ชาข่อย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นชาข่อย 7 ข้อ ! (ชาป่า)

ชาข่อย

ชาข่อย ชื่อสามัญ Wild tea[4]

ชาข่อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Acalypha siamensis Oliv. ex Gage จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1]

สมุนไพรชาข่อย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กาน้ำ ชาญวณ (กรุงเทพฯ), ผักดุก ผักดูด (ประจวบคีรีขันธ์), ชาป่า (ปัตตานี), ชาฤาษี (ภาคกลาง), จ๊าข่อย (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1]

ลักษณะของชาข่อย

  • ต้นชาข่อย จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านเรียวเล็ก กิ่งก้านกลมเกลี้ยงหรือมีร่องตามยาว เมื่ออ่อนขนนุ่มสั้น ส่วนเปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล[1],[3]

ต้นชาข่อย

  • ใบชาข่อย ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันตลอดทั้งขอบใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-6.5 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเป็นมัน หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยง มีเส้นแขนงใบประมาณ 4-5 คู่ มีก้านใบยาวประมาณ 0.1-0.8 เซนติเมตร มีหูใบลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่มและมีขนต่อม[1],[3]

ใบชาข่อย

  • ดอกชาข่อย ออกดอกเป็นช่อเดี่ยว ๆ (พบได้น้อยที่มี 2 ช่ออยู่ด้วยกัน) ตามซอกใบและที่ปลายยอด ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะมีขนาดเล็กอยู่ช่วงปลายยอด มีประมาณ 5-7 ดอก มีใบประดับลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างประมาณ 1.2-1.5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1-1.2 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่มและมีขนต่อมด้านนอกตาดอก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-0.8 มิลลิเมตร และเมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-1 มิลลิเมตร ดอกไม่มีกลีบดอก มีแต่กลีบเลี้ยงลักษณะเป็นรูปไข่ 4 กลีบ มีขนาดกว้างประมาณ 0.3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร มีต่อมอยู่ด้านนอก และก้านดอกย่อยนั้นยาวประมาณ 0.1-0.5 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่ที่โคนช่อดอก มีประมาณ 2-3 ดอก (บ้างว่ามีเพียง 1 ดอก) และมีใบประดับเป็นรูปถ้วย เมื่อดอกบานจะมีลักษณะเป็นรูปไต และมีขนาดกว้างประมาณ 6-10 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ขอบใบประดับเป็นจักแบบฟันเลื่อย มีซี่ประมาณ 9-15 ซี่ ผิวใบเป็นมันทั้งสองด้าน มองด้านนอกเห็นเส้นร่างแหได้ชัดเจนและมีต่อมโปร่งแสง ส่วนกลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปไข่ 3 กลีบ มีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่มด้านนอก รังไข่มีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีหนามทู่ ก้านเกสรเพศเมียยาวได้ประมาณ 2-5 มิลลิเมตร[1],[3]

ดอกชาข่อย

  • ผลชาข่อย ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น แบ่งเป็น 3 พู ผลมีรยางค์เหนียว และมีหนามทู่ ภายในผลมีเมล็ดลักษณะค่อนข้างกลม[1],[3]

ผลชาข่อย

ลูกชาข่อย

เมล็ดชาข่อย

สรรพคุณของชาข่อย

  1. น้ำต้มใบหรือชงใบสามารถนำมาใช้แทนใบชาได้ ใช้ดื่มกินเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (น้ำต้มหรือชงใบ)[1]
  2. ทั้งต้นใช้ตำเป็นยาพอกร่างกายช่วยลดไข้ (ทั้งต้น)[1]
  3. ช่วยในการย่อย (น้ำต้มหรือชงใบ)[1]
  4. ช่วยขับปัสสาวะ (น้ำต้มหรือชงใบ)[1]
  5. ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคไตพิการ หรือจะใช้น้ำต้มหรือชงใบนำมาดื่มกินเป็นยาแก้ไตพิการก็ได้เช่นกัน (ทั้งต้น, ใบ)[1]
  6. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (น้ำต้มหรือชงใบ)[1]

ประโยชน์ของชาข่อย

  • ต้นชาข่อยนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้ง หรือใช้ปลูกเพื่อทำแนวรั้วตามสถานที่ต่าง ๆ ได้[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “ชาข่อย (Cha Khoi)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 103.
  2. สวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ๑ (ดอนสักผดุงวิทย์).  “ชาข่อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.donsakwit.ac.th/joomla/school_flower/.  [4 มี.ค. 2014].
  3. bioGANG.  “ชาข่อย”.  อ้างอิงใน: www.wattano.ac.th.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.biogang.net.  [4 มี.ค. 2014].
  4. Germplasm Resources Information Network (GRIN).  “Acalypha siamensis Oliv. ex Gage”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ars-grin.gov.  [4 มี.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Nelindah, Teo Siyang, CANTIQ UNIQUE, Ahmad Fuad Morad)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด