ถั่วแปบ สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วแปบ 25 ข้อ !

ถั่วแปบ

ถั่วแปบ ชื่อสามัญ Hyacinth bean, Dolichos bean, Seim bean, Lablab bean, Egyptian kidney bean, Indian bean, และ Australian pea[6]

ถั่วแปบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Lablab purpureus (L.) Sweet[2] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dolichos lablab L.[1], Dolichos purpureus L.[6], Lablab niger Medik.[3],[6], Lablab lablab (L.) Lyons[6], Lablab vulgaris var. albiflorus DC., Vigna aristata Piper[6]) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2]

สมุนไพรถั่วแปบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถั่วแปบขาว, ถั่วหนัง, หมากแปบ, มะแปบ (เชียงใหม่), ถั่วแปบน้อย แปบปลาซิว (สกลนคร), ถั่วแปะยี (ภาคเหนือ), กวาวน้ำ ถั่วหนัง ถั่วแล้ง มะแปน ถั่วแปยี ถั่วมะเปกี (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), โบ่บ๊ะซะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), เป๊าะบ่าสะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), กู๊เบเส่, กู๊เบอีโท้, กู๊เบผ่าบุ๊ (กะเหรี่ยงแดง), แผละแถะ (ลั้วะ), เบล่เปยี่ (ปะหล่อง), เซียงหวังตบ (เมี่ยน) เป็นต้น[2],[3],[5],[8] โดยเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในแถบร้อนของทวีปเอเชียรวมทั้งประเทศไทยด้วย จึงพบว่ามีสายพันธุ์ที่หลากหลายมาก จนอาจกล่าวได้ว่าถั่วแปบเป็นพืชที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์มากที่สุดในบรรดาผักในบ้านเราเลยก็ว่าได้[7]

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ระบุความหมายของคำว่า “แปบ” โดยอธิบายไว้ว่า แปบเป็นคำวิเศษณ์ ซึ่งแปลว่า “แบน” ซึ่งสอดคล้องกับหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ พ.ศ.๒๔๑๖ ที่อธิบายไว้ว่า “แปบ แฟบ คือ ลีบเล็ก แบนเหมือนข้าวลีบนั้น” จึงทำให้เห็นว่าคนไทยจะใช้คำว่าแปบและแฟบในความหมายเดียวกัน แต่ในปัจจุบันจะใช้เพียงคำว่า “แฟบ” และคำว่าแปบนั้น นอกจากจะนำมาใช้เป็นชื่อผักแล้ว ยังใช้เป็นชื่อเรียกของขนมและชื่อของปลาอีกด้วย ได้แก่ “ขนมถั่วแปบ” (ขนมที่ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว ต้มคลุกกับเนื้อมะพร้าวทำเป็นแผ่นหุ้มห่อไส้ด้วยถั่วเขียวเราะเปลือก โรยด้วยงาและน้ำตา โดยขนมชนิดนี้จะมีลักษณะแบน ๆ คล้ายกับถั่วแปบ) และ “ปลาแปบ” นั้น ได้อธิบายไว้ว่าคือชื่อเรียกขอปลาน้ำจืดที่มีลำตัวแบนชนิดหนึ่ง[7]

ลักษณะของถั่วแปบ

  • ต้นถั่วแปบ จัดเป็นไม้ล้มลุกเลื้อยพันที่มีอายุหลายปี ลักษณะของเรือนยอดเป็นรูปทรงกระบอก มีลำต้นอยู่เหนือดิน ตั้งตรงเองไม่ได้ และจะใช้ส่วนของลำต้นเกี่ยวพัน ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 2.3 เมตร และมีลำต้นหรือเถายาวหรือกว้างได้ถึง 4-6 เมตร โดยเถามีลักษณะกลมสีเขียวและมีขนสีขาวขึ้นอยู่ประปราย ไม่อวบน้ำ มีรากสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี และชอบแสงแดดจัด โดยสามารถพบได้ทางภาคเหนือและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[1],[2],[4],[5]

ต้นถั่วแปบ

  • ใบถั่วแปบ มีใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบเรียงสลับกัน ใบย่อยที่ปลายลักษณะเป็นรูปไข่ ส่วนใบย่อยด้านข้างมีลักษณะเป็นรูปไข่เบี้ยว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร มีหูใบย่อย แผ่นใบมีขนบาง ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 5 นิ้ว[1],[5]

ใบถั่วแปบ

  • ดอกถั่วแปบ ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกระหว่างก้านใบกับกิ่ง ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ในช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะของดอกถั่วแปบจะเหมือนกับดอกถั่วทั่ว ๆ ไป กลีบดอกเป็นสีม่วงหรือสีขาวแยกออกจากกัน และมีจำนวน 3 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปไต ส่วนกลีบรองดอกมีลักษณะเป็นรูประฆัง ดอกมีเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวน 3 อัน มีเกสรตัวเมียสีเหลืองอีกจำนวน 1 อัน ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ ดอกไม่มีกลิ่น[4],[5]

ถั่วแปบขาว

ดอกถั่วแปบ

  • ผลถั่วแปบ หรือ ฝักถั่วแปบ ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนยาวและโค้งงอ ปลายผลเป็นจะงอย ลักษณะของผลมี 2 ชนิด คือ ฝักแบนและฝักกลม ผิวผลเรียบและเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีม่วง สันฝักนูนขรุขระเป็นสีเขียวอ่อนยาวประมาณ 2 นิ้ว ในผลมีเมล็ดอยู่ประมาณ 3-6 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่กลม มีสีหลากหลายไปตามสายพันธุ์ ตั้งแต่สีครีม สีขาวเหลือง สีน้ำตาลอ่อน จนถึงสีแดงหรือมีลาย[1],[2],[5],[7]

ฝักถั่วแปบ

ผลถั่วแปบ

เมล็ดถั่วแปบ

สรรพคุณของถั่วแปบ

  1. เมล็ดมีรสหวานมัน ช่วยบำรุงกำลัง แก่อาการอ่อนเพลีย (ผล, เมล็ด)[1],[4]
  2. ผลใช้รับประทานเป็นอาหารบำรุงร่างกาย (ผล)[4]
  3. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (เมล็ด)[4],[7],[9]
  4. ช่วยแก้โรคตา (เมล็ด)[1],[4] บ้างก็ว่าใช้รากในการรักษาโรคตา (ราก)[9]
  5. ผลหรือเมล็ดถั่วแปบช่วยลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้สัมประชวร (เมล็ด)[1],[4],[7],[9]
  6. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการเจ็บคอ เสียงแหบแห้ง (ทั้งต้น)[1] แก้คอแห้ง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  7. ช่วยแก้เสมหะในร่างกาย (เมล็ด)[1],[4]
  8. ช่วยแก้อาการแพ้ (ผล)[4]
  9. ช่วยดับร้อน ถอนพิษ ขจัดความชื้น และช่วยถอนพิษสุรา (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  10. ช่วยระงับอาเจียน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  1. ช่วยแก้อาการเมาค้าง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  2. ช่วยแก้ลม (เมล็ด)[1]
  3. ใบนำมาตำใช้พอกรักษาโรคคางทูม (ใบ)[2]
  4. รากของถั่วแปบช่วยแก้โรคซาง (ราก)[9]
  5. ช่วยบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  6. ช่วยระงับอาการท้องร่วง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  7. ช่วยแก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  8. ช่วยแก้อาการเกร็ง (เมล็ด)[7],[9]
  9. หากนำถั่วแปบมาปรุงหรือทำเป็นข้ามต้มผสมรวมกับแคร์รอตและลูกเดือย จะช่วยแก้อาการท้องอืด ระงับอาการท้องร่วง ช่วยทำให้เจริญอาหาร และช่วยระงับอาเจียน[8]
  10. หากใช้ถั่วแปบสดปรุงผัดผสมกับแคร์รอตและเห็ดที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง (เห็ดหอม เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดหัวลิง ฯลฯ) จะได้อาหารเสริมที่มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและบุคคลทั่วไป ซึ่งการรับประทานเป็นประจำจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ [8]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของถั่วแปบ

  • ในเมล็ดมีสารในกลุ่มสเตียรอยด์ เช่น Dolichosterone น้ำต้มเมล็ดมีฤทธิ์ช่วยต้านอาการอักเสบ ต้านฮอร์โมนไทรอยด์ ช่วยลดการดูดซึมของแอลกอฮอล์ในกระเพาะอาหาร และช่วยเพิ่มการกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากตัวของสัตว์ทดลองได้มากขึ้น[1]
  • พบสารเลกติน (เข้าใจว่าคือส่วนของเมล็ด) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยต้านการกระตุ้นให้เกิดการก่อกลายพันธุ์จากสารบางชนิด[1]
  • นอกจากนี้ยังพบโปรตีน (เข้าใจว่าคือส่วนของเมล็ด) ที่ทำให้เมล็ดเลือดแดงแตกให้หลอดทดลองอีกด้วย[1]
  • มีการใช้น้ำใบของต้นถั่วแปบเพื่อช่วยในการรักษาเนื้อร้าย ด้วยการใช้ใบถั่วแปบสดประมาณ 1 กิโลกรัม นำมาคั้นเอาแต่น้ำสีเขียว ใช้ดื่มหลาย ๆ ครั้งต่อวัน ซึ่งพบว่าจะได้ผลดีในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่เกิดผลข้างเคียงในระบบย่อยอาหาร ในช่วงขณะและหลังการให้เคมีบำบัด เช่น มีอาการท้องอืด ท้องร่วง อาเจียน เป็นต้น[8]
  • มีรายงานว่าถั่วแปบมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง และน้ำถั่วแปบยังถูกนำมาใช้เป็นเสริมในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด[8]
  • จากการศึกษาพบว่าถั่วแปบประกอบไปด้วยโปรตีน แป้ง ไขมัน เกลือแร่ วิตามิน และแร่ธาตุอีกหลายชนิด กรดแพนโทเทนิค และยังมีสารพฤกษเคมีที่มีชื่อว่า “ไฟโตฮีแมกกลูตินิน” (Phytohemagglutinine) ซึ่งจะช่วยเร่งการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว ช่วยกำจัดทำลายเซลล์และสิ่งปลอมในร่างกาย อีกทั้งยังมีไขมันชนิดฟอสฟาไทด์ และกลุ่มของน้ำตาล เช่น กลูโคส กาแลคโตส และกลูตามิเนส เป็นต้น[8]
  • ถั่วแปบยังมีสารแคโรทีนหรือเบตาแคโรทีนและสารลูทีน (Lutein) ส่วนของรากถั่วแปบนั้นก็มีเอนไซม์อีกชนิดหนึ่ง รวมไปถึงกรดอะมิโนแยกอิสระอีกหลายชนิด ซึ่งสามารถนำไปใช้ในรักษาอาการท้องร่วง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เป็นริดสีดวงทวาร และใช้ถอนพิษฝี[8]
  • ถั่วแปบดิบจะมีสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวและมีสารซาโปนิน (Saponin) (สารกลุ่มละลายลิ่มเลือด) หากรับประทานเข้าไปะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน และมีอาการปวดศีรษะได้ จึงควรนำมาทำให้สุกก่อนนำมารับประทาน[8]

ประโยชน์ของถั่วแปบ

  1. ฝักถั่วแปบสามารถนำมาใช้ประกอบอาหาร โดยนิยมนำมาทำให้สุกก่อนนำมารับประทาน เช่น นำมาใส่แกง อย่างเช่นแกงส้ม หรือนำมาใช้ผัด ส่วนภาคอีสานจะใช้แกงซุปเช่นเดียวกับซุปบักมี่ หรือจะนำไปต้ม หรือนำมาลวกจิ้มเป็นผักจิ้มกินกับน้ำพริกต่าง ๆ ส่วนเมล็ดนำไปทอดรับประทาน[2],[5],[7]
  2. ต้นถั่วแปบสามารถปลูกเป็นพืชเพื่อช่วยปรับบำรุงดินได้ เนื่องจากต้นมีปมที่รากจับไนโตรเจนจากอากาศมาเปลี่ยนเป็นปุ๋ยไตเตรด หรือจะใช้เป็นปุ๋ยพืชสดก็ได้เช่นกัน แต่ไม่นิยมนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน เพราะคนโบราณเชื่อว่า คำว่า “แปบ” ใกล้เคียงกับคำว่า “ปอบ” ที่เปรียบเสมือนสิ่งชั่วร้ายนั่นเอง[4],[7]
  3. นอกจากนี้ยังใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดิน เพื่อช่วยป้องกันวัชพืชและช่วยรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้[7]
  4. เมล็ดแก่ของถั่วแปบนิยมนำมาใช้เป็นอาหารวัวและควาย[7]
  5. ถั่วแบบบางสายพันธุ์ นิยมใช้ปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงในทุ่งหญ้า[7]

คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดถั่วแปบอ่อน, ต้ม, สุก, แห้ง, ไม่ใส่เกลือ ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 50 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 9.2 กรัม
  • ไขมัน 0.27 กรัม
  • โปรตีน 2.95 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.056 มิลลิกรัม 5%
  • วิตามินบี 2 0.088 มิลลิกรัม 7%
  • วิตามินบี 3 0.48 มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินบี 9 47 ไมโครกรัม 12%
  • วิตามินซี 5.1 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุแคลเซียม 41 มิลลิกรัม 4%
  • ธาตุเหล็ก 0.76 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุแมกนีเซียม 42 มิลลิกรัม 12%
  • ธาตุแมงกานีส 0.21 มิลลิกรัม 10%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 49 มิลลิกรัม 7%
  • ธาตุโพแทสเซียม 262 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุสังกะสี 0.38 มิลลิกรัม 4%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (แหล่งที่มา : USDA Nutrient database)

คุณค่าทางโภชนาการของฝักถั่วแปบอ่อน ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 334 แคลอรี
  • น้ำ 12.1 กรัม
  • โปรตีน 21.5 กรัม
  • ไขมัน 1.2 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 61.4 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 6.8 กรัม
  • ธาตุแคลเซียม 98 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 3.9 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 345 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 1 0.40 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.12 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 1.8 มิลลิกรัม

แหล่งที่มา: ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม (กองโภชนาการ กรมอนามัย)[5]

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  “ถั่วแปบ”.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  หน้า 93.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “Hyacinth bean, Lablab”.  อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1 (เกรียงไกรและคณะ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [20 ม.ค. 2014].
  3. ข้อมูลพรรณไม้, พืชผักพื้นเมือง : ผักสวนครัว, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ถั่วแปบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [20 ม.ค. 2014].
  4. โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก.  “ถั่วแปบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.lrp.ac.th.  [20 ม.ค. 2014].
  5. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ถั่วแปบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable.  [20 ม.ค. 2014].
  6. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “Lablab”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Lablab.  [20 ม.ค. 2014].
  7. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 221 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  “ถั่วแปบ ผักพื้นบ้านชื่อไทยโบราณ”. (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [20 ม.ค. 2014].
  8. บ้านมหา.  “ถั่วแปบ ของวิเศษสำหรับต้านโรคมะเร็ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.baanmaha.com.  [20 ม.ค. 2014].
  9. ฐานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร.  “ถั่วแปบ สมุนไพร”.  อ้างอิงใน: การสำรวจพรรณไม้ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. ม.ป.พ. (กมลทิพย์ ประเทศ และคณะ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 202.29.15.9/rlocal/. [20 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด