ตีนนก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นตีนนก 5 ข้อ !

ตีนนก

ตีนนก ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex pinnata L. จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1]

สมุนไพรตีนนก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สมอป่า สมอหิน สวองหิน (นครราชสีมา), ตะพุน ตะพุนทอง ตะพุ่ม (ตราด), เน่า (ลพบุรี), สมอตีนนก (ราชบุรี), ไข่เน่า (นครราชสีมา, ลพบุรี), กะพุน ตะพรุน (จันทบุรี), กานน สมอกานน (ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์), นนเด็น (ปัตตานี), กาสามปีก (ภาคเหนือ), ตีนนก สมอบ่วง (ภาคกลาง), โคนสมอ (ภาคตะวันออก), นน สมอตีนเป็ด (ภาคใต้), ลือแม (มาเลย์-นราธิวาส), ไม้ตีนนก (ไทลื้อ) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของตีนนก

  • ต้นตีนนก จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลิใบใหม่ได้ไว ลำต้นเปลาตรง มีความสูงได้ประมาณ 5-10 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มแผ่กว้างทึบ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นสะเก็ดยาว ตามกิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมสี่มุมตามยาว ทั้งกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าชายหาด และชายป่าพรุทั่วทุกภาคของประเทศ[1],[2]

ต้นตีนนก

  • ใบตีนนก ใบเป็นใบประกอบแบบฝ่ามือ มีใบย่อย 3-5 ใบ ออกจากจุดเดียวกัน เรียงแบบตรงข้ามและตั้งฉาก ก้านช่อใบยาวประมาณ 5-14 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยไม่มี ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปใบหอกถึงรูปไข่แกมใบหอก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-13 เซนติเมตร ใบย่อยตรงกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ เนื้อใบหนา หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม มีขนสาก ๆ ขึ้นประปราย ส่วนท้องใบมีสีจางและมีขนนุ่มขึ้นหนาแน่น เส้นแขนงใบมี 8-14 คู่ เส้นใบย่อยเป็นแบบเส้นร่างแห มองเห็นได้ชัดเจนทางด้านท้องใบ ยอดอ่อนมีขนคล้ายกำมะหยี่ ผิวใบด้านบนเรียบ ส่วนด้านล่างมีขนสั้น ๆ ขึ้นหนาแน่น ขนนุ่ม ก้านใบแผ่เป็นปีก ก้านใบย่อยสั้นมาก[1],[2]

ใบตีนนก

  • ดอกตีนนก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง โดยจะออกที่ซอกใบและที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบบนมี 4 กลีบ ส่วนกลีบล่างมี 1 กลีบ กลีบดอกเป็นสีน้ำเงินหรือสีม่วงอ่อน โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปถ้วย ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน ติดกับหลอดกลีบดอก แบ่งเป็นอันยาว 2 อัน สั้น 2 อัน เกสรเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกจะมี 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปหลอดรูปถ้วย ปลายแยกเป็นติ่งรูปสามเหลี่ยม มีขนสั้น ไม่มีก้านดอก[1] ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[2]

ดอกตีนนก

  • ผลตีนนก เป็นผลเดี่ยว สด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงถึงดำ ภายในมีเมล็ดเดียวแข็ง[1] เป็นผลในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม[2]

รูปตีนนก

ผลตีนนก

สรรพคุณของตีนนก

  • เปลือกต้น แก่น และราก นำมาบดให้เป็นผง ใช้ละลายกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ (เปลือกต้น, แก่น, ราก)[1]
  • รากมีสรรพคุณเป็นยาช่วยขับลม (ราก)[1],[2]
  • ผลใช้เป็นยาแก้บิด (ผล)[2]
  • ใบใช้ตำพอกแผล (ใบ)[1],[2]

ประโยชน์ของตีนนก

  • เนื้อไม้ตีนนกมีความแข็งแรง ทนทาน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้างบ้านเรือน ทำที่อยู่อาศัย เครื่องมือทางการเกษตร และใช้ในการทำเชื้อเพลิง[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ตีนนก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [16 ก.ค. 2015].
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ตีนนก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [16 ก.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Siyang Teo, Zaharil Dzulkafly)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด