ช้อยนางรำ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นช้อยนางรำ 13 ข้อ !

ช้อยนางรำ

ช้อยนางรำ ชื่อสามัญ Telegraph plant, Semaphore plant[2]

ช้อยนางรำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Codariocalyx motorius (Houtt.) H.Ohashi (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Codariocalyx gyrans (L.f.) Hassk., Codoriocalyx motorius var. glaber X.Y. Zhu & Y.F. Du, Desmodium gyrans (L.f.) DC., Desmodium gyrans var. roylei (Wight & Arn.) Baker, Desmodium motorium (Houtt.) Merr., Desmodium roylei Wight & Arn., Hedysarum gyrans L.f., Hedysarum motorium Houtt., Meibomia gyrans (L.f.) Kuntze) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรช้อยนางรำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านมีดยับ หว้านมีดยับ (ลำพูน), แพงแดง (ประจวบคีรีขันธ์), ค่อยช้างรำ ช้อยช่างรำ นางรำ (ไทย), แพวแดง (อรัญประเทศ), เคยแนะคว้า (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของช้อยนางรำ

  • ต้นช้อยนางรำ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็กจำพวกหญ้า ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 90 เซนติเมตร ส่วนผิวของลำต้นนั้นจะเป็นสีไม้แห้ง จัดเป็นว่านชนิดหนึ่ง แต่กลับไม่ใช่พืชลงหัวอย่างว่านทั่วไป พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด มักขึ้นเองตามป่าชื้นทั่วไป หรือมีปลูกไว้ตามบ้านเพื่อไว้ดูเล่นเป็นของแปลก ๆ และได้มีผู้นำเข้ามาปลูกไว้ที่สวนหลังวัดพญา ในปัจจุบันหาได้ค่อนข้างยาก[1],[2],[3]

ต้นช้อยนางรำ

  • ใบช้อยนางรำ ใบแยกเป็นใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยแต่ละใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายใบมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ผิวใบด้านบนเป็นมัน ส่วนด้านล่างมีขนละเอียด[1],[2]

ใบช้อยนางรำ

  • ดอกช้อยนางรำ ดอกแทงออกจากด้านข้างหรือที่ยอด เป็นช่อดอกแบบติดดอกสลับ ก้านช่อดอกมีขน ดอกมีขนาดเล็กคล้ายดอกถั่วแปบ แต่จะมีขนาดเล็กกว่าถั่วแปบมาก โดยกลีบดอกจะเป็นสีม่วงปนขาวหรือสีม่วงแดง และมีกลีบเลี้ยงเป็นรูปกระดิ่ง[1],[2]

ดอกช้อยนางรำ

  • ผลช้อยนางรำ ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน มีขนาดกว้างประมาณ 0.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ภายในฝักจะมีเมล็ดประมาณ 2-6 เมล็ด เมล็ดเป็นสีดำ ลักษณะคล้ายกับเมล็ดถั่วดำ แต่จะมีขนาดเท่าหัวไม้ขีด[1]

ฝักช้อยนางรำ

เมล็ดช้อยนางรำ

สรรพคุณของช้อยนางรำ

  1. ต้น ราก และใบ ใช้ต้มดื่มเป็นยารักษาอาการเจ็บป่วย (ต้น, ราก, ใบ)[3]
  2. ใบใช้เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้พิษ และแก้ฝีภายใน (ใบ)[2]
  3. ใช้เป็นยาแก้ไข้ประสาทพิการ แก้ไข้รำเพรำพัด (ต้น, ราก, ใบ)[2],[3]
  4. ลำต้นมีสรรพคุณเป็นยาดับพิษร้อนภายใน (ลำต้น)[2]
  5. ลำต้นใช้เป็นยาแก้ฝีภายใน ฝีในท้อง (ลำต้น)[2]
  6. ต้น ราก และใบ ใช้ต้มดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ต้น, ราก, ใบ)[2],[3]
  7. แพทย์แผนโบราณจะใช้ต้น ราก และใบของว่านชนิดนี้นำมาโขลกให้ละเอียดกวนกับปรอทในน้ำหนักเท่ากัน ๆ จะทำให้ปรอทแข็งตัว (ต้น, ราก, ใบ)[3]
  8. ใช้เข้ากับยาแผนโบราณได้หลายขนาน โดยเด็ดใบไปต้มเข้ากับตัวยาอื่น ๆ (ใบ)[2]

ประโยชน์ของช้อยนางรำ

  1. พรรณไม้ชนิดนี้มีปลูกกันบ้างไว้ดูเล่นเป็นไม้แปลก ๆ แต่ค่อนข้างปลูกเลี้ยงยาก กระทบกระเทือนมากก็อาจตายเอาดื้อ ๆ จึงต้องปลูกและกระทำอย่างระมัดระวัง[1]
  2. พรรณไม้ชนิดนี้บางคนจะนำมาปลูกไว้ในกระถาง แล้วนำไปใส่ในตู้ไว้โดยไม่ให้ถูกลมพัด แล้วจึงช่วยกันตบมือ ใบอ่อนของพรรณไม้ชนิดนี้ก็จะกระดิกได้เป็นจังหวะ ถึงแม้ว่าเราจะจ้องดูอยู่โดยไม่ให้มันเคลื่อนไหว ซึ่งมันจะกระดิกไปเองตามธรรมชาติของมัน จึงจัดว่าเป็นพรรณไม้ที่น่าอัศจรรย์ชนิดหนึ่ง[1] สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะต้นไม้นี้มีปุ่มที่สามารถรับเครื่องเสียงและคลื่นเสียงได้ และคงไปกระทบต่อสารภายในของต้น แล้วส่งผลให้หูใบกระดิกหรือเคลื่อนไหวได้ในลักษณะเหมือนนางรำในละคร จึงเป็นที่มาของอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “สาวน้อยเริงระบำ[3]
  3. ช้อยนางรำเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีความเชื่อในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งโบราณเรียกว่านกายสิทธิ์ นับถือกันมาแต่โบราณว่าเป็นไม้กายสิทธิ์ มีอำนาจทางโชคลาภและเมตตามหานิยม หากบ้านหรือร้านค้าใดปลูกไว้ก็จะช่วยกวักเรียกเงินทองมาสู่ผู้ปลูกแบบไม่ขาดสาย[3]
  4. ช้อยนางรำจัดเป็นสมุนไพรที่สามารถต้านความชราหรือต้านอนุมูลอิสระได้ดี ซึ่งจากการนำใบช้อยนางรำชนิดแห้ง (ชาแห้ง) หนัก 1 กรัม นำมาชงด้วยน้ำร้อนปริมาตร 50 มิลลิลิตร (ประมาณ 1 ถ้วย) พบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่ากับไวตามินซี 12 มิลลิกรัม และสรุปผลจากรายงานยังพบว่า ชาช้อยนางรำนี้มีการปนเปื้อนของสารโลหะหนักน้อยมากและไม่พบโลหะเป็นพิษ ที่สำคัญยังมีประโยชน์ทางด้านโภชนาการหลายอย่าง โดยพบว่าน้ำที่สกัดได้จากใบมีเกลือแร่ คือ แคลเซียม โซเดียม แมกนีเซียม และมีกลุ่มไวตามิน ได้แก่ ไวตามินเอ เบต้าแคโรทีน ไวตามินซี และยังมีคลอโรฟิลล์ ซึ่งมีคุณสมบัติชีวภาพในการช่วยขับล้างสารพิษออกจากร่างกายได้[3]
  5. ในปัจจุบันชาวอุดรธานีจะนำสมุนไพรชนิดนี้มาทำเป็นใบชาแห้งเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าโอทอปของจังหวัด ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง และยังพบว่าถ้าดื่มเป็นชาแบบเข้มข้นหรือแบบแก่ ๆ จะทำให้แก้มแดงจัดได้ด้วย จึงเหมาะสำหรับสาว ๆ[3]

YouTube video
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ช้อยนางรำ”.  หน้า 244-245.
  2. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  (ผศ.วรรณา กาญจนยูร, ศ.ดร. ไมตรี สุทธิจิต์, อำนาจ เหลาทอง).  “รายงานผลการวิเคราะห์คุณภาพทางเคมีและทางชีวภาพของใบช้อยนางรำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.nongsamrong.go.th.  [07 ม.ค. 2015].
  3. ไทยโพสต์.  “สาวน้อยเริงระบำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaipost.net.  [07 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Foggy Forest, J€RRY, Frederick)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด