมีเพศสัมพันธ์ การคุมกำเนิด การถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ การออกกำลังกาย ท่าทางการเดินการนั่งในชีวิตประจำวัน การหลับนอนกลางคืน ความเป็นอยู่และสภาพจิตใจ การมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย ประวัติการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ประวัติเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ประวัติการผ่าตัด (ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดคลอดบุตร ทำหมัน หรือผ่าตัดไส้ติ่ง) ประวัติการตั้งครรภ์ ภาวะมีบุตรยาก การตั้งครรภ์นอกมดลูก การแท้งบุตร ประวัติคนในครอบครัว (เช่น ประวัตินิ่ว ประวัติเนื้องอกหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่) การรักษาที่ผ่านมาเป็นอย่างไร (รักษาด้วยอะไร ดีขึ้นหรือไม่) เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนมากที่มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังมักจะได้รับการพบแพทย์มาก่อน ซึ่งแพทย์จะทบทวนการตรวจวินิจฉัย ผลตรวจต่าง ๆ ยาที่ได้รับในอดีตว่ามีอะไรบ้าง การผ่าตัดบริเวณหลัง ท้องน้อย เชิงกรานต่าง ๆ เพราะอาการปวดท้องน้อยอาจจะเกี่ยวข้องด้วยโรคนั้นเอง หรืออาจจะเป็นผลข้างเคียง เช่น การเกิดเนื้อเยื่อพังผืด เป็นต้น

อาการปวดท้องน้อย
IMAGE SOURCE : www.atipt.com

จะเห็นได้ว่า การวินิจฉัยเรื่องปวดท้องน้อยนั้นอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากในช่องท้องน้อยนั้นประกอบไปด้วยอวัยวะหลายอย่างดังที่กล่าวไปแล้ว (บ่อยครั้งที่แพทย์ไม่สามารถแยกโรคไส้ติ่งอักเสบออกจากถุงน้ำรังไข่ที่แตกได้ หรือไม่สามารถแยกโรคมดลูกอักเสบเฉียบพลันออกจากภาวะไส้ติ่งแตกได้ จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง) การวินิจฉัยหาสาเหตุบางครั้งจึงจำเป็นต้องมีแพทย์หลาย ๆ แผนกมาร่วมกันในการดูแลรักษา เช่น อายุรแพทย์ทางเดินอาหาร ศัลยแพทย์ทั่วไป ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ รังสีแพทย์ เป็นต้น แต่ถ้าผู้ป่วยสามารถอธิบายถึงลักษณะการปวดได้อย่างชัดเจนดังที่กล่าวมาก็จะเป็นประโยชน์ให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุได้ง่าย ถูกต้อง และรวดเร็วยิ่งขึ้น

วิธีรักษาอาการปวดท้องน้อย

เมื่อมีอาการปวดหรือเจ็บท้องน้อยโดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับความผิดปกติทางปัสสาวะ (เช่น ปัสสาวะแสบ ขัด ปัสสาวะเป็นเลือด) ทางอุจจาระ (เช่น อุจจาระเป็นเลือด) และ/หรือมีสารคัดหลั่งออกมาทางอวัยวะเพศ (เช่น หนอง ตกขาว) ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเสมอเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

  • ผู้ป่วยส่วนมากจะยังไม่ได้รับการวินิจฉัยโดยทันที ซึ่งการวินิจฉัยอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง แต่แพทย์จะระงับอาการปวดให้ก่อน ซึ่งบางครั้งอาจต้องให้ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงร่วมกับยากล่อมประสาท เพราะหลายครั้งที่อาการปวดจะถูกประทับในสมอง ทำให้มีอาการปวดเกิดขึ้นเองได้
  • สิ่งที่ผู้ป่วยจะสามารถช่วยแพทย์ได้ คือ จะต้องสังเกตให้ได้ว่ามีเหตุใดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหรือปวดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ปวดจากสาเหตุของกระเพาะปัสสาวะที่จะต้องหลีกเลี่ยงอาหารหลายชนิดที่ทำให้ปัสสาวะมีความเป็นกรดมาก จำพวกเนย อาหารรสจัด สารปรุงรส
  • ข้อสำคัญอีกเรื่อง คือ ผู้ป่วยไม่ควรเปลี่ยนแพทย์ผู้ให้การรักษาเร็วเกินไป เพราะมีหลายโรคที่ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการวินิจฉัย หรือไม่สามารถรักษาให้หายได้ในเร็ววัน และโรคบางชนิดก็ไม่มียารักษาที่เฉพาะ และผู้ป่วยหลายรายอาจต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังที่ยังไม่ได้พบแพทย์เฉพาะด้าน หรืออาจจะหมดหวังกับการรักษา ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาต่อไป

เมื่อแพทย์วินิจฉัยอาการปวดท้องน้อยจนทราบสาเหตุที่แน่ชัดแล้วว่าเกิดจากโรคอะไร แพทย์จะให้การรักษาไปตามสาเหตุโดยคำนึงถึงอายุและประวัติการมีบุตรร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยให้อาการปวดหายไปหรือดีขึ้นหรือไม่เลวลง คือ

  • การใช้ยารักษา เช่น ยาปฏิชีวนะ (ถ้าอาการปวดเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ เช่น มดลูกอักเสบ), ยาลดการอักเสบ (ถ้ามีการอักเสบที่ไม่ติดเชื้อ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่), ยาฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด (เพื่อลดอาการปวดประจำเดือน) เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้วการให้ยาในโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่ หรือเนื้องอกมดลูก มักจะเป็นการรักษาแบบชั่วคราว เมื่อหยุดยาอาการปวดท้องน้อยก็จะเกิดขึ้นอีก
  • การผ่าตัด เพราะโรคบางอย่างต้องรักษาโดยการผ่าตัด เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่ในอุ้งเชิงกราน หรือในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยพบจากการส่องกล้องผ่านช่องท้องนั้น ในปัจจุบันแพทย์มักจะให้การรักษาโดยการผ่าตัดผ่านกล้องไปพร้อมกันในคราวเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเลาะพังผืด การเลาะถุงน้ำรังไข่ รวมไปถึงการผ่าตัดมดลูกและปีกมดลูก
  • การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การให้ยาคลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ การฉีดยาชาเฉพาะที่ การให้กายภาพบำบัด การสอนให้มีการออกกำลังกาย การฝึกท่าทางการเดินการนั่ง ฯลฯ

เจ็บท้องน้อย
IMAGE SOURCE : newbridgespine.com

สรุป อาการปวดท้องน้อยมีทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง ส่วนใหญ่เกิดจากอวัยวะสืบพันธุ์ แต่ก็อาจเกิดจากอวัยวะใกล้เคียงอื่น ๆ ได้ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะเป็นการรักษาโดยใช้ยา การผ่าตัด หรือแพทย์ทางเลือก แล้วแต่สถานการณ์และสาเหตุซึ่งแพทย์ผู้ที่มีความชำนาญจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำกับผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “ปวดท้องน้อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 155-157.
  2. ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ปวดท้องน้อย เรื่องอันตรายทั้งชายและหญิง”.  (ศ.นพ.วชิร คชการ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : med.mahidol.ac.th.  [13 ก.พ. 2017].
  3. โรงพยาบาลวิภาวดี แผนกสูติ-นรีเวช.  “ปวดท้องน้อยในสตรี…อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม (Pelvic Pain)”.  (นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.vibhavadi.com.  [13 ก.พ. 2017].
  4. ศูนย์ผ่าตัดผ่ากล้อง.  “ปวดท้องน้อยสตรี (Pelvic Pain)”.  (นพ.วิจิตร ตั้งสินมั่นคง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : misnetworkthailand.com.  [13 ก.พ. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด