บานไม่รู้โรย สรรพคุณและประโยชน์ของบานไม่รู้โรยดอกขาว 26 ข้อ !

บานไม่รู้โรยดอกขาว

บานไม่รู้โรย ชื่อสามัญ Bachelor’s button, Button agaga, Everlasting, Gomphrena, Globe amaranth, Pearly everlasting

บานไม่รู้โรย ชื่อวิทยาศาสตร์ Gomphrena globosa L. จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)[1],[4],[7],[8]

บานไม่รู้โรยดอกขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สามปีบ่เหี่ยว (ขอนแก่น), กะล่อม ตะล่อม (ภาคเหนือ), ดอกสามเดือน สามเดือนดอกขาว กุนนีดอกขาว กุนหยินขาว กุนหยี (ภาคใต้), โขยหยิกแป๊ะ (จีน) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของบานไม่รู้โรย

  • ต้นบานไม่รู้โรย เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้[9] บ้างก็ว่ามีถิ่นกำเนิดในเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกา[7] โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุประมาณ 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านบริเวณยอดต้น กิ่งก้านเป็นเหลี่ยมและมีร่อง ลำต้นอ่อนมีขนสีขาวปกคลุม ตามข้อต้นพองออกเล็กน้อย ข้อต้นเป็นสีแดง แต่บางต้นข้อต้นก็เป็นสีเขียว นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แม้เมล็ดที่ร่วงหล่นลงใต้ต้นก็ยังสามารถนำไปปลูกเป็นต้นใหม่ได้โดยไม่ต้องเพาะ โดยให้ปลูกไว้กลางแจ้งที่ได้รับแสงแดดแบบเต็มที่ และสามารถปลูกในดินชนิดใดก็ได้ แต่ควรเติมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยผสมลงไปในดินก่อนปลูก ส่วนการรดน้ำก็ให้รดตามความจำเป็น เพราะพรรณไม้ชนิดนี้จะทนแล้งได้ดีกว่าแฉะ จึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวันจนน้ำท่วมขัง เพราะจะทำให้ต้นเน่าตายได้[1],[2],[3],[7] โดยสายพันธุ์ที่นิยมใช้ปลูกมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ Tall Mixture (เป็นพันธุ์ต้นสูง มีความสูงของพุ่มประมาณ 18 นิ้ว มีทั้งสีขาวและสีแดงอมม่วง) และพันธุ์ Buddy (พุ่มสูงเพียง 9 นิ้ว ดอกเป็นสีแดงอมม่วง เหมาะที่จะนำมาปลูกเป็นกลุ่มก้อนเพื่อประดับอาคารหรือปลูกเป็นพืชคลุมดิน)[7]

ต้นบานไม่รู้โรยดอกขาว

  • ใบบานไม่รู้โรย ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบมีขนสีขาว เนื้อใบมีลักษณะนิ่ม ก้านใบสั้น ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีขนสีขาว[1],[3]

ใบบานไม่รู้โรย

  • ดอกบานไม่รู้โรย ออกดอกเป็นกระจุกทรงกลมบริเวณปลายกิ่ง มีดอกย่อยอัดกันแน่น แต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 2-3 ดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกลมขนาดเท่าผลพุทรา ดอกเป็นสีขาว สีแดงแก่ สีม่วง หรือสีชมพูอ่อน (แต่จะใช้ดอกขาวมาเป็นยา เพราะสีขาวเป็นสีที่บริสุทธิ์ เมื่อนำมาทำยาแล้วจะไม่มีสีอะไรมาเจือปน) มีลักษณะแข็ง กลีบดอกมีขนาดเล็กเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ทั้งดอก ปลายกลีบแหลมคล้ายขนแข็ง ๆ และมีใบประดับหรือกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว มีอยู่ด้วยกัน 2 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร อีกทั้งกลีบดอกยังไม่หลุดร่วงได้ง่าย แม้ว่าดอกจะแก่หรือแห้งแล้วก็ตาม จึงเป็นที่มาของชื่อ “บานไม่รู้โรย[1],[2],[8]

ดอกบานไม่รู้โรยสีขาว

  • ผลบานไม่รู้โรย ผลเป็นผลแห้ง เป็นกระเปาะ ลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีขนาดประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดมีลักษณะแบนหรือเป็นรูปไข่[1],[8]

สรรพคุณของบานไม่รู้โรย

  1. ทั้งต้นและรากมีรสเย็นขื่น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กษัย (ทั้งต้นและราก)[1],[2]
  2. ดอกและต้นมีรสหวาน ขื่น ชุ่ม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ใช้เป็นยาแก้ตับร้อนหรือธาตุไฟเข้าตับ ช่วยแก้ตาเจ็บ ตามัว อันเนื่องจากธาตุไฟเข้าตับ (ต้น, ดอก)[3]
  3. ใช้แก้เด็กตัวร้อนตาเจ็บ ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 10-14 ดอกนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ผสมกับฟักเชื่อมแห้ง นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยา (ดอก)[4]
  4. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้ลมขึ้นศีรษะ ทำให้เวียนศีรษะ ด้วยการใช้ดอก 10 กรัมและหญ้าแซ่ม้า 20 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)[3],[4]
  5. ใช้แก้เด็กเป็นโรคลมชัก ด้วยการใช้ดอก 10 ดอกผสมกับตั๊กแตนแห้ง 7 ตัว (Oxya chinensis thumb.) นำมาตุ๋นเป็นยารับประทาน (ดอก)[4]
  6. ช่วยแก้อาการไอ (ทั้งต้นและราก[2], ดอก[4]) แก้อาการไอเป็นเลือด เลือดออกตามทวารทั้งเก้า (ดอกและต้น, ทั้งห้าส่วน)[3],[9] แก้ไอกรน (ดอก)[4]
  7. ใช้แก้หืดหอบ ไอหืด ไอหอบ หลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 10-15 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ดอก 10 ดอกนำมาต้มผสมกับเหล้าเล็กน้อย ใช้ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือให้ใช้สารที่สกัดได้จากดอกทำเป็นยาฉีด โดยใช้ครั้งละ 0.3 ซีซี ถ้าหากมีเสมหะมากให้เพิ่มปริมาณได้อีกตามที่แพทย์สั่ง (ดอก)[3],[4]
  8. ช่วยขับเสมหะ (ดอก)[3]
  9. ช่วยรักษาโรควัณโรคในปอด (ดอก)[3]
  10. ช่วยรักษาโรคบิด (ทั้งต้นและราก, ดอก)[2],[3],[4] ช่วยแก้บิดมูก ให้ใช้ดอก 10 ดอกนำมาต้มกับน้ำผสมกับเหล้าเล็กน้อย ใช้ดื่มเป็นยา (ดอก)[4]
  1. ทั้งต้นและรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ ขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ (ทั้งต้นและราก, ดอก)[1],[2],[3],[4]
  2. ช่วยแก้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ด้วยการใช้ดอก 10 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทานบ่อย ๆ (ดอก)[3],[4]
  3. ทั้งต้นและรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กามโรค แก้หนองใน (ทั้งต้นและราก)[1],[2],[3]
  4. ทั้งต้นและรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้มุตกิดหรือตกขาว ช่วยขับระดูขาวของสตรี ช่วยขับระดูขาวให้แห้ง (ทั้งต้นและราก)[1],[2],[3]
  5. ดอกใช้เป็นยาบำรุงตับ (ดอก)[4]
  6. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษต่าง ๆ (ราก)[4]
  7. ดอกใช้เป็นยารักษาแผลผื่นคัน ใช้รักษาฝีประคำร้อย (ดอก)[4]
  8. ใช้ต้นสด กะปริมาณตามความเหมาะสม ใช้ภายนอกนำมาตำพอกเป็นยาแก้ฝีหนอง (ต้น)[3]
  9. ตำรับยารักษามะเร็ง ระบุให้ใช้บานไม่รู้โรยดอกขาวทั้งห้าส่วนจำนวน 4 บาท, ขมิ้นอ้อย 4 บาท, ข้าวเย็นเหนือ 4 บาท, ข้าวเย็นใต้ 4 บาท, ชุมเห็ดเทศทั้งห้า 4 บาท, ทองพันชั่งทั้งห้าส่วน 4 บาท, ยาดำ 5 บาท และฟ้าทะลายโจร 20 บาท นำมาต้มรับประทานหลังอาหารวันละ 1 ครั้ง (ทั้งห้าส่วน)[11]
  10. ตำรับยารักษามะเร็งมดลูกและมุตกิดระดูเสียของสตรีระบุว่าให้ใช้บานไม่รู้โรยดอกขาว บานไม่รู้โรยดอกแดง แก่นฝาง รากมะละกอ รากเข็มแดง เถาอีปล้อง เถามวก หญ้าไซ อย่างละ 3 บาท และสารส้มอีก 2 สลึง นำมาต้มกินเป็นยาก่อนอาหารเช้าและเย็นครั้งละ 1 ถ้วย หรืออีกตำรับยารักษามะเร็งมดลูกระบุว่าให้ใช้บานไม่รู้โรยดอกขาวและบานไม่รู้โรยดอกแดง กระดูกกูรำ ก้องแกลบ ขันทองพยาบาท งวงตาล เถาวัลย์เปรียง รากกล้วยตีบ รากกำจาย รากผักหนาม รากหนอนตายอยาก สารส้ม ดินประสิว อย่างละ 1 บาท และข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ อย่างละ 10 บาท นำมาต้มกินเป็นยาเช้าและเย็น ครั้งละ 1 ถ้วยชา (ดอก)[11]
  11. ตำรับยากระทุ้งไข้แก้เหือดหัดในเด็กระบุว่าให้ใช้ต้นบานไม่รู้โรยดอกขาว ผลประคำดีควาย เปลือกทองหลางใบมน รากก้างเปลา รากฟักเขียว รากไมยราบ ย่านาง หัวคล้า หัวปรง และหัวว่าวใหญ่ อย่างละเท่ากัน นำมาต้มกินเป็นยาเช้าเย็น จะช่วยกระทุ้งพิษ ดับพิษห้ามกำเริบ แล้วจึงค่อยกินยาแก้ไข้ต่อไป (ต้น)[12]
  12. ตำรับยาแก้มดลูกเคลื่อนหรือกะบังลมเคลื่อนระบุว่าให้ใช้รากและต้นของบานไม่รู้โรย โคกกระสุน โคกกระออม รากพุมเรียง รากมะดัน รากขนุนละมุด และใบหนาด หนังอย่างละ 4 บาท นำทั้งหมดมาใส่ในหม้อต้ม ต้มกินเป็นยาก่อนอาหารเช้าและเย็น ครั้งละ 1 ถ้วยชา โดยให้กินติดต่อกัน 15 วัน มดลูกหรือกะบังลมจะหดกลับเข้าสู่ที่ตั้งตามธรรมชาติ (รากและต้น)[12]

วิธีใช้สมุนไพรบานไม่รู้โรย

  • การนำดอกมาใช้เป็นยาให้เลือกดอกแก่แล้วนำไปตากให้แห้งและเอาก้านดอกออก เก็บดอกไว้ใช้เป็นยา[4]
  • หรือจะนำดอกมาล้างให้สะอาด นำไปตากให้แห้งแล้วนำมาคั่วหรืออบให้แห้ง เก็บไว้ในขวดให้มิดชิดและปิดฝาให้แน่น[5]
  • สำหรับวิธีการใช้ ให้นำดอกประมาณ 1-2 ดอกมาใส่ในแก้วน้ำ แล้วเทน้ำร้อนที่เดือดแล้วลงไป ทิ้งไว้ให้ตัวยาละลายออกมาประมาณ 15-20 นาทีแล้วค่อยดื่ม หรือจะใช้วิธีการต้มเดือดก็ได้ จะช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้ตาเจ็บ แก้อาการไอ ช่วยระงับหอบหืด บำรุงตับ แก้บิด แผลผื่นคัน และฝีประคำร้อยได้[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของบานไม่รู้โรย

  • ดอกบานไม่รู้โรยพบว่ามีสาร Gomphrenin I, II, III, V, VI, Amaranthin, Isoamaranthin และในเมล็ดยังพบน้ำมันอีกด้วย[3]

บานไม่รู้โรยดอกสีขาว

ประโยชน์ของบานไม่รู้โรย

  • นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ชาวเกาะมอลัคคัสในหมู่เกาะชวายังใช้บานไม่รู้โรยมารับประทานเป็นอาหารจำพวกผักชนิดหนึ่งอีกด้วย[2]
  • ดอกสามารถนำมาใช้ทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ ทำบุหงา ร้อยพวงมาลัย ร้อยอุบะ ใช้จัดเป็นพานพุ่ม ทำเป็นดอกไม้แห้งเพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรม ทำเป็นสินค้าส่งออกได้ หรือนำมาใช้ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ สามารถใช้ได้กระทั่งงานมงคลจนกระทั่งงานศพ[6],[7]
  • พรรณไม้ชนิดนี้เป็นที่นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับกันทั่วไป เนื่องจากสีสันของดอกมีความสวยงาม ปลูกเลี้ยงได้ง่าย และสามารถตัดแต่งเป็นทรงพุ่มได้ โดยนิยมนำมาปลูกประดับตามบ้าน ตามสวน ริมทางเดิน ริมถนน หรือใช้ปลูกตามริมทะเล[2],[4],[7],[8]
  • บานไม่รู้โรยเป็นไม้มงคลนาม มีความเชื่อว่าหากนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้านจะช่วยเสริมดวงในเรื่องของความรักความผูกพันของคู่สามีภรรยา ทำให้มีความรักที่มั่นคงและยั่งยืน ปราศจากความโรยราและไม่ผันแปรตลอดไป[10]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “บานไม่รู้โรย (Ban Mai Ru Roy)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 164.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “บานไม่รู้โรยดอกขาว”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 425-426.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “บานไม่รู้โรยดอกขาว”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 306.
  4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “บานไม่รู้โรยดอกขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [02 เม.ย. 2014].
  5. กรุงเทพธุรกิจ.  “สีสมุนไพร…บำบัดอารมณ์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bangkokbiznews.com. [02 เม.ย. 2014].
  6. กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  “บานไม่รู้โรย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th. [02 เม.ย. 2014].
  7. การผลิตไม้กระถางและไม้ตัดดอก (PRODUCTION OF POT-PLANTS AND CUT-FLOWERS), ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “บานไม่รู้โรย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th/Department/PlantScience/510-111web/510-482web/index.htm. [02 เม.ย. 2014].
  8. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “บานไม่รู้โรย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [02 เม.ย. 2014].
  9. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 288 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  “บานไม่รู้โรย : ความงามที่ยั่งยืนฝืนกาลเวลา”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [02 เม.ย. 2014].
  10. สำนักแชลั้ง.  “ต้นไม้มงคล ภาค1”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.sumnakcharang.com. [02 เม.ย. 2014].
  11. ตำรับยาไทยแผนโบราณ สำหรับโรคเรื้อรัง โดย หมอเมือง สันยาสี.
  12. หนังสือเพชรน้ำเอก กรุยอดตำรับยาสมุนไพร.  (พฤฒาจารย์ วิพุธโยคะ รัตนรังษี และคณะ).

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by cpmkutty, Nobuhiro Suhara) www.personal.psu.edu, www.wellgrowhorti.com, davesgarden.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด