ชิงชี่ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นชิงชี่ 29 ข้อ ! (แส้ม้าทะลาย)

ชิงชี่

ชิงชี่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Capparis micracantha DC. จัดอยู่ในวงศ์กุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE)[1],[3],[4]

สมุนไพรชิงชี่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนวดแมวแดง (เชียงใหม่), แส้ม้าทลาย (เชียงราย), ซิซอ (ปราจีนบุรี), คายซู (อุบลราชธานี), น้ำนอง (สุโขทัย), ชายชู้ หมากหมก (ชัยภูมิ), พุงแก (ชัยนาท), ค้อนกลอง (เพชรบูรณ์), ค้อนฆ้อง (สระบุรี), กระดาดป่า[1] กระดาษป่า[2] (ชลบุรี), ราม (สงขลา), พวงมาระดอ เม็งซอ (ปัตตานี), กระดาดขาว กระดาษขาว กระโรกใหญ่ จิงโจ้ พญาจอมปลวก แสมซอ (ภาคกลาง), กิรขี้[2] กินขี้[3] ชิงชี ชิงวี่ ชินซี่ ซาสู่ต้น แซ่สู่ต้น แซ่ม้าลาย แส้ม้าทะลาย น้ำนองหวะ ปู่เจ้าสมิงกุย เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของชิงชี่

  • ต้นชิงชี่ จัดเป็นไม้พุ่มหรือกึ่งเลื้อย หรือเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1-6 เมตร กิ่งก้านอ่อนเป็นสีเขียว กิ่งคดไปมา ผิวเรียบเกลี้ยง มีหนามยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ลักษณะตรงหรือโค้งเล็กน้อย ส่วนลำต้นเป็นสีเทา ผิวเปลือกต้นเป็นกระสีขาว ๆ แตกระแหง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ตามสภาพดินแห้ง เขาหินปูนที่แห้งแล้ง ภูเขา หินปูนใกล้กับทะเล ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าโปร่งทั่วไป พบได้ทุกภาคในประเทศไทย ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่า 500 เมตร ในต่างประเทศพบได้ที่พม่า อินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย จีน อันดามัน และไฮหนาน[1],[3],[4],[7]

ต้นชิงชี่

  • ใบชิงชี่ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปรี ปลายใบมนหรือแหลม หรือเว้าเล็กน้อยและเป็นติ่ง ส่วนขอบใบมนหรือค่อนข้างเว้า ขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9.5-24 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา มัน และเกลี้ยง หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร[4]

ใบชิงชี่

  • ดอกชิงชี่ ออกดอกเดี่ยว ออกเรียงเป็นแถว 1-7 ดอก โดยจะออกตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ออกเรียงอยู่เหนือง่ามใบ กลีบดอกเป็นสีขาวหลุดร่วงได้ง่าย มี 2 กลีบ ด้านนอกสีขาวแต้มเหลืองและจะเปลี่ยนเป็นแต้มสีม่วงปนสีน้ำตาล ลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปหอก มีขนาดกว้างประมาณ 3-7 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 10-25 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำหวานที่โคนก้านดอก ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กฝอย ๆ สีขาวคล้ายหนวดแมวยื่นยาวออกมา มีประมาณ 20-35 อัน ก้านยาว มีรังไข่เป็นรูปไข่ เกลี้ยง ส่วนกลีบรองกลีบดอกมีลักษณะเว้าเป็นรูปเรือแกมรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5.5-13 มิลลิเมตร ขอบมักมีขน ก้านดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[4]

ดอกชิงชี่

รูปชิงชี่

รูปดอกชิงชี่

  • ผลชิงชี่ ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลค่อนข้างกลมหรือรี ผิวผลเรียบแข็งเป็นมัน มี 4 ร่องตามยาวของผล ผลมีขนาดกว้างประมาณ 3-6.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือแดง หรือดำ ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไต สีแดงหรือดำเป็นมันอัดแก่นอยู่เป็นจำนวนมาก[1],[4]

ผลชิงชี่

เมล็ดชิงชี่

สรรพคุณของชิงชี่

  1. ทั้งต้นมีรสขื่นปร่า ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ทั้งต้น)[4],[7]
  2. ใบนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ไข้สันนิบาต (คือไข้ที่มีอาการวิงเวียน ตาลาย เลือดกำเดาไหล แน่นหน้าอก เกิดขึ้นร่วมกัน) ไข้พิษฝีกาฬ (ฝีกาฬคือฝีที่เกิดบริเวณนิ้วมือ สีดำ ทำให้มีอาการปวดศีรษะและแสบร้อนมาก อาจทำให้แน่นิ่งไปได้) (ใบ)[1],[2],[3],[4],[5],[7]
  3. รากและใบช่วยกระทุ้งพิษไข้หัว (อาการไข้ร่วมกับผื่นหรือตุ่ม เช่น เหือด หัด อีสุกอีใส (ราก, รากและใบ)[1],[4],[5]
  4. ช่วยรักษาไข้เพื่อดีและเลือด มักจะใช้ได้ดีในตอนต้นไข้ (ราก)[3]
  5. ใบใช้เข้ายาอาบ รักษาโรคประดง (อาการของโรคผิวหนังที่มีผื่นคัน เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด มีอาการคันมาก และมักมีไข้ร่วมด้วย) (ใบ[1],[4],[5],[7], ดอก[2])
  6. รากมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ร้อนภายในทุกชนิด แก้ไข้เพื่อดีและโลหิต (ราก)[2],[3],[4],[6] รากและใบใช้เป็นยาระงับความร้อน (รากและใบ)[4]
  7. รากใช้เป็นยาหยอดตา แก้โรคและรักษาดวงตา (ราก)[3],[4]
  8. รากและใบใช้เป็นยาแก้หืด (ราก, รากและใบ)[1],[2],[4],[5]
  9. เนื้อไม้ใช้เป็นยารักษาโรคหลอดลมอักเสบและอาการอักเสบที่เยื่อจมูก (เนื้อไม้)[7]
  10. ผลใช้รักษาโรคที่เกิดในลำคอ แก้อาการเจ็บคอ คออักเสบ (ผล)[2],[3],[4],[7]
  1. เมล็ดนำมาคั่วเป็นยาแก้ไอ (เมล็ด)[7] ส่วนรากใช้เป็นยาแก้ไออันเนื่องมาจากหลอดลมอักเสบ (ราก)[4],[7]
  2. ช่วยแก้อาการเจ็บในทรวงอก (รากและใบ)[1],[4],[5]
  3. ใบนำมาเผาสูดเอาควันเป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ (ใบ)[1],[4],[5],[7]
  4. รากมีรสขมขื่น ใช้เป็นยาขับลมภายในให้ซ่านออกมา (ราก)[1],[3],[4],[5],[7]
  5. รากใช้เป็นยารักษาโรคที่เกิดในท้อง (ราก)[2],[3],[4]
  6. ช่วยรักษาโรคกระเพาะ (ราก)[2],[4],[7]
  7. รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[7]
  8. ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ (ราก)[4],[7]
  9. ยาชงของเนื้อไม้ใช้เป็นยากลางบ้าน ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับน้ำดี อีกทั้งยังช่วยรักษาโรคกระเพาะและแก้อาการวิงเวียนศีรษะได้อีกด้วย (เนื้อไม้)[7]
  10. ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (ทั้งต้น)[4],[7]
  11. ใบใช้ต้มกับน้ำอาบหรือต้มน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคผิวหนังได้ดี (ใบ)[2],[3],[4]
  12. ใช้เป็นยารักษามะเร็ง (แผลเรื้อรัง เน่าลุกลาม และรักษายาก) (ราก, ดอก)[1],[2],[3],[4],[5],[7]
  13. ใช้ต้นหรือทั้งต้นนำมาตำพอกแก้อาการช้ำบวมฟกบวม หรือจะใช้รากและใบตำพอกแก้อาการฟกช้ำบวมก็ได้เช่นกัน (ต้น, ทั้งต้น, รากและใบ)[1],[2],[3],[4],[5],[7]
  14. ใบใช้เข้ายาอาบหรือต้มดื่มแก้ตะคริว (ใบ)[1],[2],[4],[5],[7]
  15. ช่วยรักษาอาการชาตามร่างกาย (ใบ)[7]
  16. รากชิงชี่จัดอยู่ในตำรับยา ‘พิกัดเบญจโลกวิเชียร” หรือตำรายาแก้วห้าดวงหรือยาห้าราก ซึ่งเป็นตำรับยาที่ได้จากรากของสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ รากชิงชี่ รากคนทา รากมะเดื่อชุมพร รากเท้ายายม่อม และรากย่านาง โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ต่าง ๆ ช่วยกระทุ้งพิษและถอนพิษต่าง ๆ (ราก)[4]
  17. รากใช้เป็นยาบำรุงหลังการคลอดบุตรของสตรี (ราก)[4],[7]

ประโยชน์ของชิงชี่

  • ผลชิงชี่สุกมีรสหวานใช้รับประทานได้[4],[7]
  • ต้นชิงชี่เป็นไม้เล็กใช้พื้นที่ปลูกแคบ ตัดแต่งได้ง่าย ออกดอกดก มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ และดูแปลกตา มองดูเหมือนมีการเปลี่ยนสีจากกลีบสีเหลืองเป็นสีแดงเข้ม แต่แท้จริงแล้วเป็นแหล่งน้ำหวานที่เปลี่ยนสีได้ อีกทั้งก้านเกสรก็มีจำนวนมาก โค้งได้รูปดูแปลกตา จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้[7]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “ชิงชี่ (Chingchi)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 107.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “ชิงชี่”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 94.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ชิงชี่”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 270-271.
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ชิงชี่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [6 มี.ค. 2014].
  5. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ชิงชี่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [6 มี.ค. 2014].
  6. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “ชิงชี่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [6 มี.ค. 2014].
  7. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “ชิงชี่”.  (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th.  [6 มี.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, judymonkey17, Rex Yang, 阿橋花譜 KHQ Flowers), เว็บไซต์ phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด