ตะคริว อาการ สาเหตุ และวิธีแก้ตะคริว 10 วิธี !!

ตะคริว

ตะคริว (Muscle cramps) หมายถึง อาการเกร็งตัวหรือหดเกร็งที่ทำให้มีอาการปวดและเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยที่เราไม่สามารถบังคับได้ ร่วมกับมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดที่เกิดการหดเกร็ง แต่จะเป็นอยู่เพียงชั่วขณะแล้วอาการจะทุเลาลงไปเอง ตะคริวอาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายก็ได้ อาจเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลาย ๆ มัดพร้อมกันก็ได้ โดยมักเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกาย ขณะเดิน หรือในขณะนั่งพักหรือนอนพักเป็นเวลานาน ๆ

ตะคริวเกิดได้กับกล้ามเนื้อลายทุกมัด (Striated muscle) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ของร่างกายที่เราพบได้โดยทั่วไปใต้ผิวหนัง แต่กล้ามเนื้อที่เกิดตะคริวได้บ่อยที่สุดก็คือ “กล้ามเนื้อน่อง” รองลงมาคือ กล้ามเนื้อต้นขาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง กล้ามเนื้อเท้า และกล้ามเนื้อหลัง โดยโอกาสในการเกิดที่ขานั้นมีเท่ากันทั้งข้างซ้ายและข้างขวา

ตะคริวเป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดในผู้หญิงและผู้ชายก็ใกล้เคียงกัน แต่สถิติการเกิดที่ชัดเจนยังไม่มี เพราะเป็นอาการที่หายได้เองโดยไม่ต้องไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าประมาณ 1 ใน 3 ของคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมักเคยเกิดอาการนี้ และประมาณ 40% ของคนกลุ่มนี้ อาจเกิดอาการซ้ำได้ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์

สาเหตุการเป็นตะคริว

ในปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกที่แท้จริงของการเกิดตะคริว แต่จากการศึกษาเชื่อว่าอาจเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้มีการยืดตัวบ่อย ๆ จึงทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่ายเมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นมากเกินไป นอกจากนั้นยังเชื่อว่าอาจเกิดจากเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติไป หรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดี เป็นต้น

โดยส่วนใหญ่แล้วตะคริวจะเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน (Idiopathic cramps) แต่มีเพียงส่วนน้อยที่พอทราบสาเหตุอยู่บ้าง (Secondary cramps) ซึ่งมักจะเกิดจากการนั่ง ยืน หรือทำงานอยู่ในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ การใช้กล้ามเนื้อมากเกินไปหรือจนกล้ามเนื้ออ่อนล้าหรืออ่อนแรง การออกกำลังที่ใช้แรงจนเกินกำลัง ออกกำลังกายที่ไม่คุ้นเคย หรือออกกำลังกายติดต่อกันนาน ๆ (เช่น การว่ายน้ำ วิ่งทางไกล การเล่นกีฬาหนัก การยกของหนัก หรือในการงานอาชีพที่ต้องยืนหรือเดินเป็นเวลานาน ๆ) การออกกำลังหรือทำงานในที่ที่มีอากาศร้อน หรือการออกกำลังกายโดยที่ไม่ได้อบอุ่นร่างกาย นอกจากนี้ตะคริวยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ได้แก่

  • การดื่มน้ำน้อย ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ (มักเป็นสาเหตุในผู้สูงอายุ)
  • การดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์มีผลเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ ร่างกายจึงมักขาดน้ำรวมทั้งกล้ามเนื้อ
  • เกิดจากอายุที่มากขึ้น ทำให้เซลล์ทุกชนิดในร่างกายเสื่อมถอยลง ซึ่งรวมถึงเซลล์เนื้อ จึงมักพบอาการนี้ได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ
  • สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ จึงส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อลดลง รวมทั้งการขาดการออกกำลังยืดกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อตึงจนเกิดเป็นตะคริว
  • ภาวะการตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับแคลเซียมในเลือดต่ำหรือการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่สะดวก
  • ภาวะเกลือแร่ในเลือดต่ำ หรือร่างกายเสียสมดุลของเกลือแร่ที่ใช้ในการทำงานของกล้ามเนื้อที่สำคัญ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม จากอาการท้องเดิน อาเจียน เสียเหงื่อมากจากการทำงาน การเล่นกีฬา อากาศที่ร้อน หรือจากโรคเรื้อรังของอวัยวะที่ควบคุมเกี่ยวกับน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย เช่น โรคไตเรื้อรัง
  • การได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการกระทบกระแทก ทำให้เกิดการฟกช้ำที่กล้ามเนื้อ
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ (Diuretic drugs), ยาลดไขมัน (Nicotinic acid), ไนเฟดิพีน (Nifedipine – ยาลดความดัน), ซาลบูทามอล (Salbutamol – ยาขยายหลอดลม), ไซเมทิดีน (Cimetidine – ยารักษาโรคกระเพาะ), เพนิซิลลามีน (Penicillamine), ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine), ราโลซิฟีน (Raloxifene), มอร์ฟีน, สเตียรอยด์ ฯลฯ
  • ภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายแข็ง หรือหลอดเลือดตีบตัน จึงส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี กล้ามเนื้อจึงขาดเลือด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ผู้สูบบุหรี่จัด อาจเป็นตะคริวที่ขาได้บ่อยในขณะที่ออกกำลัง เดินเป็นเวลานาน ๆ หรือเดินเป็นระยะทางไกล ๆ หรือเป็นในขณะที่อากาศเย็นตอนดึกหรือเช้ามืดเนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี
  • รากประสาทถูกกด เช่น โรคโพรงกระดูกสันหลังแคบ (Spinal stenosis) ที่ส่งผลให้ประสาทสั่งงานกล้ามเนื้อผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมักมีอาการตะคริวที่น่องในขณะเดินเป็นเวลานาน ๆ หรือเดินเป็นระยะทางไกล ๆ
  • ตะคริวที่พบร่วมกับโรคเรื้อรังหรือภาวะอื่น ๆ เช่น โรคพาร์กินสัน, โรคโลหิตจาง, โรคเบาหวาน (ทำให้เกิดความผิดปกติในการใช้พลังงานของร่างกาย), ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, โรคของต่อมไทรอยด์ ภาวะขาดไทรอยด์ ภาวะขาดพาราไทรอยด์ (เกิดความผิดปกติทางฮอร์โมน และรวมไปถึงการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดซึ่งเป็นยาฮอร์โมน), โรคตับและโรคไต ตับแข็ง ไตวาย (เพราะตับและไตมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสมดุลของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย) เป็นต้น

ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นตะคริว

  • ผู้ที่ยืน เดิน นั่ง หรือนอนเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะส่งผลทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดีพอ
  • กลุ่มผู้สูงอายุ
  • นักกีฬา ผู้ที่ชอบเล่นกีฬา หรือผู้ที่ทำงานในอาชีพที่ต้องใช้แรงงานและอยู่กลางแดด
  • หญิงตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักของท้องจะไปกดทับหลอดเลือดขนาดใหญ่ในช่องท้อง จึงส่งผลทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังกล้ามเนื้อต่าง ๆ ไม่ดีพอ อีกทั้งกล้ามเนื้อขายังต้องแบกรับน้ำหนักของท้องที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดได้จากฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะตั้งครรภ์ จึงส่งผลถึงการทำงานของกล้ามเนื้อ
  • เด็กอายุมากกว่า 12 ปี (ช่วงสูงสุดที่เกิดคือ 16-18 ปี)
  • ผู้ที่ชอบห่มผ้าห่มจนรัดช่วงขามากเกินไป โดยเฉพาะการปูเตียงนอนแบบตะวันตก จึงทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณขาจึงลดลงและมักเป็นสาเหตุทำให้เป็นตะคริวในช่วงกลางคืน
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • การรับประทานยาบางชนิดตามที่กล่าวมา
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือภาวะต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา และไม่ได้รับการควบคุมและรักษาให้เป็นปกติ

อาการเป็นตะคริว

ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น น่อง ต้นขา ฯลฯ มีการแข็งเกร็งและปวดมาก เมื่อเอามือไปคลำดูจะรู้สึกแข็งเป็นก้อน ๆ ถ้าพยายามขยับเขยื้อนกล้ามเนื้อส่วนนั้นจะทำให้ยิ่งแข็งตัวและปวดมากขึ้น (การนวดและยืดกล้ามเนื้อส่วนที่มีอาการจะช่วยทำให้ตะคริวหายเร็วขึ้น) ส่วนใหญ่แล้วอาการมักเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกาย ขณะเดิน นั่งพัก นอนพัก หรือทำงานอยู่ในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ แต่ถ้าเป็นตะคริวในขณะนอนหลับ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดจนสะดุ้งตื่นเอง

โดยทั่วไปอาการตะคริวจะเป็นอยู่เพียงชั่วขณะเพียงไม่กี่วินาที โดยทั่วไปมักเกิดไม่เกิน 2 นาที แต่อาจมีบางรายเกิดนานได้ถึง 5-15 นาที แล้วอาการแข็งเกร็งจะหายไปได้เอง ซึ่งภายหลังกล้ามเนื้อคลายตัวแล้ว อาจยังมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดนั้นอยู่นานเป็นนาที เป็นชั่วโมง หรือเป็นวันก็ได้ แต่อาการปวดหรือเจ็บจะน้อยกว่าช่วงกล้ามเนื้อหดเกร็ง แต่ยังสามารถใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นได้ตามปกติ เมื่อหายแล้วผู้ป่วยจะรู้สึกเป็นปกติทุกอย่าง ไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วยแต่อย่างใด

ตะคริวเกิดจากอะไร

ในบางรายอาจมีอาการตะคริวที่ขาในขณะนอนหลับตอนกลางคืนจนสะดุ้งตื่น หรือที่เรียกว่า “ตะคริวตอนกลางคืน” (Nocturnal leg cramps, Night leg cramp) ซึ่งมักเกิดกับกล้ามเนื้อขา และพบได้บ่อยในคนวัยกลางคนและวัยสูงอายุ หรือในบางรายอาจเป็นตะคริวในขณะออกกำลังหรือทำงานในที่ที่มีอากาศร้อน ที่เรียกว่า “ตะคริวจากความร้อน” (Heat cramps)

เป็นตะคริวที่น่อง

สำหรับผู้ที่เขียนหนังสือติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจเกิดตะคริวที่นิ้วหรือมือได้ ซึ่งเรียกว่า “ตะคริวนักเขียน” (Writer’s cramps, Graphospasm) และอาจพบได้ในช่างทาสีหรือเกษตรกรที่ใช้มือจับหรือหยิบอุปกรณ์ใช้งานเป็นเวลานาน ๆ

อาการตะคริว

ภาวะแทรกซ้อนของตะคริว

คนส่วนใหญ่มักเป็นตะคริวเพียงชั่วขณะแล้วทุเลาไปเอง ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด ยกเว้นอาการปวดในขณะที่เกิดอาการหรือภายหลังจากเกิดอาการ ซึ่งมักจะหายไปได้เองภายไม่กี่นาทีหรือไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่หากเป็นตะคริวในขณะว่ายน้ำ เล่นกีฬา หรือขับรถก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดอันตรายจากการจมน้ำ หกล้ม หรือขับรถเฉี่ยวชนได้

ตะคริวเป็นอาการไม่รุนแรงและมักหายไปได้เองโดยเฉพาะตะคริวที่ไม่ทราบสาเหตุ แต่ในตะคริวที่เกิดโดยมีสาเหตุ ถึงแม้จะเป็นอาการที่ดูแลให้หายเองได้ แต่ก็ต้องรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุด้วย มิฉะนั้นก็จะเกิดตะคริวได้บ่อย ๆ ซึ่งความรุนแรงของตะคริวในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิด เช่น เกิดจากโรคเบาหวาน เกิดโรคของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

การวินิจฉัยสาเหตุของตะคริว

แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากการดูประวัติอาการ (เป็นตะคริวแต่ละครั้งนานแค่ไหน ตะคริวเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน เกิดบ่อยหรือไม่) ประวัติการทำงานหรืออาชีพ การเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์ ประวัติโรคประจำตัว และยาที่ใช้อยู่เป็นประจำ ร่วมกับการตรวจร่างกาย (ในขณะที่เป็นตะคริวจะพบกล้ามเนื้อเกร็งแข็งบริเวณที่เป็นตะคริว) และหาสาเหตุของการเป็นตะคริวได้จากประวัติทางการแพทย์ต่าง ๆ รวมทั้งอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจเอกซเรย์ โดยขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ความผิดปกติที่ตรวจพบ และดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน ตรวจเลือดเพื่อดูฮอร์โมนไทรอยด์ ในรายที่สงสัยว่าเป็นโรคต่อมไทรอยด์ หรือตรวจภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็ก MRI เพื่อดูภาพของกระดูกสันหลัง ช่องสันหลัง และไขสันหลัง ในรายที่สงสัยว่ามีสาเหตุมาจากโรคของอวัยวะดังกล่าว

วิธีรักษาตะคริว

  • สิ่งสำคัญอันดับแรกเมื่อเป็นตะคริว คือ การหยุดพักการเคลื่อนไหวหรือใช้งานกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตะคริวชั่วคราว จนกว่าอาการตะคริวจะหายไป
  • จากนั้นให้ทำปฐมพยาบาลด้วยการใช้มือนวดกล้ามเนื้อมัดที่เป็นตะคริวเบา ๆ จนกว่ากล้ามเนื้อจะคลายตัว ถ้าหากกล้ามเนื้อคลายตัวแล้ว อาจนวดต่อด้วยการใช้มือบีบนวดไล่จากเอ็นร้อยหวายขึ้นมาจนถึงข้อเข่า ซึ่งจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น หรือจะใช้วิธียืดกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้ตึงด้วยวิธีดังต่อไปนี้ก็ได้
    1. ถ้าเป็นตะคริวที่น่อง ให้เหยียดหัวเข่าให้ตรงและดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาหัวเข่าให้ได้มากที่สุดอย่างช้า ๆ (ห้ามทำการกระตุกหรือกระชากอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้เจ็บปวดจนกล้ามเนื้อฉีกขาดได้) และอาจเอื้อมมือไปดึงปลายเท้าเข้าหาตัวด้วยก็ได้ โดยให้ทำค้างไว้ประมาณ 1-2 นาที
    2. ถ้าเป็นตะคริวที่ต้นขา ให้เหยียดหัวเข่าให้ตรง ยกเท้าขึ้นให้สูงจากพื้นเล็กน้อยและกระดกปลายเท้าลงล่าง (ไปทางด้านตรงข้ามกับหัวเข่า) โดยให้ทำค้างไว้ประมาณ 1-2 นาทีเช่นกัน
      แก้ตะคริว
  • ในช่วงที่กล้ามเนื้อหดเกร็งมาก ให้ใช้วิธีประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการลงได้ หรือเมื่อมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมาก การประคบเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการนี้ได้
    วิธีแก้ตะคริว
  • เมื่อมีอาการปวดหลังกล้ามเนื้อคลายตัวหรือหลังตะคริวหายแล้ว ให้กินยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือทายานวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด แต่ยานี้ไม่สามารถช่วยลดอาการปวดในช่วงกล้ามเนื้อหดเกร็งได้ เพราะยายังออกฤทธิ์ไม่ทัน
  • ถ้าสาเหตุการเป็นตะคริวเกิดจากระดับโซเดียมในเลือดต่ำ เช่น เกิดจากอาการท้องเดิน อาเจียน ออกกำลังหรือทำงานในที่ที่มีอากาศร้อน เหงื่อออกมาก ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ แต่ถ้าดื่มไม่ได้ แพทย์อาจให้น้ำเกลือนอร์มัลทางหลอดเลือดดำ
  • ถ้าเป็นตะคริวในขณะเข้านอนตอนกลางคืนบ่อย ๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์ ก่อนนอนควรดื่มนมให้มากขึ้นและยกขาให้สูงโดยใช้หมอนรองให้สูงขึ้นจากเตียงประมาณ 10 เซนติเมตร หรือประมาณ 4 นิ้ว และสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นตะคริวเป็นประจำ แพทย์อาจให้กินยาเม็ดแคลเซียมแล็กเทตวันละ 1-3 เม็ด
  • ในรายที่เป็นตะคริวบ่อย ๆ เป็นตะคริวแบบเป็น ๆ หาย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นในขณะที่เดินเป็นเวลานาน ๆ หรือในขณะนอนหลับ ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาไปตามสาเหตุ เพราะอาการตะคริวอาจพบร่วมกับโรคหรือภาวะอื่น ๆ ได้ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคเบาหวาน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคโลหิตจาง โรคของต่อมไทรอยด์ โรคตับและไต ฯลฯ ส่วนในรายเป็นตะคริวแล้วมีอาการปวดมาก (อาการไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลตนเองหรือหลังจากตะคริวหายไป) อาการตะคริวไม่ดีขึ้นหรือไม่หายไปหลังจากดูแลตนเองเป็นเวลานานเกินกว่า 30 นาที หรือเมื่อมีความกังวลในอาการ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเช่นกัน
    1. เมื่อมาพบแพทย์ แพทย์อาจให้ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากิน ยาฉีด ให้เกลือแร่ และ/หรือยาชา ซึ่งยาต่าง ๆ เหล่านี้ยังให้ผลการรักษาได้ไม่ชัดเจน แต่จะได้ผลดีในผู้ป่วยบางราย อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ในบางราย เช่น อาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มีเสียงในหู และอาการอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ เลือดออกง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และอาจทำให้ไตวายได้ ดังนั้น โดยทั่วไปจึงมักไม่ค่อยใช้วิธีนี้กัน (การใช้ยาต่าง ๆ จึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามากินเอง)
    2. ในผู้ที่เป็นตะคริวตอนกลางคืนเป็นประจำโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แพทย์อาจให้กินยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ขนาด 50 มิลลิกรัมก่อนเข้านอนทุกคืน ซึ่งอาจจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นตะคริวในขณะเข้านอนได้ (นอกจากไดเฟนไฮดรามีนแล้ว ยังมีการใช้ยาอีกหลายชนิด เช่น Diltiazem, Quinine sulfate, Vitamin E, Vitamin B complex, Phenytoin ฯลฯ ในการรักษาตะคริว แต่ก็ยังไม่มีรับรองผลในการรักษาเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Quinine sulfate ซึ่งเป็นยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรคมาลาเรีย แต่มีการนำมาใช้ในการรักษาตะคริวแล้วพบว่าให้ผลที่ดีในการรักษา แต่อย่างไรก็ดีผู้ที่รับประทานยานี้อาจได้รับความเสี่ยงจากการแพ้ยาที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ ส่วนยาที่สมาคมประสาทวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Neurology) ได้ทำการรวบรวมหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือและสรุปออกมาเป็นคำแนะนำในเรื่องของยาที่ใช้ในการรักษาตะคริวไว้ว่าควรใช้วิตามินบีรวม (vitamin B complex) หรือยากลุ่ม calcium-channel blocker เช่น Diltiazem แทนการใช้ Quinine[4])
    3. ถ้ามีอาการมือเท้าจีบเกร็งพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง มักเกิดจากกลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน หรือโรคหอบจากอารมณ์ (Hyperventilation syndrome) แพทย์จะให้การรักษาไปตามสาเหตุที่เป็น

วิธีป้องกันตะคริว

  1. ไม่นั่ง นอน หรือเดินเป็นเวลานาน ๆ ในผู้สูงอายุควรค่อย ๆ ขยับแขนขาช้า ๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นมาก ๆ
  2. หลีกเลี่ยงการออกกำลังหรือใช้กล้ามเนื้อมากเกินกำลัง เช่น การยกของหนัก การเล่นกีฬาหนัก ๆ
  3. ควรทำการบริหารยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกาย (Warm up) หรือเมื่อต้องใช้กล้ามเนื้อทำงานหนักทุกครั้ง เช่น การวิ่งเบา ๆ ประมาณ 10 นาที
  4. ควรดูแลสุขภาพให้แข็ง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะตะคริวมักเกิดในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือคนที่ขาดการออกกำลังกาย
  5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม (เช่น กล้วย ส้ม), แคลเซียม (เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อยที่รับประทานก้างได้), วิตามินอี (เช่น ถั่ว น้ำมันพืช) ส่วนผู้สูงอายุหรือหญิงตั้งครรภ์ที่มักเป็นตะคริวตอนกลางคืน อาจป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารประเภทปลาและไข่ในมื้อเย็น หรือดื่มนมก่อนเข้านอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรเป็นอาหารที่เหมาะกับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย
  6. ป้องกันภาวะขาดน้ำด้วยการดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำ และควรดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนการออกกำลังกาย เพื่อให้เพียงพอกับปริมาณน้ำที่ร่างกายเสียไป เช่น จากการเสียเหงื่อมาก ท้องเสีย หรือปัสสาวะมาก
    เป็นตะคริว
  7. ดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ก่อนและระหว่างการออกกำลังหรือทำงานในที่ที่มีอากาศร้อนหรือมีเหงื่อออกมาก
  8. สวมใส่รองเท้าในขนาดที่พอเหมาะกับเท้าและที่ไม่รัดเท้า เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณขาและเท้าให้มากขึ้น และอาจใส่ถุงเท้าตอนนอนเพื่อป้องกันการเกร็งของเท้า
  9. ในขณะนอน ไม่ควรนอนห่มผ้าห่มรัดเท้าแน่น ๆ (การปูเตียงนอนแบบชาวตะวันตก)
  10. ผู้ที่เป็นตะคริวตอนกลางคืน ควรนอนยกขาให้สูงเล็กน้อยประมาณ 10 เซนติเมตร โดยใช้หมอนรอง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในตอนกลางคืน และก่อนนอนควรบริหารยืดกล้ามเนื้อหรือปั่นจักรยานประมาณ 2-3 นาที หรือกินยาป้องกันตามที่แพทย์แนะนำ
  11. รับประทานผักและผลไม้ให้มาก เพราะมีวิตามินและเกลือแร่ที่ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อ เช่น โพแทสเซียม แมกนีเซียม วิตามินบี วิตามินอี ฯลฯ (การรับประทานผลไม้เป็นประจำ เช่น กล้วย ส้ม จะช่วยป้องกันการขาดโพแทสเซียมได้ ส่วนในรายที่ใช้ยาขับปัสสาวะติดต่อกันเป็นเวลานานควรเสริมด้วยยาโพแทสเซียมคลอไรด์)
  12. ควรสังเกตกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดตะคริว แล้วหลีกเลี่ยงเสีย
  13. รักษาหรือควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุด้วย มิฉะนั้นก็จะเกิดตะคริวได้บ่อย ๆ
  14. ฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Stretching) ในบริเวณที่มักเป็นตะคริวอยู่บ่อย ๆ อาจช่วยลดโอกาสการเกิดตะคริวได้ เพราะตะคริวมักเกิดกับกล้ามเนื้อน่องและต้นขา ซึ่งสามารถฝึกทำได้โดยปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์ออร์โทปิดิกส์ (Orthopaedics) หรือนักกายภาพบำบัด ทั้งนี้การฝึกยืดกล้ามเนื้อควรทำอย่างน้อยวันละ 1-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 3-5 นาที และในครั้งสุดท้ายของวันควรทำก่อนเข้านอน เพื่อช่วยลดโอกาสเป็นตะคริวในตอนกลางคืน แต่ก่อนทำการยืดกล้ามเนื้อควรทำการอบอุ่นร่างกายทุกครั้งด้วยการเดินเบา ๆ ประมาณ 5 นาที และเมื่ออาการตะคริวห่างหายไปแล้ว ก็สามารถลดการทำเหลือเพียงวันละ 1 ครั้งก่อนเข้านอนก็ได้ แต่ยังควรทำอย่างต่อเนื่องทุกวันตลอดไป อนึ่ง สภาแพทย์ออร์โทปิดิกส์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Academy of Orthopaedic Surgeons – AAOS) ได้แนะนำท่าบริหารยืดกล้ามเนื้อเอาไว้ ดังนี้
    • การยืดกล้ามเนื้อน่อง ให้ยืนตัวตรง หลังตรง หันหน้าเข้าหากำแพงให้ห่างประมาณ 2-3 ฟุต ฝ่าเท้าทั้งสองข้างตรง ให้เท้าหลังห่างจากเท้าหน้าเล็กน้อย ฝ่าเท้าวางราบกับพื้น ส่วนเท้าหลังต้องชี้ตรงไปยังเท้าหน้าเสมอ งอเข่าเท้าหน้าพอควร ส่วนเท้าหลังเหยียดข้อเข่าให้ตรง มือทั้งสองข้างยกยันกำแพงในลักษณะเอนตัวไปข้างหน้า โดยที่แผ่นหลังยังเหยียดตรงเสมอ และให้ค้างไว้ประมาณ 15-30 วินาที จากนั้นให้ทำสลับข้างกัน (การบริหารท่านี้จะรู้สึกยืดตึงของกล้ามเนื้อน่องลงมาจนถึงส้นเท้า)
      ตะคริวที่น่อง
    • การยืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า ให้ยืนตัวตรง เท้าสองข้างชิดกัน มือข้างหนึ่งจับพนักเก้าอี้ที่แข็งแรง ห่างจากเก้าอี้ประมาณ 1 ฟุต แล้วพับข้อเข่าขึ้น 1 ข้าง และใช้มือข้างเดียวกันจับข้อเท้าด้านที่ยกขึ้นเอาไว้ จากนั้นให้กดส้นเท้าเข้าหาบริเวณก้นจนรู้สึกได้ถึงการเหยียดตัวของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า ให้ค้างไว้ประมาณ 30 วินาที แล้วทำสลับข้างกัน
      ขาเป็นตะคริว
    • การยืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง ให้นั่งกับพื้นหลังตรง ขาและเข่าเหยียดตรงไปข้างหน้า ให้ขาทั้งสองข้างชิดกัน เท้าอยู่ในท่าปกติ ส่วนส้นเท้าชิดกัน และค่อย ๆ ลากฝ่ามือไปตามพื้นด้านข้างของขาทั้งสองข้างจนถึงข้อเท้า โดยที่เข่ายังเหยียดตรงอยู่และอย่าก้มหลัง เมื่อรู้สึกว่ากล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังเหยียดเต็มที่แล้วก็ให้ค้างไว้ในท่านั้นประมาณ 30 วินาที
      ตะคริวที่ขา

ข้อควรระวัง : ในการบริหารยืดกล้ามเนื้อในท่าต่าง ๆ ที่กล่าวมา อาจมีข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีปัญหาโรคกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ หรือในขณะที่บริหาร ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บ ควรหยุดบริหารทันที ไม่ควรฝืนทำต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ตะคริว (Muscle cramps)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 771-773.
  2. หาหมอดอทคอม.  “ตะคริว (Muscle cramp)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [28 มี.ค. 2016].
  3. เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric Medicine) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ตะคริว”.  (ผศ.นพ.วีรศักดิ์  เมืองไพศาล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [28 มี.ค. 2016].
  4. หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “How Can Leg Cramps Be Treated ?”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [28 มี.ค. 2016].

ภาพประกอบ : supertastyrecipes.com, www.garmaonhealth.com, acupuncture.co.in, www.healthcumfitness.com, www.wikihow.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด