บัวสาย สรรพคุณและประโยชน์ของบัวสาย 18 ข้อ ! (บัวขม)

บัวสาย

บัวสาย ชื่อสามัญ Lotus stem, Water lily, Red indian water lily

บัวสาย ชื่อวิทยาศาสตร์ Nymphaea pubescens Willd.[4],[7] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Nymphaea lotus var. pubescens (Willd.) Hook. f. & Thomson)[1],[3],[5],[8] จัดอยู่ในวงศ์บัวสาย (NYMPHAEACEAE)[1],[2]

สมุนไพรบัวสาย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บัวสายกิน, บัวกินสาย, สายบัว, บัวขม, บัวขี้แพะ, บัวแดง, บัวสายสีชมพู, บัวจงกลนี, จงกลนี, สัตตบรรณ, สัตตบุษย์, ปริก, ป้าน, ป้านแดง, รัตอุบล, เศวตอุบล[1],[2],[4],[5] และยังมีชื่อเรียกต่างกันไปตามสีของดอก โดยดอกสีชมพูจะเรียก ลินจง หากเป็นดอกสีขาวจะเรียก กมุท กุมุท โกมุท เศวตอุบล และถ้าดอกเป็นสีม่วงแดงจะเรียกว่า สัตตบรรณ รัตนอุบล[4]

ลักษณะของบัวสาย

  • ต้นบัวสาย บัวสายนั้นมีถิ่นกำเนิดในเขตที่ราบลุ่มของทวีปเอเชีย ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยด้วย จึงเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยมาเนิ่นนานแล้ว[3] จัดเป็นพืชน้ำอายุหลายปี เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของไทย มีเหง้าอยู่ใต้ดินรากฝักอยู่ในโคลนเลน ก้านอยู่ใต้น้ำ ส่วนก้านดอกอ่อนมีเปลือกลอกออกได้เป็นสายใย ผิวเกลี้ยงและไม่มีหนาม เจริญเติบโตได้ในดินเหนียวที่มีอินทรียวัตถุสูง และเจริญเติบโตได้ดีในระดับน้ำลึกประมาณ 0.3-1 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เหง้าและเมล็ด[1],[4]

ต้นบัวสาย

ดอกบัวขม

  • ใบบัวสาย ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบมีลักษณะกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 25-30 เซนติเมตร ขอบใบหยักและแหลม ฐานหยักเว้าลึก หูใบเปิด ผิวใบอ่อนวางอยู่บนผิวน้ำ แผ่นใบด้านบนเรียบเป็นมัน มีสีเขียวเหลือบน้ำตาลอ่อนหรือสีแดงเลือดหมู ผิวใบด้านล่างของใบอ่อนเป็นสีม่วง ใบเมื่อแก่จะเป็นสีเขียว ผิวใบด้านล่างของใบแก่เป็นสีน้ำตาลมีขนนุ่ม ๆ เส้นใบใหญ่นูน ส่วนก้านใบมีสีน้ำตาลอมเขียวอ่อน มีลักษณะค่อนข้างเปราะ ข้างในก้านใบเป็นรูอากาศ[1],[4]

ใบบัวสาย

  • ดอกบัวสาย มีอยู่ด้วยกันหลายสีแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด เช่น ชนิดดอกสีชมพู ดอกขาว ดอกแดง ดอกม่วงแดง ดอกเหลือง ดอกเขียว ดอกคราม ดอกน้ำเงิน ฯลฯ[3],[4] ดอกมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ เป็นสีเขียวเหลือบน้ำตาลแดง ส่วนดอกมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลมถึงค่อนข้างกลม ดอกมีกลีบดอกจำนวนมากเรียงซ้อนกันอยู่หลายชั้น (19 กลีบ) ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปหอกหลับ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีความกว้างประมาณ 15-20 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลืองเป็นสีตามกลีบดอก มีจำนวนมาก (60 อัน) มีลักษณะเป็นแผ่นแบนและแต่ละเกสรมีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ส่วนอับเรณูเป็นร่องขนานตามยาว รังไข่มีขนาดใหญ่ติดกับชั้นของกลีบดอก ส่วนเกสรตัวเมียจะติดกับรังไข่ด้านบนตามแนวรัศมี และก้านดอกมีสีน้ำตาลอวบกลมส่งดอกลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ (สายบัว) โดยดอกบัวสายจะบานในช่วงเวลาใกล้ค่ำถึงตอนสายของวันรุ่งขึ้นและจะหุบในเวลากลางวัน[4],[8]

ดอกบัวสาย

รูปดอกบัวสาย

บัวขม

สมุนไพรบัวขม

  • ผลบัวสาย ผลสดเรียกว่า “โตนด” มีเนื้อและเมล็ดลักษณะกลมจำนวนมาก เมล็ดมีขนาดเล็กสีดำอยู่ในเนื้อหุ้ม มีลักษณะเป็นวุ้นใส ๆ[1],[4]

ดอกมีองค์ประกอบทางเคมี ประกอบไปด้วย 1,2,3,4,6-Pentagalloylglucose, myricetin-3-O-rhamnoside (myricitrin), myricetin-30-O-(600-p-coumaroyl) glucoside, nympholide A, nympholide B[8]

สรรพคุณของบัวสาย

  1. ช่วยบำรุงร่างกาย (หัว)[2]
  2. ช่วยบำรุงกำลัง (ดอก, เมล็ด)[2],[5]
  3. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (หัว[2], เมล็ด[5])
  4. ช่วยบำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่น (ดอก, หัว)[2],[5]
  5. ในประเทศฟิลิปปินส์มีการใช้รักษาโกโนเรีย แต่ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้ไว้ ด้วยการนำมาถูที่หน้าจะช่วยทำให้ง่วงนอน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  6. ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง (สายบัว)[7]
  7. ดอกช่วยแก้ไข้ตัวร้อน (ดอก)[2]
  8. ช่วยแก้อาการร้อนใน (ดอก)[5]
  9. ก้านบัวสายมีรสจืดและเย็น ช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกาย (ก้านบัว)[1],[2]
  10. สายบัวมีเบตาแคโรทีน ซึ่งช่วยป้องกันและต้านโรคมะเร็งในลำไส้ (สายบัว)[7]
  11. ช่วยบำรุงครรภ์ของสตรี (ดอก, หัว[2], เมล็ด[5])
  12. บัวขม จัดอยู่ใน “ตำรับยาพิกัดบัวพิเศษ” อันประกอบไปด้วยบัวขม บัวเผื่อน บัวหลวงขาว บัวหลวงแดง บัวสัตตบงกชขาว และบัวสัตตบงกชแดง ซึ่งเป็นตำรับยาที่ช่วยแก้ไข้อันเกิดเพื่อธาตุทั้งสี่ แก้ไข้ตัวร้อน แก้เสมหะ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้ลม และโลหิต ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่น (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  13. ดอกบัวขมจัดอยู่ใน “ตำรับยาหอมเทพจิตร” โดยมีดอกบัวขมและสมุนไพรอื่น ๆ อีกหลายชนิดในตำรับ ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ลมกองละเอียด (อาการหน้ามืดตาลาย สวิงสวาย) แก้อาการใจสั่น และช่วยบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น (ช่วยผ่อนคลายความเครียด ทำให้อารมณ์แจ่มใส สบายใจ หรือสุขใจ) (ดอก)[8]

หมายเหตุ : สำหรับวิธีการใช้หัว ให้ใช้หัวบัวสายประมาณ 30 กรัม ใส่น้ำ 1 ลิตร ต้มนานประมาณ 15 นาที แล้วนำมาดื่มก่อนอาหารครั้งละครึ่งถ้วยกาแฟวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น[2]

ประโยชน์ของบัวสาย

  1. ก้านดอกและไหลใช้รับประทานได้ โดยนำก้านดอกหรือใบมาลอกผิวหรือเปลือกที่หุ้มอยู่ออกแล้วเด็ดดอกและใบทิ้ง แล้วนำมาใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงเป็นอาหาร เช่น การทำแกง ผัด แกงส้ม แกงกะทิ ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ทำขนมได้อีกด้วย[1],[3],[5]
  2. บัวสายสามารถใช้วัดความลึกของระดับน้ำบริเวณนั้นได้ เนื่องจากความยาวของก้านใบและก้านดอกจะมีเท่ากับความลึกของแหล่งน้ำ[3]
  3. เด็ก ๆ ในชนบทมักชอบเด็ดสายบัวเป็นท่อนสั้น ๆ ที่มีใยบัวติดกันอยู่ ใช้เป็นสร้อยคอหรือสร้อยข้อมือได้[3]
  4. ก้านดอกของบัวสายสามารถนำมาสกัดย้อมสีเส้นไหมได้ โดยจะให้สีเทา[6]
  5. นอกจากจะใช้รับประทานเป็นผักแล้ว บัวสายยังใช้ปลูกเป็นไม้ประดับสระน้ำได้เป็นอย่างดี เนื่องจากบัวสายมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด มีขนาดและสีของดอกที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังมีราคาไม่แพงและดูแลรักษาง่าย[4]

คุณค่าทางโภชนาการของบัวสาย ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 6 แคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 1.1 กรัมสายบัว
  • โปรตีน 0.2 กรัม
  • ไขมัน 0.1 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 0.4 กรัม
  • น้ำ 97.6 กรัม
  • วิตามินเอ 45 หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.02 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 0.4 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 15 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 0 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.2 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 3 มิลลิกรัม

แหล่งที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม.[1]

เอกสารอ้างอิง
  1. ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “บัวสาย“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable.  [3 ธ.ค. 2013].
  2. รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตรประจำวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2546.  “บัวสายและบัวหลวง“.  (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th.  [3 ธ.ค. 2013].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 195 คอลัมน์: ประสบการณ์รอบทิศ.  “บัวสาย สัญลักษณ์แห่งเยื่อใยและความลึก“.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [3 ธ.ค. 2013].
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “บัวสาย“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [3 ธ.ค. 2013].
  5. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์.  “บัวจงกลนี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.uru.ac.th.  [3 ธ.ค. 2013].
  6. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม.  “บัวสาย“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th.  [3 ธ.ค. 2013].
  7. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “บัวสาย“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [3 ธ.ค. 2013].
  8. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “บัวขม“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [3 ธ.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vietnam Plants & The USA. plants, Shubhada Nikharge,  Deva_, Bengal partha, Images of Wildlife, Ramon Marcelino), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), เว็บไซต์ pineapple-eyes.snru.ac.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด