12 ประโยชน์ของแคลเซียม (Calcium) จากงานวิจัย !

แคลเซียม (Calcium) กับประโยชน์ทางการแพทย์

แคลเซียม

แคลเซียม (Calcium) คือ แร่ธาตุที่มีมากที่สุดในร่างกายและเป็นที่รู้จักกันดีว่าทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกในร่างกายมนุษย์ โดยในร่างกายมนุษย์จะมีแคลเซียมมากถึง 1-2 กิโลกรัม ซึ่ง 99% จะอยู่ในเนื้อเยื่อกระดูก (โครงกระดูกและฟัน) และร่างกายจะใช้กระดูกเป็นแหล่งกักเก็บแคลเซียมเพื่อรักษาสมดุลของแคลเซียม

แคลเซียมพบได้มากในผลิตภัณฑ์จากนม (นม โยเกิร์ต และชีส) มีอยู่ในยาบางชนิด (เช่น ยาลดกรด) และในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียม อย่างไรก็ตาม หากเราได้รับแคลเซียมจากอาหารอย่างเพียง การซื้ออาหารเสริมแคลเซียมมารับประทานก็ไม่จำเป็น

การศึกษาในปัจจุบันพบว่าแคลเซียมอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพกระดูกในผู้สูงอายุ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม ภาวะครรภ์เป็นพิษ กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) การควบคุมน้ำหนัก ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกการศึกษาในแต่เรื่องจะให้ผลลัพธ์สอดคล้องกันเสมอไป (1)

ประโยชน์ของแคลเซียม

1. สุขภาพกระดูกและฟัน แคลเซียมเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างส่วนใหญ่ของกระดูกและฟัน แคลเซียมที่เพียงพอมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างและบำรุงรักษากระดูกให้แข็งแรง โดยจากการศึกษาพบว่าการเสริมแคลเซียม โดยเฉพาะการเสริมร่วมกับวิตามินดีอาจช่วยเสริมความหนาแน่นของมวลกระดูกและลดความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนได้ (2)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของวิตามินดี (Vitamin D) จากงานวิจัย !

2. ลดความเสี่ยงของกระดูกหักและการหกล้มในผู้สูงอายุ การศึกษาในปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปว่าการเสริมแคลเซียมและวิตามินดีจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักได้หรือไม่ แต่โดยรวมแล้วในผู้สูงอายุ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน และผู้หญิงที่รับประทานอาหารมังสวิรัติอาจได้รับประโยชน์นี้ ตัวอย่างการศึกษา เช่น

3. โรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) แคลเซียมสามารถจับกับกรดไขมันและช่วยลดการดูดซึมของไขมันได้ การเสริมแคลเซียมจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป และบางหลักฐานกลับชี้ว่าการเสริมแคลเซียมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทน (1)

4. ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน ซึ่งการเสริมแคลเซียมอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ โดยเฉพาะในผู้หญิง

5. การควบคุมน้ำหนัก พบหลักฐานการทดลองเชิงสังเกตและการทดลองทางคลินิกที่เชื่อมโยงระหว่างปริมาณแคลเซียมที่เพิ่มขึ้นกับน้ำหนักตัวที่ลดลง ซึ่งผลลัพธ์นั้นก็ปะปนกันไป แม้การศึกษาในช่วงแรกดูเหมือนเป็นไปได้ด้วยดี แต่ประโยชน์นี้ก็ดูเหมือนจะถูกลดทอนลงไปมากจากการศึกษาใหม่ ๆ

6. โควิด-19 (COVID-19) การศึกษาเบื้องต้นบ่งชี้ว่าระดับแคลเซียมลดลงในผู้ป่วย COVID-19 ตัวอย่างเช่น 75% ของผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค (32) สอดคล้องกับการทบทวนบันทึกการรักษาของผู้ป่วย 15 รายที่เข้ารับการรักษาโควิดในโรงพยาบาล Mayo Clinic แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักมีระดับแคลเซียมและอัลบูมินลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงจะไม่พบ นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่าการเสริมแคลเซียมและอัลบูมินตั้งแต่เนิ่น ๆ ในระหว่างการรักษาโควิด อาจช่วยลดความล้มเหลวของอวัยวะและการเข้ารักษาที่ห้อง ICU (33)

7. โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (AMD) การได้รับแคลเซียมเฉพาะจากอาหารที่มากขึ้นดูเหมือนจะช่วยชะลอพัฒนาการของโรค AMD ได้ ในขณะที่การได้รับแคลเซียมจากอาหารเสริมกลับพบว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเกิดโรค AMD

8. ภาวะครรภ์เป็นพิษ การเสริมแคลเซียมในระหว่างตั้งครรภ์อาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษได้ แต่ดูเหมือนว่าประโยชน์นี้จะมีผลเฉพาะในผู้หญิงที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอเท่านั้น ดังนั้นในหญิงตั้งครรภ์ที่มีระดับแคลเซียมต่ำหรือได้รับแคลเซียมรวมน้อยกว่าวันละ 600 มก. ควรเสริมแคลเซียม 1,500-2,000 มก. ทุกวัน (37)

9. กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) การเสริมแคลเซียมเป็นวิธีที่ง่ายและดูเหมือนมีประสิทธิภาพสำหรับกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น การศึกษาที่พบว่าการเสริมแคลเซียมคาร์บอเนต 1,000 มก. ทุกวันเป็นเวลา 3 เดือน ช่วยลดอาการก่อนมีประจำเดือนได้เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (41) หรือการเสริมในขนาด 500 มก. ที่พบว่าช่วยลดวิตกกังวล อารมณ์เศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลง ฯลฯ ในช่วงก่อนมีประจำเดือน (42) ส่วนการศึกษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของแมกนีเซียม (Magnesium) จากงานวิจัย !

10. ลดความเสี่ยงมะเร็ง การได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะจากอาหารปกติ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ ในขณะที่การได้รับแคลเซียมเสริมมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งและการเสียชีวิตจากมะเร็งได้

11. ลดอัตราการเสียชีวิต การเสริมแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอ อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในผู้หญิงสูงอายุได้ (แต่ไม่ใช่ในผู้ชาย)

  • การศึกษาในผู้หญิงสูงอายุจำนวน 38,722 คน พบว่าการเสริมแคลเซียมมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่ลดลง 3.8% ในช่วง 22 ปี (65) อย่างไรก็ตาม ไม่พบประโยชน์เมื่อได้รับแคลเซียมมากกว่าวันละ 900 มก. จากอาหารเสริม ทำนองเดียวกับอีกการศึกษาในผู้ใหญ่ในแคนาดาที่มีผู้เข้าร่วมจำนวน 9,033 คน พบว่าการเสริมแคลเซียมสูงถึง 1,000 มก. ทุกวันมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้หญิง (แต่ไม่ใช่ผู้ชาย) ที่ลดลง 22% ในช่วงระยะเวลาที่ศึกษา 10 ปี เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เสริมแคลเซียม แต่ในขนาดตั้งแต่ 1,000 มก. ขึ้นไป ไม่พบการลดลงของการเสียชีวิตทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย (66)

12. ประโยชน์แคลเซียมในด้านอื่น ๆ เช่น บรรเทาอาการนอนไม่หลับ, อาจช่วยเรื่องระบบประสาท, อาจช่วยให้จังหวะการเต้นของหัวใจปกติ, ช่วยเผาผลาญธาตุเหล็กในร่างกาย, ป้องกันการเกิดโรคกระดูกอ่อนในเด็ก, ป้องกันการเกิดโรคกระดูกน่วม (จากหนังสือวิตามินไบเบิล ของ ดร.เอิร์ล มินเดลล์)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของธาตุเหล็ก (Iron) จากงานวิจัย !

ประโยชน์หลัก ๆ ของแคลเซียม คือ การช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน รวมถึงการใช้เพื่อป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษหรือลดอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) และการรักษาระดับแคลเซียมในร่างกายให้เพียงพอยังอาจช่วยลดความเสี่ยงกระดูกหักและการหกล้มในผู้สูงอายุ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม โรคมะเร็ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเสริมแคลเซียมมากเกินไป โดยเฉพาะจากอาหารเสริม อาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

ข้อควรรู้และคำแนะนำ

  • อาหารที่ให้แคลเซียมสูง : นม โยเกิร์ต และชีส (ผลิตภัณฑ์จากนม) เป็นแหล่งแคลเซียมที่พบได้มากที่สุด คนส่วนใหญ่ได้รับแคลเซียมจากอาหารประเภทนี้ ส่วนอาหารอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากนม ได้แก่ ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ปลาแซลมอน คะน้า บรอกโคลี ผักกาดขาว (1)
  • ระดับแคลเซียมในเลือดในผู้ที่มีสุขภาพดี โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วง 8.5-10.5 มก./ดล. (mg/dL)
  • คนไทยส่วนใหญ่ได้รับแคลเซียมจากอาหารปกติไม่ค่อยเพียงพอ เฉลี่ยเพียงวันละ 400 มก. ในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมีแนวโน้มสูงมากที่จะได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอต่อวัน
  • ปริมาณแคลเซียมสูงสุดที่ควรได้รับในแต่ละครั้งคือ 500 มก. เพราะร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้ครั้งละมากกว่า 500 มก. ดังนั้นจึงควรจำกัดปริมาณแคลเซียมจากอาหารเสริมให้อยู่ที่ครั้งละประมาณ 200-500 มก. และไม่ควรเกิน 1,000 มก. เนื่องจากมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการได้รับในปริมาณที่มากกว่านี้
  • โปรดทราบว่าแคลเซียมที่ต้องได้รับสำหรับผู้ใหญ่คือวันละ 1,000-1,200 มก. ซึ่งรวมถึงปริมาณแคลเซียมจากอาหารปกติที่เรารับประทานเข้าไปในแต่ละวันด้วย (และยังไม่รวมถึงยาบางอย่าง เช่น ยาลดกรด)
  • อาหารเสริมแคลเซียมที่พบได้มากที่สุด คือ แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) ที่มีราคาถูกที่สุด และแคลเซียมซิเตรต (Calcium citrate) ที่เหมาะสำหรับผู้ที่กรดในกระเพาะต่ำ แต่จะมีราคาที่แพงกว่า
  • แคลเซียมคอร์บอเนตอาจก่อให้เกิดผลข้างของระบบทางเดินอาหารได้ จึงไม่ควรรับประทานในขณะท้องว่างหรือเมื่อมีกรดในกระเพาะอาหารต่ำ เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือท้องผูกได้ (แนะนำให้ทานพร้อมอาหารหรือแบ่งปริมาณต่อวันจะช่วยลดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้)
  • การดูดซึมแคลเซียมในรูปแบบต่าง ๆ : ในผู้ที่มีสุขภาพดีที่ร่างกายผลิตกรดในกระเพาะอาหารได้เพียงพอ รูปแบบของแคลเซียมอาจไม่สำคัญ ดังที่แสดงให้เห็นในการศึกษาที่ให้ผู้เข้าร่วมรับประทานอาหารเสริมแคลเซียมขนาด 500 มก. ในรูปแบบต่าง ๆ และนมสดที่ให้แคลเซียม 500 มก. หลังจากอดอาหารเป็นเวลา 16 ชั่วโมง แล้วพบว่า การดูดซึมแคลเซียมเฉลี่ยของ Calcium carbonate คือ 39%, Calcium acetate 32%, Calcium lactate 32%, Calcium citrate 30%, Calcium gluconate 27% และนมสดอยู่ที่ 31% (67)
    • ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมทั้งหมดจากอาหารและอาหารเสริมที่เราบริโภค
    • ในผู้ที่ร่างกายผลิตกรดในกระเพาะอาหารไม่เพียงพอหรือกำลังใช้ยาลดกรด (เช่น Omeprazole) แคลเซียมในรูปแบบ Calcium citrate หรือ Calcium citrate malate อาจดูดซึมได้ดีกว่าและ/หรือมีประสิทธิภาพมากกว่าในการเพิ่มระดับแคลเซียมได้มากกว่า Calcium carbonate หรือแคลเซียมในรูปแบบอื่น ๆ ที่ต้องใช้กรดในกระเพาะเพื่อให้ละลายได้ (68) เช่น การศึกษาที่พบว่าการรับประทานยาลดกรด Omeprazole ร่วมกับ Calcium carbonate แล้วพบว่าการดูดซึมแคลเซียมจะลดลงประมาณ 61%เมื่อเทียบกับยาหลอก (69) ในขณะที่ไม่พบว่าการดูดซึมจะลดลงเมื่อรับประทานแคลเซียมในรูป Calcium citrate malate (70) แต่มีข้อเสียคือ แคลเซียมในรูปแบบนี้มักจะมีราคาแพงกว่าและเม็ดยามีขนาดใหญ่กว่า
  • ก่อนซื้ออาหารเสริมแคลเซียมควรพิจารณารูปแบบของแคลเซียม, ปริมาณแคลเซียมจริง ๆ ที่ร่างกายจะได้รับ รวมถึงส่วนผสมอื่น ๆ ด้วย เช่น วิตามินดี วิตามินเค ฯลฯ ก่อนเปรียบเทียบราคา (ตัวอย่าง ปริมาณ Calcium carbonate จะให้แคลเซียมจริง ๆ แค่ 40% เท่านั้น นั่นหมายความว่า Calcium carbonate 1,250 มก. จะมีแคลเซียมเพียง 500 มก.)
  • รูปแบบและปริมาณของแคลเซียมที่แนะนำสำหรับแต่ละอาการ :
    • สำหรับชะลอการสูญเสียมวลกระดูกและแคลเซียม โดยทั่วไปพบว่าการเสริมแคลเซียมซิเตรตวันละ 1,000-1,200 มก. ร่วมกับวิตามินดีวันละ 400-800 IU พบว่ามีประโยชน์ในการศึกษาหลายชิ้น
    • สำหรับเสริมสร้างสร้างกระดูกในเด็กผู้หญิงอายุน้อย (อายุ 9 ถึง 13 ปี) การศึกษาพบประโยชน์จากการเสริมแคลเซียม 800 มก. (จากแคลเซียมซิเตรตและแคลเซียมคาร์บอเนต) และวิตามินดี3 400 IU เมื่อรับประทานเป็นประจำเป็นเวลา 6 เดือน (3)
    • สำหรับลดอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) แคลเซียมคาร์บอเนตวันละ 1,000-1,200 มก. พบว่ามีประสิทธิภาพ
  • กลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดแคลเซียม : ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (การลดลงของการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง และเพิ่มการสูญเสียแคลเซียมทางปัสสาวะและการสลายแคลเซียมจากกระดูก) และผู้ที่หลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนม (รวมถึงมังสวิรัติ)
  • ดูเหมือนว่าการเสริมแคลเซียมจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อร่างกายได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ในหลายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแคลเซียมจึงมักมีวิตามินดีเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย
  • การได้รับแคลเซียมจากอาหารปกติเป็นวิธีที่ดีและปลอดภัย หากไม่มีความจำเป็นจริง ๆ ไม่มีแนะนำให้เสริมแคลเซียมในรูปแบบอาหารเสริม โดยเฉพาะในขนาดที่สูง

หากคุณบริโภคอาหารที่ให้แคลเซียมเพียงพอ เช่น ดื่มนมเป็นประจำ การเสริมแคลเซียมในรูปแบบอาหารเสริมก็ไม่จำเป็น และการได้รับแคลเซียมมากเกินไปก็ไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์มากขึ้น และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้

ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำต่อวัน

ต่อไปนี้คือปริมาณแคลเซียมที่แนะนำต่อวันสำหรับคนวัยต่าง ๆ (1)

  • อายุ 0-6 เดือน วันละ 200 มก.
  • อายุ 7–12 เดือน วันละ 260 มก.
  • อายุ 1–3 ปี วันละ 700 มก.
  • อายุ 4–8 ปี วันละ 1,000 มก.
  • อายุ 9–13 ปี วันละ 1,300 มก.
  • อายุ 14–18 ปี วันละ 1,300 มก. (ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร)
  • อายุ 19–50 ปี วันละ 1,000 มก. (ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร)
  • อายุ 51–70 ปี ในผู้ชายวันละ 1,000 มก. และในผู้หญิงวันละ 1,200 มก.
  • อายุมากกว่า 70 ปี ทั้งผู้ชายและหญิงคือวันละ 1,200 มก.

ความเสี่ยงจากการได้รับแคลเซียมมากเกินไป

  • ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (ระดับแคลเซียมในเลือดมากกว่า 10.5 มก./ดล.) และภาวะแคลเซียมในปัสสาวะสูง (ระดับแคลเซียมในปัสสาวะในผู้ชายมากกว่าวันละ 250 และในผู้หญิงมากกว่าวันละ 275 มก.) เป็นภาวะที่พบได้น้อยในคนที่มีสุขภาพดีและมักเกิดจากโรคหรือเงื่อนไขอื่น ๆ อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ภาวะอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น เหนื่อยล้า ท้องผูก คลื่นไส้ น้ำหนักลด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไตวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ (1)
  • ความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต การศึกษาพบว่าผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่เสริมแคลเซียม 1,000 มก. และวิตามินดี 400 IU ทุกวัน มีอุบัติการณ์การเกิดนิ่วในไตเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เสริม แต่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั้นน้อยมาก เนื่องจากมีเพียง 0.35% ที่รายงานว่าเป็นนิ่วในไต เมื่อเทียบกับ 0.3% ในกลุ่มที่ไม่เสริม (71) นอกจากนี้ American Society of Nephrology ระบุว่าการเสริมแคลเซียมอาจเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของนิ่วในไตในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยจากการทบทวนการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่มีประวัติเป็นนิ่วในไตที่เสริมแคลเซียมเฉลี่ยวันละ 439 มก. ก้อนนิ่วจะเติบโตเฉลี่ย 7.8 มิลลิเมตร/เดือน เมื่อเทียบกับ 4.49 มิลลิเมตร/เดือน ในกลุ่มที่ไม่ได้เสริม
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด การเสริมแคลเซียมทุกวันในปริมาณมาก เช่น วันละ 1,000 มก. อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และความเสี่ยงจะลดลงเมื่อเสริมวิตามินดีร่วมด้วย โดยมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องดังนี้
    • อาหารเสริมแคลเซียม 1,000 มก. เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อหัวใจตาย (72) ส่วนการศึกษาในเกาหลีพบว่าการเสริมแคลเซียมโดยเฉลี่ยวันละ 538 มก. อย่างน้อย 3 เดือน โดยไม่เสริมวิตามินดี จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น 54% แต่ไม่พบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเมื่อเสริมวิตามินดีร่วมด้วย (73)
    • การเสริมแคลเซียมมากกว่าวันละ 1,000 มก. จากอาหารเสริม มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น 20% จากโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) ในผู้ชาย แต่ไม่มีผลกับผู้หญิง (22)
    • การเสริมแคลเซียมมากกว่าวันละ 1,000 มก. ในผู้ชายและผู้หญิงอายุ 40-89 ปี พบว่ามีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองตีบ (เช่น โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน) ที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และความเสี่ยงก็สูงขึ้นในผู้ชาย 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า (74)
    • ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่เสริมแคลเซียมวันละ 800 มก. ในระยะยาวอาจส่งผลเสียทำให้ระดับคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น รวมทั้งความหนาของหลอดเลือดแดง ซึ่งสิ่งนี้สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดโรคหัวใจ (75)
  • การได้รับแคลเซียมมากกว่าวันละ 1,500 มก. (ทั้งจากอาหารและอาหารเสริม) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลาม เมื่อเทียบกับปริมาณรวมต่อวันระหว่าง 500-1,000 มก. (1)
  • ความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในสตรีที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง การศึกษาในผู้หญิงจำนวน 700 คนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง อายุ 70-92 ปี เป็นเวลา 5 ปี พบว่ากลุ่มที่ได้รับแคลเซียมเสริมมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เสริม (76)
  • การได้รับแคลเซียมจากอาหารเสริมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค AMD (77)
  • หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับแคลเซียมมากเกินอาจทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติได้
  • การเสริมแคลเซียมในปริมาณสูงจากอาหารเสริม (โดยเฉพาะวันละ 900 มก .หรือมากกว่า) มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ (78)

สรุปเรื่องแคลเซียม

ไม่ค่อยพบประโยชน์จากการเสริมแคลเซียมในคนทั่วไปที่ร่างกายมักไม่ได้ขาดแคลเซียม การเสริมแคลเซียมอาจมีประโยชน์เฉพาะสำหรับผู้ที่ร่างกายขาดแคลเซียม เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน โดยเฉพาะแคลเซียมในรูปแบบอาหารเสริมที่ต้องเสริมในปริมาณที่พอดีและไม่มากจนเกินไป (โดยทั่วไปคือไม่เกินวันละ 500 มก. และห้ามเกินวันละ 1,000 มก. หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์)

งานวิจัยอ้างอิง

ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2023

เภสัชกรประจำเว็บเมดไทย
ประวัติผู้เขียน : จบการศึกษาปริญญาตรี คณะเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชศาสตร์ มีประสบการณ์การทำงานร้านยามากกว่า 5 ปี เคยเป็นผู้จัดการร้านขายยา เคยเป็นผู้ฝึกอบรมผลิตภัณฑ์กลุ่มสุขภาพ เช่น วิตามิน อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ และยา ปัจจุบันทำงานเป็นเภสัชกรอยู่โรงพยาบาลเอกชน โดยให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ