ชะอม สรรพคุณและประโยชน์ของชะอม 9 ข้อ !

ชะอม

ชะอม ชื่อสามัญ Climbing wattle, Acacia, Cha-om

ชะอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia pennata (L.) Willd. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)

ผักชะอม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ผักหละ (ภาคเหนือ), อม (ภาคใต้), ผักขา (ภาคอีสาน อุดรธานี), พูซูเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน), โพซุยโดะ (กะเหรี่ยง) เป็นต้น

ลักษณะของชะอม

  • ต้นชะอม เป็นไม้พุ่มขนาดย่อม มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ลำต้นและกิ่งก้านจะมีหนามแหลม ส่วนลักษณะของใบชะอมเป็นใบประกอบสีเขียวขนาดเล็ก มีก้านใบย่อยแตกออกจากแกนกลางใบ มีลักษณะคล้ายกับใบส้มป่อยหรือใบกระถิน ใบอ่อนจะมีกลิ่นฉุน ใบย่อยมีขนาดเล็กออกตรงข้ามกัน คล้ายรูปรีประมาณ 13-28 คู่ ปลายใบแหลมขอบใบเรียบ ใบย่อยจะหุบในเวลาเย็น และแผ่ออกเพื่อรับแสงในช่วงกลางวัน ส่วนดอกชะอม มีขนาดเล็กออกตามซอกใบ มีสีขาวถึงขาวนวล

ชะอม

วิธีการปลูกชะอม ปลูกโดย การปักชำ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง หรือการโน้มกิ่งลงดิน โดยไม่ต้องต่อตาหรือชำกิ่ง การปลูกผักชะอมส่วนมากจะใช้วิธีการเพาะเมล็ด เพราะจะได้ต้นที่แข็งแรงและทนทานต่อสภาพแวดล้อม มีหนามหนากว่าการปลูกด้วยวิธีอื่น

การปลูกชะอม ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยนำมาเมล็ดชะอมมาใส่ถุงพลาสติก รดน้ำวันละครั้ง เมื่อเมล็ดงอกก็ให้ทำการย้ายลงดิน โดยปลูกห่างกันประมาณ 1 เมตร และให้ปุ๋ยสดหรือมูลสัตว์ในการบำรุงต้น ถ้าปลูกในฤดูร้อนแล้วหมั่นรดน้ำจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าการปลูกในฤดูฝน เพราะเมล็ดชะอมมีโอกาสเน่าได้สูง ผักชะอม ปกติแล้วจะไม่ค่อยมีโรคและแมลงศัตรูพืชมารบกวนเท่าไหร่ หากพบก็ใช้ปูนขาวโรยไว้รอบโคนต้น แต่ถ้าเป็นแมลงมีหนอนกินยอดชะอมก็ให้ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดทุก ๆ 8 วัน การเก็บยอดชะอม ควรเก็บให้เลือกยอดไว้ 3-4 ยอดเพื่อให้ต้นได้โต เพื่อความปลอดภัยควรเก็บหลังจากการฉีดยาฆ่าแมลงแล้วไม่น้อยกว่า 7 วัน และสามารถเก็บเกี่ยวจากต้นที่ปลูกกิ่งตอนได้ 10-15 วัน และตัดยอดขายได้ทุก ๆ 2 วัน

ต้นชะอม

สรรพคุณของชะอม

  1. ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากมีวิตามินเอสูง
  2. ยอดชะอมช่วยลดความร้อนในร่างกายได้
  3. ผักรสมันอย่างชะอมมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ
  4. ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูก
  5. รากชะอมนำมาฝนกินช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง และช่วยขับลมในลำไส้
  6. มีส่วนช่วยบำรุงเส้นเอ็น
  7. ช่วยแก้อาการลิ้นอักเสบเป็นผื่นแดง

ประโยชน์ของชะอม

  • ประโยชน์ของชะอม ช่วยฟื้นฟูผมแห้งเสีย แตกปลาย ด้วยสูตรน้ำชะอมหมักผม เพียงแค่นำใบชะอมประมาณ 1 กำมือมาต้มกับน้ำเปล่า 3 ถ้วย จนได้น้ำชะอมเข้มข้น กรองเอาแต่น้ำ เมื่อสระผมเสร็จให้นำผ้าขนหนูมาชุบน้ำชะอมที่เตรียมไว้ บิดพอหมาด นำมาเช็ดผมให้ทั่ว แล้วทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างออก จะช่วยทำให้ผมแห้ง ๆ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
  • ชะอม ประโยชน์นำมาทำเป็นเมนูอาหารได้หลากหลายเมนู เมนูชะอม เช่น ไข่ชะอม ไข่ทอดชะอม ชะอมชุบไข่ แกงส้มชะอมกุ้ง แกงส้มชะอมไข่ นำมาลวกหรือนึ่งใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก น้ำพริกกะปิ รับประทานร่วมกับส้มตำมะม่วง ตำส้มโอ หรือจะนำไปปรุงเป็นแกงรวมกับปลา เนื้อ ไก่ กบ เขียด หรือต้มเป็นอ่อม ทำแกงลาว แกงแค เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการของยอดชะอม 100 กรัม

  • ชะอม ประโยชน์พลังงาน 57 กิโลแคลอรี
  • เส้นใยอาหาร 5.7 กรัม
  • ธาตุแคลเซียม 58 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 80 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 4.1 มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ 10066 IU
  • วิตามินบี 1 0.05 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.25 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 1.5 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 58 มิลลิกรัม

โทษของชะอม

  1. สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งมีบุตรอ่อน ไม่ควรรับประทานผักชะอม เพราะจะทำให้น้ำนมแม่แห้งได้
  2. ผักชะอม สำหรับคุณแม่ลูกอ่อน จะแพ้กลิ่นของผักชนิดนี้อย่างมาก ดังนั้นควรอยู่ห่าง ๆ
  3. การรับประทานผักชะอมในหน้าฝน อาจจะมีรสเปรี้ยว กลิ่นฉุน บางครั้งอาจทำให้มีอาการปวดท้องได้ (ปกตินิยมรับประทานผักชะอมหน้าร้อน)
  4. กรดยูริกเป็นตัวการที่ทำให้เกิดข้ออักเสบในผู้ป่วยโรคเกาต์ ซึ่งเกิดมาจากสารพิวรีน (Purine) โดยผักชะอมนั้นก็มีสารพิวรีนในระดับปานกลางถึงระดับสูง ผู้ป่วยโรคเกาต์สามารถรับประทานได้ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด หากเป็นมากก็ไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้ปวดกระดูกได้
  5. อาจพบเชื้อก่อโรคอย่างซาลโมเนลลา (Salmonella) ซึ่งเป็นเชื้อที่สามารถพบได้ทั่วไปในสภาพแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ อากาศ เมื่อเรานำผักชะอมที่ปนเปื้อนสารชนิดนี้มาประกอบอาหารโดยไม่ล้างทำความสะอาดหลาย ๆ ครั้ง หรือไม่นำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อชนิดนี้ได้ โดยผู้ที่ได้รับเชื้อชนิดอาจจะมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำสีเขียว หรือถ่ายเป็นมูกมีเลือดปน มีไข้ เป็นต้น

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์เดออะแดนดอตคอม, สถาบันการแพทย์แผนไทย, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ภาพประกอบ : เว็บไซต์ pantip.com (by Lifeguard), www.khlung.chanthaburi.doae.go.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด