นางแย้ม สรรพคุณและประโยชน์ของนางแย้ม 20 ข้อ !

นางแย้ม

นางแย้ม ภาษาอังกฤษ Glory bower, Rose clerodendrum, Burma conehead, Lady nugent’s rose

นางแย้ม ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodendrum chinense (Osbeck) Mabb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendrum fragrans (Vent.) R.Br., Clerodendrum fragrans Willd., Clerodendrum philippinum Schauer) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)

สมุนไพรนางแย้ม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปิ้งสมุทร (เชียงใหม่), ป้องช้อน ปิ้งชะมด (ภาคเหนือ), ส้วนใหญ่ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ปิ้งหอม กะอุมเปอ เป็นต้น

ลักษณะของนางแย้ม

  • ต้นนางแย้ม เป็นไม้พุ่มลำต้นเตี้ย ลำต้นค่อนข้างตรง มีขนปกคลุมเล็กน้อย เนื้อไม้อ่อน มีความสูงประมาณ 1.-1.5 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการขุดต้นอ่อนที่เกิดจากรากที่อยู่ใกล้ผิวดิน (เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด) หรือใช้วิธีการตอนกิ่งและการปักชำกิ่ง สามารถพบได้มากตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณ หรือที่ร่มรำไรที่มีความชื้นสูงและมีดินร่วนซุย นักวิชาการเชื่อว่าต้นนางแย้มนั้นมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ที่เกาะชวาและเกาะสุมาตรา ส่วนนางแย้มที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยนั้นคือต้น “นางแย้มป่า” (Clerodendrum infortunatum L.)

ต้นนางแย้ม

  • ใบนางแย้ม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบคล้ายใบโพธิ์ หรือรูปไข่กว้างคล้ายรูปหัวใจ ใบกว้างประมาณ 8-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-17 เซนติเมตร ผิวใบมีขนละเอียดปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน ผิวใบสากระคายมือ ตรงปลายแหลมแต่ไม่มีติ่ง ขอบใบหยัก รอบใบเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ เมื่อเด็ดใบแล้วนำมาขยี้จะมีกลิ่นเฉพาะ

ใบนางแย้ม

  • ดอกนางแย้ม ออกดอกเป็นช่อตามยอดและปลายกิ่ง ดอกจะเบียดเสียดติดกันแน่นในช่อ หนึ่งช่อดอกจะกว้างประมาณ 10-12 เซนติเมตร ดอกย่อยมีลักษณะคล้ายดอกมะลิซ้อน คือมีดอกเป็นพวงเล็ก ๆ หลาย ๆ ดอกเรียงรายซ้อนกันอยู่ แต่ละดอกเมื่อบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีขาว เมื่อบานแล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนสีเป็นสีชมพู สีม่วงแดงสลับขาว ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงสีม่วงแดงเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายแยกเป็น 5-6 แฉก กลีบเลี้ยงมีสีม่วงแดง ดอกย่อยจะบานไม่พร้อมกัน ดอกด้านบนจะบานก่อนดอกด้านล่าง แต่ถ้าบานจะบานอยู่นานหลายวัน ดอกมีเกสรตัวผู้ 4 ก้าน ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 ก้าน เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 4 ก้าน ดอกนางแย้มมีกลิ่นหอมมากทั้งในเวลาวันและกลางคืน และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี

ดอกนางแย้ม

สรรพคุณของนางแย้ม

  1. รากช่วยบำรุงประสาท (ราก)
  2. นางแย้มมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ (ราก)
  3. ช่วยลดความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้รากและใบแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, ใบ)
  4. ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้รากและใบแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, ใบ)
  5. ช่วยรักษาลำไส้อักเสบ (ราก)
  1. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ดากโผล่ ด้วยการใช้รากแห้งจำนวนพอสมควรต้มกับน้ำแล้วนั่งแช่ในน้ำที่ต้มชั่วครู่ (ราก)
  2. ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขุ่นเหลืองแดง โดยใช้รากต้มกับน้ำรับประทาน (ราก, ทั้งต้น)
  3. ช่วยขับระดูขาวของสตรี ด้วยการใช้รากและใบแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, ใบ)
  4. ช่วยแก้ไตพิการ โดยใช้รากต้มกับน้ำรับประทาน (ราก, ทั้งต้น)
  5. ช่วยแก้ฝีภายใน โดยใช้รากต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
  6. ต้นนางแย้มมีสรรพคุณช่วยแก้พิษฝี (ทั้งต้น)
  7. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคัน ด้วยการใช้ใบสดจำนวนพอสมควรต้มกับน้ำ ใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น (ใบ)
  8. รากใช้ฝนกับน้ำปูนใสใช้ทารักษาเริมและงูสวัด (ราก)
  9. ช่วยแก้อาการเหน็บชา ปวดขา ด้วยการใช้รากประมาณ 15-30 กรัม ใช้ตุ๋นกับไก่ รับประทานติดต่อกัน 2-3 วัน (ราก)
  10. ช่วยแก้เหน็บชาที่มีอาการช้ำบวม ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)
  11. ช่วยแก้อาการปวดข้อและปวดเอว ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, ทั้งต้น)
  12. ใบใช้ประคบช่วยรักษาไขข้ออักเสบได้ (ใบ)
  13. ช่วยแก้อาการกระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง (ราก, ทั้งต้น)

ข้อควรรู้ ! : สำหรับบางราย ใบของนางแย้มอาจจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้

ประโยชน์ของนางแย้ม

  • ประโยชน์นางแย้ม นิยมปลูกไว้เป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม อีกทั้งดอกยังมีกลิ่นหอมทั้งกลางวันและกลางคืน และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
  • ชาวไทยสมัยก่อนนิยมนำดอกนางแย้มไปใช้เป็นเครื่องบูชาพระ

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.), รายการสาระความรู้ทางการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, มูลนิธิหมอชาวบ้าน (เดชา ศิริภัทร)

ภาพประกอบ : เว็บไซต์ wattano.ac.th, www.bloggang.com, เว็บไซต์ toptropicals.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด