ถั่วแปบช้าง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นถั่วแปบช้าง 4 ข้อ !

ถั่วแปบช้าง

ถั่วแปบช้าง ชื่อสามัญ Silky afgekia[3]

ถั่วแปบช้าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Afgekia sericea Craib จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1]

สมุนไพรถั่วแปบช้าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กันภัย (สระบุรี), กันภัยใบขน (กรุงเทพฯ), ปากีเดิด (มหาสารคาม) เป็นต้น[1]

ลักษณะของถั่วแปบช้าง

  • ต้นถั่วแปบช้าง จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น เป็นพุ่มแน่น ทอดเลื้อยยาวได้ถึง 15 เมตร เถาเป็นสีน้ำตาลมีลักษณะกลมเรียบ ทุกส่วนของต้นมีขนสีขาวนุ่มขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและปนทราย ชอบความชื้นปานกลาง แสงแดดจัดหรือกลางแจ้ง มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยพบขึ้นกระจายห่าง ๆ ทางภาคกลางที่จังหวัดสระบุรี และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ ปราจีนบุรี และบุรีรัมย์ แต่จะไม่พบบนภูเขาสูงที่มีอากาศหนาวเย็นจัด โดยมักจะขึ้นทั่วไปตามป่าเต็งรังและตามป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 300 เมตร[1],[2],[3]

ต้นถั่วแปบช้าง

  • ใบถั่วแปบช้าง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับตรงข้าม มีใบย่อยประมาณ 13, 15 หรือ 17 ใบ แกนกลางเป็นร่องด้านบน เป็นครีบคล้ายปีกชัดเจนช่วงปลายก้าน ยาวประมาณ 15-23 เซนติเมตร ก้านใบประกอบยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร โคนโป่งพอง ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือมนมีติ่งแหลม โคนใบกลมหรือมนเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบมีขนสีขาวเป็นมันขึ้นปกคลุม เส้นใบมีข้างละ 6-8 เส้น หูใบออกเป็นคู่ แนบติดกับโคนก้านใบ ลักษณะเป็นรูปเคียวเบี้ยว ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ส่วนหูใบย่อยจะติดกันเป็นคู่ ลักษณะเป็นรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ติดทน[1],[2],[3]

ใบถั่วแปบช้าง

  • ดอกถั่วแปบช้าง ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มีใบประดับสีชมพูเรียงกันแน่นที่ปลายช่อ ใบประดับมีขนนุ่น ดอกย่อยเป็นสีชมพู ลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอกมี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ด้านนอกมีขนสีขาว ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ที่โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย สีชมพู ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านเกสรเชื่อมติดกัน เมื่อดอกบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร โดยดอกจะทยอยบานจากโคนช่อไปสู่ปลายช่อ ออกดอกในช่วงฤดูฝน (ช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม)[1],[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง ปลายเรียวแหลม โคนเป็นรูปหัวใจ โอบรอบก้านช่อดอก ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ติดทน ออกดอกเป็นช่อยาวแบบเชิงลด โดยจะออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง บางครั้งแยกแขนงใกล้โคน มีความยาวได้เกือบ 1 เมตร ดอกย่อยมีจำนวนมากจะอัดตัวกันแน่นเป็นกระจุก เรียงเวียนสลับรอบแกนช่อ ใบประดับย่อยเป็นรูปหอกหรือรูปแถบ ปลายเรียวแหลม โคนเรียวสอบ ยาวประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร ร่วงพร้อมดอก ก้านดอกยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงและใบประดับเป็นสีม่วง กลีบเลี้ยงเป็นรูประฆังกว้าง หลอดกลีบยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร เป็นรูปปากเปิด กลีบรูปลิ่มแคบ แยกเป็น 3 กลีบล่าง ขนาดยาวไม่เท่ากัน ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ส่วน 2 กลีบบน ยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีเขียวอ่อนมีสีม่วงแซม กลีบปีกเป็นสีม่วงเข้ม กลีบกลางเป็นรูปรีกว้าง โคนกลีบคล้ายรูปหัวใจ ปลายเป็นติ่งแหลม ยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร พับงอกับมีเส้นกลางกลีบเป็นสันด้านนอก ส่วนด้านในเป็นร่อง เป็นสันนูนใกล้โคน มีสีเขียวแต้ม ที่โคนมีเดือยลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม 1 คู่ ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร กลีบปีกเป็นรูปขอบขนานเบี้ยวเล็กน้อย ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร กลีบคู่ล่างเชื่อมติดกันเป็นรูปตุ่ม มีความยาวเท่า ๆ กับกลีบปีก ดอกมีเกสรเพศผู้ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร ปลายโค้งตามปีกล่าง อับเรณูเป็นรูปขอบขนาน ส่วนรังไข่รวมก้านยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีขนยาว ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร เกลี้ยง ยอดเกสรเป็นตุ่ม[3]

ดอกถั่วแปบช้าง

  • ผลถั่วแปบช้าง ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนนูน รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร และหนาประมาณ 3 เซนติเมตร ผิวฝักมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแตกออกได้ตามแนวตะเข็บ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 2-3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่มีลาย ก้านผลยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร[1],[2],[3]

ฝักถั่วแปบช้าง

ผลถั่วแปบช้าง

หมายเหตุ : ถั่วแปบช้างจะมีลักษณะของช่อดอกที่คล้ายคลึงกับพืชอีกชนิดหนึ่งในวงศ์เดียวกัน คือ กันภัยมหิดล (ชื่อวิทยาศาสตร์ Afgekia mahidolae B.L. Burtt & Chermsir.) ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้หายาก แต่จะมีความแตกต่างกันตรงที่ดอกของถั่วแปบช้างจะมีใบประดับเป็นสีชมพูเรียงกันแน่น ส่วนดอกของกันภัยมหิดลจะมีใบประดับเป็นสีม่วง[2]

สรรพคุณของถั่วแปบช้าง

  • เมล็ดใช้กินเป็นยาบำรุงไขมันและเส้นเอ็น เหมาะสำหรับคนผอม (เมล็ด)[1]
  • ตำรายาพื้นบ้านจะใช้รากถั่วแปบช้างผสมกับเปลือกต้นมะกอกเหลี่ยม เปลือกต้นหนามหัน และเปลือกต้นยางนา นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคอีสุกอีใสและซาง (โรคของเด็กที่มักมีอาการเบื่ออาหาร ซึม มีเม็ดขึ้นในปากและคอ ลิ้นเป็นฝ้า) (ราก)[1]

ประโยชน์ของถั่วแปบช้าง

  • นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามบ้านเรือนและตามสวนทั่วไป ช่อดอกมีความสวยงาม และมีลักษณะพิเศษ คือ ไม่ตายง่ายและไม่พักตัวเหมือนพืชเถาชนิดอื่น ๆ ถ้าปลูกในดินที่ดีแล้วจะออกดอกดกมาก (หากปลูกเพียงต้นเดียวจะไม่สามารถติดฝักได้ เนื่องจากไม่ผสมตัวเอง)[3]
  • ในด้านของความเชื่อ ถั่วแปบช้างถือเป็นไม้มงคลที่มีอิทธิฤทธิ์สมชื่อว่า “กันภัย[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ถั่วแปบช้าง (Thue Paep Chang)”.  หน้า 136.
  2. ความเหมือนที่แตกต่างแห่งพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ถั่วแปบช้าง กันภัยมหิดล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th.  [14 ธ.ค. 2014].
  3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กันภัย”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [14 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Rex Yang, Len Worthington, kafka4prez), plantsthailand.blogspot.com, www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด