ต้อเนื้อ (Pterygium) อาการ, สาเหตุ, การรักษาโรคต้อเนื้อ ฯลฯ

ต้อเนื้อ

ต้อเนื้อ หรือ ต้อลิ้นหมา (Pterygium) คือ โรคตาที่เกิดจากเยื่อบุตาที่เกิดการเสื่อมและหนาตัวขึ้นงอกไปบนกระจกตา (ตาดำ) ซึ่งมักพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา และจะค่อย ๆ โตลุกลามอย่างช้า ๆ เข้าไปในตาดำ ถ้าเป็นมากจะลามเข้าไปจนถึงกลางตาดำและปิดรูม่านตา ซึ่งจะปิดบังการมองเห็นทำให้ตามัวได้

ต้อเนื้อเป็นโรคที่พบได้มากในประเทศเขตร้อนที่ค่อนข้างแห้งแล้ง กันดาร และมีฝุ่นลมจัด (ประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายนั่นแหละครับ ส่วนประเทศที่มีอากาศหนาวจะไม่ค่อยพบคนเป็นโรคนี้) โรคนี้จึงเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่งในบ้านเราแทบทุกภาคของประเทศ แต่จะพบเป็นกันมากที่สุดในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ฯลฯ เป็นต้น มักพบหรือเกิดกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และจะพบได้มากในผู้ที่มีอายุระหว่าง 30-55 ปี (ยังไม่ค่อยพบโรคนี้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี คือ พบได้เหมือนกันแต่น้อยมาก และยังไม่พบโรคนี้เลยในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี) ส่วนอัตราการเกิดโรคนี้ในผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดได้พอ ๆ กัน

หมายเหตุ : หากเนื้องอกอยู่เฉพาะในส่วนที่เป็นตาขาวจะเรียกว่า “ต้อลม” แต่หากเนื้องอกจากตาขาวลามเข้าไปในตาดำจะเรียกว่า “ต้อเนื้อ

สาเหตุของโรคต้อเนื้อ

ต้อเนื้อเป็นความผิดปกติของเยื่อบุตา (บริเวณตาขาวชิดตาดำ) ที่เกิดจากการเสื่อมและหนาตัวขึ้น ทำให้กลายเป็นแผ่นเนื้อรูปสามเหลี่ยมสีแดง ๆ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ต้อเนื้อ หรือ ต้อลิ้นหมา เนื่องจากแผ่นเนื้อดังกล่าวมีสีแดงยื่นจากตาขาวเข้าสู่ตาดำเหมือนแผ่นเนื้อ

ส่วนสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดต้อเนื้อนั้นในปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่พบว่าการถูกแสงแดด (รังสีอัลตราไวโอเลต – UV) เป็นประจำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ นอกจากนี้ โรคตาแห้ง การถูกลม ฝุ่น ควัน ทราย ความร้อน สารเคมี และมลพิษทางอากาศเป็นประจำก็อาจทำให้เกิดโรคต้อเนื้อได้ด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้จึงพบโรคต้อเนื้อได้บ่อยในคนที่ทำงานกลางแจ้ง ซึ่งถูกแสงแดดเป็นประจำ เช่น ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง คนงานก่อสร้าง ผู้ที่ต้องรับเหมากลางแจ้ง วิศวกรสร้างทางหรือกรรมกรสร้างทาง นักกีฬากลางแจ้ง เป็นต้น และมีส่วนน้อยที่อาจพบได้ในผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสกับสิ่งระคายเคืองตาอื่น ๆ บ่อย ๆ เช่น คนทำครัว (ถูกควัน ไอร้อน) คนงานในโรงงาน (ถูกสารเคมี) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ผู้ป่วยบางรายจะมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย จึงเชื่อว่าปัจจัยทางด้านกรรมพันธุ์อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการเกิดต้อเนื้อได้ด้วย คืออย่างบางคนแม้จะไม่ได้เผชิญปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวเลยและทำงานอยู่แต่ในห้องแอร์ก็ยังเป็นโรคนี้ได้ หรือบางคนอายุแค่ 17-18 ปีก็เป็นโรคนี้กันแล้ว ซึ่งตามหลักแล้วไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้ นั่นแสดงว่าน่าจะเป็นจากกรรมพันธุ์นั่นเอง

อาการของโรคต้อเนื้อ

  • จะเห็นแผ่นเนื้อเยื่อรูปสามเหลี่ยมที่ยื่นจากตาขาวเข้าไปในกระจกตา (ตาดำ) ซึ่งอาจเป็นสีเหลืองและมีสีแดงบ้างเล็กน้อย และมีเส้นเลือดอยู่รอบ ๆ ต้อเนื้อ โดยส่วนมากมักจะเกิดที่ด้านหัวตา (ด้านในของตาส่วนที่อยู่ใกล้กับจมูก) และมีส่วนน้อยที่อาจเกิดที่ด้านหางตา ทั้งนี้เป็นเพราะส่วนของหัวตามีโอกาสกระทบกับสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดต้อเนื้อได้มากกว่าส่วนหางตานั่นเอง และประกอบกับการมีหลอดเลือดมาเลี้ยงในบริเวณที่หัวตามากกว่าด้วย (ในผู้ป่วยบางรายอาจมีต้อเนื้อทั้งหัวตาและหางตาพร้อมกันได้ และผู้ป่วยอาจเป็นต้อเนื้อที่ตาเพียงข้างเดียวหรือเป็นทั้งสองข้างเลยก็ได้)
  • ในบางครั้งหลังจากถูกแสงถูกลมมาก ๆ หรือนอนดึก อาจทำให้เห็นหลอดเลือดขยายมีลักษณะแดงเรื่อ ๆ ได้
  • โดยทั่วไปผู้ป่วยจะไม่รู้สึกมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นแต่อย่างใด นอกจากบางครั้งที่มีการอักเสบจะมีอาการเคืองตา แสบตา คันตา ตาแดง น้ำตาไหล หรือมีอาการปวดได้เล็กน้อย (อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นเมื่อถูกแดดถูกลม)
  • ในบางรายที่เป็นโรคต้อเนื้อนานเป็นแรมเดือนแรมปี ต้อเนื้ออาจยื่นเข้าไปถึงกลางตาดำ ทำให้บดบังสายตา ตามัว และมองไม่ถนัดได้
  • ต้อเนื้อแม้จะลุกลามได้แต่ก็ไม่ใช่มะเร็งและไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งได้ จึงไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดกับดวงตา จึงสามารถปล่อยทิ้งไว้เพื่อรอเวลาที่เหมาะสมต่อการผ่าตัดได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคต้อเนื้อ

  • โรคนี้ส่วนมากจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงเกิดขึ้นแต่อย่างใด ยกเว้นแต่ว่าต้อเนื้อจะยื่นเข้าไปปิดตาดำจนมิด ก็อาจจะบังสายตาทำให้มองไม่ถนัดได้ ซึ่งมักจะใช้เวลานานหลายปี เนื่องจากต้อเนื้อจะค่อย ๆ งอกลุกลามขึ้นอย่างช้า ๆ (โดยปกติก่อนจะถึงขั้นเป็นมากจนปิดตาดำ ผู้ป่วยจะต้องไปพบแพทย์ก่อนแล้ว เว้นแต่ในคนแก่ที่มักรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็อาจปล่อยปละละเลยจนปิดตามิดทั้ง 2 ข้าง ทำให้ตาบอดได้ ซึ่งการผ่าตัดลอกออกในกรณีนี้จะทำได้ยากและมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก)
  • ต้อเนื้อนี้อาจทำให้ดวงตารู้สึกระคายเคืองต่อฝุ่น ลม ได้มากขึ้น และทำให้เกิดอาการไม่สบายตา เช่น แสบร้อน และน้ำตาไหลได้บ้างเป็นครั้งคราว (การใช้ยาสามารถช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองนี้ได้)
  • ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมาก คือ การเกิดแผลเป็นที่กระจกตา ซึ่งอาจพบในรายที่เป็นมากและปล่อยให้มีการอักเสบบ่อย ๆ ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา

วิธีรักษาโรคต้อเนื้อ

  1. เมื่อมีความผิดปกติของตาหรือสายตา เช่น มีแผ่นเนื้อหรือก้อนเนื้อที่เยื่อตา หรือเมื่อกังวลใจในเรื่องเกี่ยวกับตา ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เสมอ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก ถึงแม้โรคตาส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เสียชีวิต แต่บางโรคที่ร้ายแรงก็อาจเป็นสาเหตุทำให้ตาบอดได้
  1. ถ้าได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นต้อเนื้อก็ไม่ต้องตกใจอะไร เพราะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง การรักษาทำได้ไม่ยาก แต่อย่าไปใช้สมุนไพรหรือวิธีโบราณที่เรียกว่าวิธีตัดต้อด้วยก้านกระเทียมบ้าง กระชายบ้าง เพราะนอกจากจะไม่หายแล้ว ยังอาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อรุนแรงได้อีกด้วย
  2. ในผู้ที่เป็นน้อย ๆ ถ้าไม่มีอาการอักเสบและต้อเนื้อยังไม่ลามเข้ากระจกตาหรือตาดำ ก็ยังไม่ต้องทำการรักษาหรือทำการผ่าตัดใด ๆ เพราะไม่อันตรายต่อตา แต่ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด ลม ฝุ่น และสิ่งระคายเคืองตาต่าง ๆ ถ้าต้องออกกลางแดด ควรสวมแว่นตาดำที่สามารถกันรังสีอัลตราไวโอเลต สวมหมวก และกางร่มเพื่อป้องกันมิให้ต้อเนื้อลุกลามมากขึ้น
  3. ถ้ามีอาการระคายเคืองตา ตาแดง หรือตาอักเสบ ให้ใช้ยาหยอดตาลดการอักเสบเป็นครั้งคราว (ส่วนมากแพทย์จะนิยมให้ยาแก้แพ้และยาที่มีฤทธิ์ทำให้เส้นหลอดเลือดหดตัว ซึ่งจะทำให้ต้อเนื้อที่แดงซีดลงได้) แต่ถ้ายังไม่ได้ผลหรืออักเสบมาก แพทย์อาจให้ใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ (Steroid eye drops) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสบายตาได้เร็ว (ยาหยอดตาเหล่านี้ไม่สามารถทำให้ต้อเนื้อหายไปได้) แต่ควรหลีกเลี่ยงหรือใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เมื่อดีขึ้นแล้วให้หยุดใช้ เพราะการใช้ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจากยา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน ซึ่งรุนแรงและอันตรายกว่าต้อเนื้อมากนัก
    • การใช้ยาหยอดตาให้ใช้เท่าที่จำเป็น หรือใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น มิใช่หยอดไปเรื่อย ๆ เพราะบ่อยครั้งที่แพทย์สั่งยาหยอดตาให้ 1 ขวด เมื่อหมดขวดแล้วผู้ป่วยก็นำตัวอย่างไปซื้อมาหยอดเองอีกและหยอดต่อไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่จำเป็น
  4. สำหรับการผ่าตัดให้รอจนกระทั่งต้อเนื้อลามเข้าไปในกระจกตาดำพอสมควรก่อน (สักประมาณ 3-4 มิลลิเมตร) และ/หรือเมื่อต้อเนื้อมีอาการมากจนมีผลต่อการมองเห็น (ตามัว) และมีทีท่าว่าจะลามต่อไปเรื่อย ๆ แล้วจึงค่อยไปโรงพยาบาลเพื่อทำการผ่าตัดลอกต้อเนื้อออก ซึ่งการผ่าตัดต้อเนื้อนี้เป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากนัก เพียงแค่หยอดหรือฉีดยาชาเฉพาะที่เพียงเล็กน้อยตรงบริเวณที่เป็นต้อเนื้อ จึงช่วยไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดอะไรมากในระหว่างทำ แล้วแพทย์จะใช้เวลาเอาออกประมาณ 15-30 นาทีเท่านั้น โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล
    • ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุยังน้อยและต้อเนื้อยังเป็นไม่มาก หากรีบทำการผ่าตัด โอกาสที่ต้อเนื้อจะกลับมาเป็นซ้ำอีกจะมีสูงมาก และต้อเนื้อที่งอกขึ้นมาใหม่นี้มักจะลุกลามอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดการระคายเคืองได้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นเพียงต้อลม ดังนั้น เมื่อแพทย์อธิบายว่าไม่เป็นอันตรายหรือยังไม่ต้องผ่าตัด ผู้ป่วยก็ควรรับฟังด้วยความเข้าใจ เพราะมีบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยคำนึงถึงความสวยความงามมากเกินไปและอยากเอาออกทันที แต่หารู้ไม่ว่าในรายที่ผ่าตัดลอกต้อเนื้อออกไปแล้วก็อาจเกิดต้อเนื้อกลับมาเป็นซ้ำและมีขนาดที่ใหญ่กว่าเดิมอีก
    • ประมาณ 30% ของผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดลอกต้อเนื้อออกแล้วจะมีโอกาสที่ต้อเนื้อจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก (โดยในคนวัยหนุ่มสาวจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูงกว่าผู้สูงอายุ) ซึ่งในปัจจุบันสามารถป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของต้อเนื้อได้โดยการวางแร่รังสีบีตาในบริเวณแผลที่ลอกเพื่อเข้าไปช่วยทำลายหลังการผ่าตัด หรือใช้ยาหยอดตาบางชนิด เช่น ไมโตมัยซินซี (Mitomycin C – MMC) หยอดหลังการผ่าตัด ซึ่งก็พบว่าได้ผลดีมาก (มีอัตรากลับมาเป็นซ้ำไม่ถึง 1%) แต่ผู้ป่วยก็ต้องหลีกเลี่ยงการถูกแดด ลม ฝุ่น และความร้อนร่วมด้วย มิฉะนั้นแม้จะใช้ยาป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ การกลับมาเป็นซ้ำก็มีอยู่เสมอ
    • ในรายที่มีต้อเนื้อกลับมาเป็นซ้ำหลังการผ่าตัด ควรทำการผ่าตัดลอกต้อเนื้อซ้ำอีก ซึ่งมักจะช่วยให้หายขาดได้ (การผ่าตัดลอกต้อเนื้อสามารถทำได้เรื่อย ๆ ส่วนมากการผ่าตัดเพียง 2 ครั้งก็ช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดได้แล้ว แต่จะมีเฉพาะผู้ป่วยบางรายเท่านั้นที่อาจต้องผ่าตัดครั้งที่ 3)

การผ่าตัดต้อเนื้อ

การผ่าตัดลอกต้อเนื้อควรทำผ่านกล้องจุลทรรศน์โดยจักษุแพทย์ เพราะหลังจากลอกต้อเนื้อไปแล้วครั้งหนึ่ง ผู้ป่วยบางรายอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกและมักจะเป็นมากกว่าเดิม (ต้อเนื้อที่ขึ้นมาใหม่นี้จะแดงหนาและอักเสบมากกว่าเดิม) และการรักษาโดยการลอกต้อเนื้อใหม่อีกครั้งจะทำได้ยากกว่าการลอกครั้งแรก ดังนั้นการดูแลหลังการผ่าตัดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับการผ่าตัดลอกต้อเนื้อนั้นจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ดังนี้

  1. การลอกต้อเนื้อ (Bare sclera) เป็นวิธีการลอกต้อเนื้อออกจากเยื่อตาขาวและส่วนที่ติดอยู่บนตาดำออก ซึ่งการลอกด้วยวิธีนี้จะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอายุมาก ๆ หรือในผู้ป่วยต้อเนื้อที่ไม่มีการอักเสบเลย
  2. การลอกต้อเนื้อและใช้เยื่อบุตามาแปะ (Conjunctival graft) เป็นการทำแบบวิธีแรกร่วมกับการตัดเอาเยื่อตาขาวจากด้านบนของลูกตามาแปะลงบริเวณตาขาวที่ได้รับการลอกต้อเนื้อออกไปแล้ว และเย็บด้วยไหมหรือใช้กาวไฟบริน (Fibrin glue) ซึ่งเป็นวิธีที่ดีมากที่ช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. การลอกต้อเนื้อและเอาเยื่อหุ้มรกมาแปะ (Amnion graft) เป็นการใช้เยื่อหุ้มรกซึ่งผ่านการเตรียมและเก็บรักษาไว้มาแปะแทนเยื่อบุตา ซึ่งจะใช้กับผู้ป่วยที่เป็นต้อเนื้อครั้งแรก ต้อเนื้อมีขนาดใหญ่ หรือจำเป็นต้องเก็บเยื่อบุตาไว้สำหรับรักษาโรคอื่น วิธีนี้มีข้อดีคือ ไม่ต้องลอกเยื่อบุตาของผู้ป่วยเอง แต่มีข้อเสียคือ ความสวยงามจะสู้การใช้เยื่อบุตาธรรมชาติของผู้ป่วยมาแปะไม่ได้ และในกรณีที่ต้อเนื้อมีขนาดใหญ่มาก ๆ การใช้เยื่อบุตาธรรมชาติอาจจะไม่พอ จึงจำเป็นต้องใช้เยื่อหุ้มรกมาแปะ

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต้อเนื้อ

  • ในรายที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด ควรหยุดใช้ยานี้ก่อนเข้ารับการผ่าตัดต้อเนื้อเป็นเวลา 7 วัน
  • ในวันเข้ารับการผ่าตัดควรล้างหน้าและสระผมให้เรียบร้อย เนื่องจากหลังผ่าตัดจะห้ามไม่ให้โดนน้ำ 7 วัน
  • ในการผ่าตัดลอกต้อเนื้อจะทำโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ โดยก่อนจะทำการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการหยอดยาชาและยาปฏิชีวนะก่อนเข้าห้องผ่าตัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ในกรณีที่ใช้เยื่อบุตาหรือเยื่อหุ้มรกมาแปะ การผ่าตัดต่อหัวจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที แต่ถ้าลอกต้อเพียงอย่างเดียวจะใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที
  • หลังการผ่าตัดผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล (เว้นแต่ว่าผู้ป่วยอยากจะนอนพักในโรงพยาบาลเอง)
  • สำหรับอันตรายจากการผ่าตัดโรคต้อเนื้อนั้นไม่มี ถ้าผู้ป่วยไม่แพ้ยาชาเฉพาะที่มาก่อน

การดูแลหลังการผ่าตัดต้อเนื้อ

  • ห้ามโดนน้ำเป็นเวลา 7 วัน (ไม่ต้องครอบที่ครอบก่อนนอน)
  • โดยปกติหลังการผ่าตัดแพทย์จะให้ปิดตาแน่นประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้แผลที่กระจกตาสมานดี หลังจากนั้นคนไข้ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
  • ถ้ามีอาการปวดตามาก ให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เป็นต้น และอาจให้ยานอนหลับไดอะซีแพม (Diazepam) ในช่วง 1-3 วันแรก
  • หลังจากแผลที่กระจกตาปิดแล้ว ให้เริ่มหยอดยาปฏิชีวนะผสมสเตียรอยด์ เช่น Tobradex และให้ใช้น้ำตาเทียมร่วมด้วยเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
  • ไปพบแพทย์ตามนัด ซึ่งในกรณีที่ใช้วิธีแปะเยื่อบุตาหรือเยื่อหุ้มรกและเย็บแผล แพทย์จะนัดให้มาตัดไหมอีกประมาณ 7-10 วัน

วิธีป้องกันโรคต้อเนื้อ

  • สิ่งสำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการเผชิญสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยของการเกิดต้อเนื้อ โดยเฉพาะการถูกแสงแดดจัด ๆ (โดยเฉพาะแสงแดดในช่วงเวลา 10 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมงเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่แดดจัด รังสีอัลตราไวโอเลตค่อนข้างสูง) การถูกลมโกรกบ่อย ๆ สถานที่ที่มีลมโกรกบ่อย ๆ มีฝุ่น ควัน หรือสิ่งระคายเคืองตาอื่น ๆ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงไอร้อน ๆ ที่อาจกระทบบริเวณใบหน้าด้วย โดยเฉพาะพ่อครัวแม่ครัวที่ต้องทำอาหารเกือบทั้งวัน
  • ถ้าต้องออกจากบ้านหรือต้องเผชิญกับแสงแดด ลม ฝุ่น ควัน สิ่งระคายเคืองตาอื่น ๆ ควรสวมแว่นกันแดดที่สามารถป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้ สวมหมวกปีกกว้าง และกางร่มอยู่เสมอก็จะช่วยได้มาก
  • ควรพักสายตาเป็นพัก ๆ หรือล้างหน้าล้างตาเมื่อรู้สึกแสบตา
  • สำหรับคนที่ตาแห้งควรหยอดน้ำตาเทียม

ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคต้อเนื้อ

  • โรคต้อเนื้อไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ใช่มะเร็งและไม่สามารถเปลี่ยนเป็นโรคมะเร็งได้ และไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
  • ต้อเนื้อเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด และไม่มียาที่ใช้กัดต้อเนื้อให้หลุดออกได้ ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือแผนโบราณก็ตาม (เพราะถ้ามีก็คงกัดเยื่อตาส่วนอื่นที่ยังปกติไปด้วย)
  • ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยาหยอดตาที่มีตัวยาสเตียรอยด์ผสมอยู่ (Steroid eye drops) มาใช้ด้วยตัวเอง เนื่องจากหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ต้อเนื้อกลายเป็นต้อหินตาบอดได้
  • มีหลายคนเข้าใจผิดว่าต้อเนื้อเกิดจากการรับประทานเนื้อ จึงป้องกันโดยการไม่รับประทานเนื้อ เพราะเกรงว่าจะทำให้เป็นมากขึ้น ซึ่งไม่ถูกต้องและเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าโรคนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการรับประทาน เพราะคำว่า “เนื้อ” ในที่นี้มาจากลักษณะของโรคที่เห็นเป็นก้อนเนื้องอกขึ้นมา
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีตุ่มนูน สีขาวเหลือง รูปสามเหลี่ยมหรือหลายเหลี่ยมเล็ก ๆ เกิดขึ้นตรงขอบตาดำด้านหัวตาหรือหางตา (ตรงกับบริเวณที่เป็นต้อเนื้อ) ซึ่งมักจะเป็นกับตาทั้ง 2 ข้าง เรียกว่า ต้อลม (Pinguecula) โดยมีสาเหตุการเกิดเช่นเดียวกับโรคต้อเนื้อ แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ลุกลามเข้าตาดำ และไม่ต้องทำการรักษาแต่อย่างใด นอกจากในบางครั้งที่ผู้ป่วยอาจมีอาการอักเสบเคืองตา ก็ให้ใช้ยาหยอดตาลดการอักเสบเช่นเดียวกับโรคต้อหิน ส่วนการผ่าตัดลอกออกนั้น แพทย์มักจะไม่แนะนำให้ทำ เพราะอาจจะทำให้เกิดรอยแผลเป็น ทำให้ดูไม่สวยงามได้ และส่วนใหญ่มักกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ต้อเนื้อ/ต้อลิ้นหมา (Pterygium)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 948-950.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 66 คอลัมน์ : โรคน่ารู้.  “โรคต้อเนื้อ”.  (นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [06 ธ.ค. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “ต้อเนื้อ (Pterygium) ต้อลม (Pinguecula)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุตย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [06 ธ.ค. 2016].
  4. Laser Vision International LASIK Center,.  “โรคต้อเนื้อ (Pterygium)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.laservisionthai.com.  [06 ธ.ค. 2016].
  5. Siamhealth.  “โรคต้อเนื้อและต้อลม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [06 ธ.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด