จอก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นจอก 20 ข้อ !

จอก

จอก ชื่อสามัญ Water lettuec[1]

จอก ชื่อวิทยาศาสตร์ Pistia stratiotes L. จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[1]

สมุนไพรจอก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักกอก (เชียงใหม่), กากอก (ภาคเหนือ), ไต่ผู้เฟี้ย (จีน-แต้จิ๋ว), ต้าฝูผิง (จีนกลาง), จอกใหญ่ เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของต้นจอก

  • ต้นจอก จัดเป็นวัชพืชน้ำขนาดเล็ก หรือเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นลอยและเจริญเติบโตติดกันเป็นกลุ่มลอยอยู่บนผิวน้ำ มีอายุยืนหลายปี ลำต้นทอดขนานไปกับผิวน้ำ ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ และมีรากระบบรากแก้วและมีรากฝอยเป็นจำนวนมากออกเป็นกระจุกอยู่ใต้น้ำ สีขาว ลำต้นมีความสูงประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร ลำต้นมีไหล ต้นใหม่จะเกิดจากโคนต้นและเกิดบนไหล โดยต้นจอกเป็นพรรณไม้น้ำที่ชอบแสงแดดจัด ชอบน้ำจืด สามารถพบได้ตามลำคลอง หนองน้ำ นาข้าว และที่มีน้ำขัง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด หรือแตกไหล และวิธีการแยกต้นอ่อน[1],[2],[3]

ต้นจอก

รูปจอก

รากจอก

  • ใบจอก ใบเป็นเดี่ยวสีเขียวเรียงสลับ เกิดบริเวณส่วนโคนของลำต้นเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ รูปร่างของใบมีลักษณะที่ไม่แน่นอน บางครั้งเป็นรูปรี รูปไข่กลับ รูปใบพัด แต่โดยมากเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายใบมนหยักลอนเป็นคลื่น ๆ ฐานใบมนสอบแคบ ส่วนขอบใบเรียบเป็นสีแดง มีขนขึ้นปกคลุมแผ่นใบทั้งสองด้าน บริเวณฐานใบพองออกและมีลักษณะอ่อนนุ่มคล้ายกับฟองน้ำ ทำให้สามารถลอยน้ำได้ ใบมีความยาวและความกว้างประมาณ 10-25 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวอ่อน ใบไม่มีก้านใบ[2],[3]

ใบจอก

  • ดอกจอก ออกดอกเป็นช่ออยู่ตรงกลางต้น ตรงโคนใบระหว่างกลาง หรือออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกสั้นขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร ดอกจะมีกาบห่อหุ้มดอกอยู่ประมาณ 2-3 ใบ เป็นแผ่นสีเขียวอ่อนหุ้มไว้ ด้านในเรียบ ส่วนด้านนอกมีขนละเอียดปกคลุม ดอกมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียที่แยกกันอยู่ แต่อยู่ในช่อเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะอยู่ด้านบนดอกส่วนดอกเพศเมียจะอยู่ด้านล่าง ดอกจอกเป็นดอกที่ไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง ที่โคนดอกเพศผู้จะมีรยางค์แผ่นสีเขียวเชื่อมติดอยู่เป็นรูปถ้วย และมีเกสรเพศผู้ประมาณ 4-8 ก้าน ส่วนดอกเพศเมียจะมีรยางค์เป็นแผ่นสีเขียวติดอยู่เหนือรังไข่[2],[3],[5]

รูปดอกจอก

ดอกจอก

  • ผลจอก ผลมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ หรือเป็นผลเป็นชนิดแบคเดท (Bacdate) มีกาบหรือใบประดับสีเขียวอ่อนติดอยู่ ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 2-3 เมล็ด บ้างว่ามีจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีลักษณะกลมยาว เปลือกเมล็ดจะมีรอยย่น[1],[2],[3]

สรรพคุณของจอก

  1. ใบมีรสขม เผ็ด และฝาดเล็กน้อย ใช้เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาฟอกเลือดให้เย็นได้ (ใบ)[2]
  2. ช่วยขับความชื้นในร่างกาย (ใบ)[2]
  3. ช่วยขับพิษไข้ (ใบ)[2]ดอกจอก
  4. ช่วยขับเหงื่อ (ใบ)[2]
  5. ช่วยขับเสมหะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
  6. ช่วยแก้หืด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
  7. ใช้เป็นยาขับลม (ใบ)[2]
  8. ช่วยแก้อาการบิด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
  9. รากใช้เป็นยาระบาย (ราก)[6]
  10. ใบสดใช้ต้มผสมกับน้ำตาลทราย (ใช้อย่างละ 120 กรัมต่อน้ำ 3 ถ้วย) แล้วต้มให้ข้นจนเหลือถ้วยเดียว ใช้รับประทานให้ได้ 3 ครั้ง เพื่อเป็นยาแก้ท้องมาน หรืออาการบวมน้ำ หรือจะใช้ใบแห้งประมาณ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาก็ได้เช่นกัน (ใบ)[1],[2]
  11. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ปัสสาวะไม่คล่อง ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยา (ใบ)[1],[2],[3] บ้างระบุว่ารากเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[6]
  12. ช่วยรักษาโรคโกโนเรีย (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคหนองในแท้) (ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นส่วนของใบ)[3]
  13. ใบใช้เป็นแก้โรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน และฝีหนองภายนอก (ใบ)[2],[3]
  14. ใบใช้เป็นยาแก้หัด แก้ผื่นคัน มีน้ำเหลืองได้ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 100 กรัม นำมาตากให้แห้งหรือผิงไฟให้แห้ง แล้วบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งทำเป็นยาเม็ด ทยอยกินให้หมดภายใน 1 วัน หรือจะใช้ใบแห้งต้มกับน้ำ นำมาอบผิว แล้วใช้น้ำยาที่ต้มได้มาล้างบริเวณที่เป็นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง (ใบ)[1],[2]
  15. ใบสดใช้ผสมกับน้ำตาลกรวดดำ อุ่นให้ร้อน ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่ได้รับการกระทบกระเทือน หรือมีอาการฟกช้ำดำเขียว จะช่วยแก้อาการบอบช้ำได้ หรือจะใช้ใบสดนำมาตำใช้เป็นยาพอกก็ได้เช่นกัน (ใบ)[1],[2]
  16. นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่นที่ระบุว่า จอกช่วยแก้วัณโรค แก้อาการไอ แก้ริดสีดวงทวาร แก้ไฟลามทุ่ง ผื่นแดงคัน อาการบวมไม่ทราบสาเหตุ คั้นใบผสมกับน้ำมันมะพร้าวใช้แก้โรคเรื้อน (แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน และไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้และวิธีใช้แต่อย่างใด)

วิธีใช้สมุนไพรจอก

  • ใช้ภายใน ให้ใช้ต้นแห้งประมาณ 10-15 กรัม ใช้ต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาก็ได้ โดยใบสดที่นำมาใช้ทำยาควรเลือกใบที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว และควรเก็บใบในหน้าร้อนถึงจะดี แล้วนำมาล้างให้สะอาด ตัดรากออกทั้งหมด นำมาตากให้แห้ง ซึ่งจะได้ใบแห้งที่มีรสเค็ม ฉุน และเย็น[1],[2]
  • ใช้เป็นยาภายนอก ให้นำใบสดมาตำแล้วพอกตามความต้องการ[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นจอก

  • ใบของต้นจอกสดจะมีวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซีมาก มีคาร์โบไฮเดรต 2.6%, เส้นใย 0.9%, โปรตีน 1.4%, ไขมัน 0.3%, ความชื้น 92.9%, ธาตุแคลเซียม 0.20%, ธาตุฟอสฟอรัส 0.06%[1],[2]

ประโยชน์ของจอก

  • นอกจากจะใช้เป็นพืชสมุนไพรแล้ว ชาวจีน อินเดีย และแอฟริกายังนำมาใช้เป็นอาหารเพื่อรับประทานในยามขาดแคลนอีกด้วย โดยชาวจีนจะใช้ต้นอ่อนนำมาปรุงเป็นอาหาร (ตอนแรกจะไม่รู้รส แต่ต่อมาจะมีรสแสบร้อน)[1]
  • ต้นอ่อนใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู เป็ด ปลา เป็นต้น[4]
  • ต้นจอกสามารถนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยหมักได้[5]
  • ต้นนำมาใช้ปลูกประดับในอ่างเลี้ยงปลา เพื่อเป็นที่หลบบังให้กับปลาขนาดเล็กและลูกปลาได้[1]

ข้อควรระวังในใช้สมุนไพรจอก

  • ต้นจอกเป็นพรรณไม้ที่สามารถดูดสารที่มีพิษได้ดีมาก จึงควรตรวจสอบแหล่งน้ำก่อนว่ามีพิษหรือไม่ หากต้นจอกขึ้นอยู่ตามท้องน้ำที่เป็นพิษ หรือหากต้นมีรสขม ก็ไม่ควรนำมารับประทานเป็นอันขาด[1],[2]
  • รากของต้นจอกมีพิษเล็กน้อย ก่อนนำมาใช้ต้องตัดรากออกให้หมดเสียก่อน และใบที่นำมาต้มควรล้างให้สะอาดก่อนการนำมาใช้ด้วย[1],[2]
  • สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน[1],[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “จอก”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 220-221.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “จอก”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 176.
  3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “จอก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/.  [22 ก.พ. 2014].
  4. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “จอก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [22 ก.พ. 2014].
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “จอก”.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org . [22 ก.พ. 2014].
  6. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “Pistia stratiotes L.”.  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน เล่ม 1 (684).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [22 ก.พ. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Tralamander: A Dawdling Flâneur, daphne7700, Rhy@n, waxwing27, sclereid0309, ~suchitra~, williewonker)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด