ถั่วแระ สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วแระต้น 20 ข้อ ! (ถั่วแฮ)

ถั่วแระ

ถั่วแระ ชื่อสามัญ Pigeon pea , Angola pea, Congo pea[2]

ถั่วแระ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cajanus cajan (L.) Millsp. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cajanus indicus Spreng.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[2]

สมุนไพรถั่วแระ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถั่วแรด (ชุมพร), มะแฮะ มะแฮะต้น ถั่วแระต้น (ภาคเหนือ), ถั่วแฮ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ถั่วแระ ถั่วแระผี ถั่วแม่ตาย (ภาคกลาง), พะหน่อเซะ พะหน่อซิ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), มะแฮะ (ไทลื้อ), ย่วนตูแฮะ (ปะหล่อง), เปล๊ะกะแลง (ขมุ), ถั่วแฮ เป็นต้น[1],[5]

หมายเหตุ : ต้นถั่วแระที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นคนละชนิดกันกับถั่วแระที่ได้มาจากการเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองในระยะที่ฝักยังไม่แก่หรือไม่อ่อนเกินไป แล้วนำมาต้มหรือนึ่งทั้งต้นและฝัก สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความเรื่อง ถั่วเหลือง

ลักษณะของถั่วแระ

  • ต้นถั่วแระ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดย่อม อายุฤดูเดียวหรือหลายฤดู ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงประมาณ 1-3.5 เมตร กิ่งแผ่ออกด้านข้างเป็นคู่ ผิวของลำต้นเกลี้ยงเป็นสีเขียวหม่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีทั้งถั่วแระขาวและถั่วแระแดง พบขึ้นในที่โล่งแจ้งชายป่าเบญจพรรณ[1],[4]

ต้นถั่วแระ

  • ใบถั่วแระ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ ใบย่อยจะแตกออกมาตามลำต้น หรือตามกิ่งประมาณ 3 ใบ ลักษณะของใบย่อยมีขนาดเล็กเป็นรูปขอบขนานแกมใบหอก ปลายใบแหลม คล้ายใบขมิ้นต้นหรือขมิ้นพระ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-10 เซนติเมตร ผิวใบทั้งสองด้านมีขนสีขาวนวล[1],[4]

ใบถั่วแระ

  • ดอกถั่วแระ ออกดอกเป็นช่อกระจะคล้ายดอกโสน มีดอกย่อยประมาณ 8-14 ดอก โดยจะออกตามซอกใบ ลักษณะของดอกเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอกเป็นสีเหลืองมีขอบสีน้ำตาลแดง ใบประดับมีขน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 4-5 แฉก[1],[4]

ดอกถั่วแระ

  • ผลถั่วแระ ลักษณะของผลเป็นฝักแบนยาวสีม่วงเข้มปนเขียว เป็นห้อง ๆ และมีขน ฝักหนึ่งจะแบ่งออกเป็นห้อง 3-4 ห้อง ภายในมีเมล็ดลักษณะกลมหรือแบนเล็กน้อย ห้องละ 1 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเท่ากับเมล็ดถั่วเหลือง สีของเมล็ดเป็นสีเหลือง ขาว และสีแดง[1],[4]

ถั่วแฮ

ถั่วแระต้น

ถั่วมะแฮะ

สรรพคุณของถั่วแระ

  1. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (เมล็ด)[2]
  2. ทั้งฝักมีรสมันเฝื่อนเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย (ทั้งฝัก)[4]
  3. ช่วยลดระดับคอเลสเตรอล ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ด้วยการใช้เมล็ดนำมาต้มรับประทานเป็นของกินเล่น (เมล็ด)[2]
  4. รากและเมล็ดใช้ปรุงเป็นยากินรักษาไข้ ถอนพิษ (รากและเมล็ด)[1],[4]
  5. ช่วยแก้อาการไอ (ใบ)[2],[4]
  1. น้ำคั้นจากใบใช้ใส่แผลในปากหรือหู (ใบ)[4]
  2. ต้นและใบมีสรรพคุณเป็นยาขับลมลงเบื้องต่ำ (ต้นและใบ)[4]
  3. ต้น ราก และใบมีสรรพคุณเป็นยาขับผายลม (ต้น, ราก, ใบ)[2]
  4. ใบใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (ใบ)[2],[4]
  5. ตำรายาไทยจะใช้รากปรุงยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ ปัสสาวะแดงขุ่น ปัสสาวะน้อย ช่วยละลายนิ่วในไต ส่วนรากและเมล็ดใช้ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะเหลืองหรือแดง (ราก, รากและเมล็ด)[1],[2],[4]
  6. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้ทั้งต้น 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง เป็นยารักษาอาการตกเลือด แก้ไข้ทับระดู (ทั้งต้น)[4]
  7. รากและเมล็ดใช้ปรุงเป็นยากินแก้น้ำเหลืองเสีย รักษาน้ำเบาเหลืองและแดงดังสีขมิ้น หรือน้ำเบาออกน้อย (รากและเมล็ด)[1]
  8. ใบใช้เป็นยารักษาบาดแผล (ใบ)[2]
  9. ต้นและใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้เส้นเอ็นพิการ (ความผิดปกติของระบบเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ มักมีอาการเจ็บต่าง ๆ ปวดเมื่อยเสียวไปทุกเส้น ตามตัว ใบหน้า ถึงศีรษะ) (ต้น, ใบ)[2],[4]
  10. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงไขข้อ บำรุงเส้นเอ็น ส่วนทั้งฝักมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกระดูก บำรุงเส้นเอ็น (เมล็ด, ทั้งฝัก)[2],[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของถั่วแระ

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ pectin ซึ่งเป็นใยพืช ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง, acoradiene, allantoin, α-amyrin, arabinitol, benzoic acid, butyrospermol, caffeic acid, cajaflavanone, cajasoflavone, cajaminose, cajanin, cajanol, cajanone, cajanus cajan lectin, cajanus cajan phyyoalexin 3, campesterol, para-coumaric acid, cycloartanol, 24-methylene, cycloartenol, cyclobranol, daidzein, daucosterol, erremophilene, erythritol, euphol, ferulic acid, flavone, iso: 2-5-7, trihydroxy: 7-O-β-D-glucoside, formononetin, galactinol, genistein, gentisic acid, glucitol, glycerol, α-guaiene, β-guaiene, n-hentriacontane, α-himachalene, hydrocyanic acid, inositol,myo, laccerol, lanosterol, 24-dihydro, 24-methylene, longistylin A, longistylin C, lupeol, mannitol, naringenin-4-7-dimethyl ether, parkeol, pinostrobin, protocatechuic acid, simiarenol, β-sitosterol, stigmasterol, stilbene, tannin, taraxerol, threitol, tirucallol, uronic acid, L-valine, vanillic acid,vitexin, wighteone,iso, xylitol, xylos[2]
  • ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล ลดไขมันในเลือด ต้านไวรัส ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ (เป็นภาวะซึ่งเกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารไม่สมดุลกัน ทำให้เกิดความเป็นปกติทางโภชนาการต่าง ๆ) ยับยั้งการย่อยโปรตีน ยับยั้ง txpsin และ chymotrypsin[2],[3]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่า เมื่อฉีดสารสกัดจากเมล็ดถั่วแระต้นด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ ในอัตราส่วน 1:1 เข้าช่องท้องของหนูถีบจักร หนูสามารถทนยาได้ถึง 1 กรัมต่อกิโลกรัม[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.1970 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการศึกษาผลในการลดไขมันของถั่วแระ โดยทำการทดลองในหนูทดลองที่ให้อาหารไขมันสูงจนเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง ใช้ถั่วนิดต่าง ๆ ให้หนูทดลองกิน ได้แก่ ถั่วแระ ถั่วดำ ถั่วแดง และถั่วเขียว นาน 3 เดือน ผลการทดลองพบว่าถั่วทั้ง 4 ชนิด มีผลทำให้ไขมันในเลือด, ระดับ phospholipid ในตับ และระดับน้ำตาลในเลือดลดลง[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.1973 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้พืชสมุนไพรหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ผลการทดลองพบว่า สารสกัดจากเมล็ดถั่วแระ สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้[3]
  • เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศจีน ได้ทำการศึกษาทดลองผลในการลดไขมันของถั่วแระต้น โดยพบว่าในถั่วแระต้นมีสาร stibenes โดยใช้ทำการศึกษาทดลองในหนู (Kunming mice) ใช้ระยะเวลาการทดลอง 4 สัปดาห์ แบ่งกลุ่มการทดลองออกเป็น 4 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม, กลุ่มที่ 2 ให้สารสกัดถั่วแระต้น 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน, กลุ่มที่ 2 ให้สารสกัดถั่วแระต้น 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ส่วนกลุ่มที่ 4 ให้สาร simvastatin ผลการทดลองพบว่า หนูกลุ่มที่ 2 มีระดับคอเลสเตอรอลลดลง 31.4% ไตรกลีเซอไรด์ลดลง 22.7% โดยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P < 0.01[2]

ประโยชน์ของถั่วแระ

  1. นอกจากจะนำมาใช้ในทางยาแล้ว ยังสามารถนำฝักมาตากแห้งแกะเอาเมล็ดออกมาใช้ปรุงเป็นอาหาร หรือนำไปขายเป็นสินค้าได้อีกด้วย[1]
  2. ชาวปะหล่อง ขมุ และกะเหรี่ยงเชียงใหม่ จะนำผลถั่วแระมารับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก[5]
  3. ชาวปะหล่องถือว่ายอดอ่อนและดอกถั่วแระเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ใช้ปะพรมน้ำมนต์หรือใช้ในพิธีปลูกเสาเอกของบ้าน[5]
  4. ถั่วแระเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ในการเลี้ยงครั่งได้ดี (ทั่วไปแล้วจะใช้สะแกนา ปันแก่ พุทราป่า ลิ้นจี่ และไทร ในการเลี้ยงครั่ง) เนื่องจากต้นถั่วแระสามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนและกึ่งแห้งแล้ง ปลูกง่าย ทนแล้ง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี หลังจากปลูกแล้วจะให้ผลผลิตประมาณ 6-9 เดือน อีกทั้งเมล็ดถั่วแระยังให้โปรตีนสูง เจริญเติบโตแข่งกับพืชชนิดอื่นได้ดี และยังช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดินได้อีกด้วย[6]
  5. นอกจากนี้ยังมีการปลูกถั่วแระเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยลดการพังทลายของหน้าดินจากน้ำฝน ซึ่งถั่วแระสามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งที่ราบและที่ลาดชัน[6]

คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดถั่วแระ ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 343 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 62.78 กรัม
  • ใยอาหาร 15 กรัม
  • ไขมัน 1.49 กรัม
  • โปรตีน 22.7 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.643 มิลลิกรัม (56%)
  • วิตามินบี 2 0.187 มิลลิกรัม (16%)
  • วิตามินบี 3 2.965 มิลลิกรัม (20%)
  • วิตามินบี 5 1.266 มิลลิกรัม (25%)
  • วิตามินบี 6 0.283 มิลลิกรัม (22%)
  • วิตามินบี 9 456 ไมโครกรัม (114%)
  • วิตามินซี 0 มิลลิกรัม (0%)
  • วิตามินอี 0 มิลลิกรัม (0%)
  • วิตามินเค 0 ไมโครกรัม (0%)
  • แคลเซียม 130 มิลลิกรัม (13%)
  • ธาตุเหล็ก 5.23 มิลลิกรัม (40%)
  • แมกนีเซียม 183 มิลลิกรัม (52%)
  • แมงกานีส 1.791 มิลลิกรัม (85%)
  • ฟอสฟอรัส 367 มิลลิกรัม (52%)
  • โพแทสเซียม 1,392 มิลลิกรัม (30%)
  • โซเดียม 17 มิลลิกรัม (1%)
  • สังกะสี 2.76 มิลลิกรัม (29%)

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ถั่วแระต้น”.  หน้า 331-332.
  2. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ถั่วแระต้น”  หน้า 96-97.
  3. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ถั่วแระต้น”.  หน้า 85-86.
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ถั่วแฮ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [14 ธ.ค. 2014].
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ถั่วแระ, ถั่วมะแฮะ”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [14 ธ.ค. 2014].
  6. ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “ต้นถั่วแระ ทางเลือกใหม่ในการเลี้ยงครั่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phtnet.org.  [14 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Andre Benedito, SierraSunrise, Parchen, Bernadette Hawkins and Russell Reinhardt), www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/, pantip.com (by สมาชิกหมายเลข 875070)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด