ดาวเรืองฝรั่ง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นดาวเรืองฝรั่ง 29 ข้อ !

ดาวเรืองฝรั่ง

ดาวเรืองฝรั่ง ชื่อสามัญ Calendula, Common marigold, Cape marigold, English marigold, Garden marigold, Scottish marigold, Marigold, Pot marigold, Ruddles[3],[4]

ดาวเรืองฝรั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Calendula officinalis L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[3]

สมุนไพรดาวเรืองฝรั่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดาวเรืองหม้อ (กรุงเทพฯ), จินจ่านจวี๋ (จีนกลาง), กิมจั้วเก็ก (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของดาวเรืองฝรั่ง

  • ต้นดาวเรืองฝรั่ง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุประมาณ 1-2 ปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 33-48 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขามากที่โคนต้น ทั้งต้นมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ตามกิ่งและก้านจะมีร่องเหลี่ยม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เป็นไม้กลางแจ้ง เจริญเติบได้ในดินที่ระบายน้ำดี เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของยุโรปตอนใต้[1],[2],[4]

ไร่ดาวเรืองฝรั่ง

ต้นดาวเรืองฝรั่ง

  • ใบดาวเรืองฝรั่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหอก ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบเป็นคลื่น ใบมีขนาดยาวประมาณ 2.2-7.8 เซนติเมตร ไม่มีก้านใบ ใบที่อยู่ตรงโคนก้านจะมีขนาดใหญ่เรียงกันขึ้นไปหาเล็ก แผ่นใบมีสีเขียวอ่อน[1],[2]

ใบดาวเรืองฝรั่ง

  • ดอกดาวเรืองฝรั่ง ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกบริเวณปลายต้น ดอกมีสีเหลืองหรือสีเหลืองปนส้ม กลีบดอกมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปแกมขอบขนานเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ หลาย ๆ ชั้น หรือเรียงซ้อนกันเป็นวงหลายวง ดอกวงนอกเป็นดอกเพศเมีย ส่วนดอกวงในเป็นดอกเพศผู้ ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.3-7.8 เซนติเมตร ปลายดอกแยกออกเป็นแฉก ๆ กลีบดอกทั้งหมดจะมีขนแข็งติดอยู่ที่โคน บริเวณใต้ดอกมีกลีบเลี้ยงอยู่ 1-2 ชั้น[1],[2]

ดาวเรืองหม้อ

ดอกดาวเรืองฝรั่ง

  • ผลดาวเรืองฝรั่ง ผลเป็นผลแห้ง ผลมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานโค้ง ยาวประมาณ 10-12 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อยหรืออาจเกลี้ยง[1],[2]

ผลดาวเรืองฝรั่ง

เมล็ดดาวเรืองฝรั่ง

สรรพคุณของดาวเรืองฝรั่ง

  1. ดอกมีสรรพคุณเป็นยาธาตุ (ดอก)[3]
  2. ต้นใช้เป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร (ต้น)[2]
  3. ดอกใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาลดไขมันในเลือด ลดคอเลสเตอรอล (ดอก)[3]
  4. รากมีรสจืด เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับและม้าม ใช้เป็นยาฟอกเลือด กระจายเลือดลมที่อุดตัน (ราก)[1]
  5. น้ำที่กลั่นจากดอกใช้เป็นยาแก้อาการอักเสบของตา (ดอก)[2]
  1. น้ำที่กลั่นจากดอกใช้ชงเป็นยาแก้ไข้ ขับเหงื่อ (ดอก)[2]
  2. ดอกนำมาต้มเป็นยาแก้ไข้ทรพิษ (ดอก)[2]
  3. ต้นใช้เป็นยาช่วยขับเหงื่อ (ต้น)[2]
  4. ใช้เป็นยาแก้คลื่นเหียนอาเจียน (ต้น)[2]
  5. รากใช้เป็นยาขับลม ขับกระษัยลม ด้วยการใช้รากสดประมาณ 50-80 กรัม นำมาต้มในน้ำที่ผสมกับเหล้าอย่างละเท่ากัน แล้วนำมารับประทาน (ราก)[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุให้ใช้ดอกดาวเรืองฝรั่ง 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[3]
  6. ใช้เป็นยาแก้ปวดกระเพาะเนื่องจากกระเพาะชื้นเย็นและพร่อง ด้วยการใช้รากดาวเรืองฝรั่งประมาณ 30-50 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือนำมาดองกับเหล้ารับประทาน (ราก)[1]
  7. หากมีอาการท้องผูกให้นำใบดาวเรืองฝรั่งมาคั้นเอาแต่น้ำรับประทาน (มีรสเผ็ดร้อน) (ใบ)[2]
  8. ใช้เป็นยาขับพยาธิ (ต้น[2], ดอก[3])
  9. รากหรือดอกใช้เป็นยารักษาอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ด้วยการใช้ดอกสด 10-15 ดอก นำมาต้มกับน้ำตาลกรวดรับประทาน (ราก, ดอก)[1]
  10. รากมีสรรพคุณเป็นยารักษาซีสต์ในมดลูกของสตรี (ราก)[1]
  11. ต้นนำมาชงกินเป็นยาแก้โรคดีซ่าน (ต้น)[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุให้ใช้ดอกดาวเรืองฝรั่ง 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าเย็นเป็นยาแก้โรคดีซ่าน (ดอก)[3]
  12. ใบใช้เป็นยาแก้โรคต่อมน้ำเหลืองในเด็ก (ใบ)[2]
  13. ดอกนำมาต้มเป็นยาแก้โรคหัด (ดอก)[2]
  14. ใช้เป็นยาห้ามเลือด ทำให้เลือดเย็น (ราก, ดอก)[1]
  15. ดอกใช้เป็นยารักษาแผลทั้งภายนอกและภายใน (ดอก)[1]
  16. น้ำที่กลั่นได้จากดอกใช้เป็นยาแก้พุพอง (ดอก)[2]
  17. ดอกมีสรรพคุณช่วยบำรุงผิว สมานผิว (ดอก)[3]
  18. ใช้เป็นยารักษาแผลเรื้อรังและแก้เส้นเลือดพอง (ต้น)[2]
  19. หากมีอาการปวดฟกช้ำ แมลงกัดต่อย ให้ใช้ดอกดาวเรืองฝรั่งนำมาถูบริเวณที่เป็น (ดอก)[2]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [1] รากแห้งให้ใช้ครั้งละ 30-50 กรัม รากสดให้ใช้ครั้งละ 50-100 กรัม ส่วนดอกแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม ดอกสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัม หรือประมาณ 10-15 ดอก[1] ส่วนการใช้ดอกตาม [3] ให้นำดอกดาวเรืองฝรั่ง 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าเย็น[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของดาวเรืองฝรั่ง

  • ดอกดาวเรืองฝรั่ง มีสาร Carotene ส่วนทั้งต้นพบสาร Alkaloid, Flavoxanthin, Lycopene, Rubixabthin, Violaxanthin และพบน้ำมันระเหย เป็นต้น[1]
  • ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ได้แก่ ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด ลดคอเลสเตอรอล ยับยั้งการชัก ต้านบิด ต้านเชื้อรา ต้านไวรัส ป้องกันฟันผุ[3]
  • สารสกัดจากดอกดาวเรืองฝรั่ง เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลาง ทำให้สงบจิตได้[1]
  • สารที่สกัดจากดอกดาวเรืองฝรั่ง หากนำมาฉีดเข้าเส้นเลือดดำของสัตว์ทดลอง พบว่าจะทำให้หัวใจของสัตว์มีกำลังเต้นแรงขึ้น แต่การบีบตัวของหัวใจและความดันโลหิตลดลง ถ้านำไปฉีดในสุนัขที่มีการบาดเจ็บเป็นแผล พบว่าจะกระตุ้นการสร้างน้ำดีให้เพิ่มขึ้น และส่งผลทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้นด้วย ชาวยุโรปจึงนิยมใช้ดอกดาวเรืองฝรั่งนำมารักษาแผลทั้งภายนอกและภายใน[1]
  • สารสกัดจากใบและดอกดาวเรืองฝรั่ง มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อโรคและแก้บวมอักเสบ โดยเฉพาะต่อต้านเชื้อ Streptococcus และ Staphylococcus ซึ่งสารที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อดังกล่าวได้นั้นจะไม่ละลายในน้ำ แต่จะละลายในแอลกอฮอล์[1]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าสารสกัดจากดอกที่ทำให้หนูถีบจักรตายหมดเมื่อฉีดเข้าช่องท้อง 580 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรมีค่า LD50 375 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[3]
  • เมื่อปี ค.ศ.1983 ที่ประเทศอินเดีย ได้ศึกษาทดลองผลในการลดไขมันในเลือดของสารสกัดจากดอกดาวเรืองฝรั่งในหนูทดลอง ผลการทดลองพบว่ามีผลต่อระบบประสาท ทำให้เพิ่มระดับการนอนหลับและลดไขมันในเลือด โดยลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์จากสาร saponoside 10-50 มิลลิกรัม ได้นาน 12 สัปดาห์50

ประโยชน์ของดาวเรืองฝรั่ง

  1. ใบนำมาตากแห้งแล้วบดให้เป็นผงให้ใช้เป็นยานัตถุ์ได้[2]
  2. ใบมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายเครื่องเทศ สามารถนำมาใช้ทำอาหารได้เหมือนผักชนิดหนึ่ง หรือใช้ใส่ในซุปให้ได้กลิ่นและรสพิเศษ[2],[4]
  3. กลีบดอกใช้ฉีกใส่ในซุป ใช้เป็นสมุนไพร และให้สีแทนหญ้าฝรั่น (saffron) ได้ด้วย[2]
  4. ต้นให้ดอกจำนวนไม่น้อย แต่ไม่ดกเท่าดาวเรืองทั่วไป ก้านดอกตรงยาวใช้ปลูกเป็นไม้ตัดดอกได้ดี (ถ้าจะตัดดอกเพื่อปักแจกันหรือทำเป็นไม้ตัดดอก ควรตัดดอกตอนที่ดอกยังไม่บานเต็มที่ เพราะถ้าตัดตอนที่ดอกบานเต็มที่แล้ว กลีบดอกจะร่วงเร็ว เมื่อปักแจกันก็ควรเปลี่ยนน้ำทุกวัน เพื่อให้ดอกบานได้นานขึ้น)[4]
  5. ดาวเรืองฝรั่งเป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งมีความสำคัญสำหรับทารก โดยนำมาใช้ผสมในแป้งสำหรับโรยตัวเด็ก ผสมในน้ำสำหรับอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย เช่น คาโมไมล์ และคอมเฟรย์[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ดาวเรืองฝรั่ง”.  หน้า 224.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ดาวเรืองฝรั่ง”.  หน้า 287-288.
  3. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ดาวเรืองฝรั่ง”  หน้า 84.
  4. ไทยเกษตรศาสตร์.  “ดาวเรืองหม้อ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [23 ธ.ค. 2014].
  5. หนังสือสมุนไพรธรรมชาติและประโยชน์ทางเครื่องสำอาง.  (กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา).  “สมุนไพรธรรมชาติที่ใช้ในเครื่องสำอาง”.  หน้า 2.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Silas Price, biosfeer-groede, Concepcio Costa, floraworks, Jochen Pippir, Marjoh), www.about-garden.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด