คุย สรรพคุณและประโยชน์ของเถาคุย 20 ข้อ ! (กะตังกะติ้ว)

คุย

คุย ชื่อวิทยาศาสตร์ Willughbeia edulis Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ancylocladus cochinchinensis Pierre)[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1]

สมุนไพรเถาคุย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะตังกะติ้ว (ภาคกลาง), หมากยาง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี), ตังตู้เครือ (ลำปาง), คุยช้าง (ปราจีนบุรี), คุยหนัง (ระยอง, จันทบุรี), อีคุย (ปัตตานี), โพล้พอ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), อากากือเลาะ (มลายู-ปัตตานี), ต้นคุย เถาคุย เครือ (ไทย), เครือยาง, บักยาง เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของต้นคุย

  • ต้นคุย จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็งรอเลื้อยขนาดใหญ่ เลื้อยไปได้ไกลประมาณ 10-15 เมตร มีลำเถาที่ใหญ่และแข็งแรงมาก แตกกิ่งก้านสาขาจำนวนมาก มีมือยึดเกาะ เปลือกลำต้นเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาล ทุกส่วนของต้นจะมีน้ำยางสีขาวขุ่น พบได้ตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าโปร่ง และป่าเบญจพรรณ เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด[1],[2]

ต้นคุย

เถาคุย

กะตังกะติ้ว

  • ใบคุย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมและเป็นติ่ง โคนใบเป็นรูปลิ่มถึงมน ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบหนา ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ส่วนด้านล่างมีขนนุ่มเล็กน้อย มีเส้นแขนงใบประมาณ 15-16 คู่ ก้านใบมีร่องอยู่ด้านบน ก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร[1],[2]

ใบคุย

  • ดอกคุย ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก โดยจะออกบริเวณซอกใบและที่ปลายยอด ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย ช่อดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 5-6 ดอก ก้านดอกยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร มีขนสั้นกระจายอยู่ทั่วไป มีใบประดับ 1 อัน รองรับ ดอกหรือช่อดอกมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-2.5 มิลลิเมตร ตามขอบมีขนครุย กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกัน ยาวได้ประมาณ 4 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก โคนหลอดกลีบเป็นรูปถ้วยสั้น ๆ ปลายแฉกมนเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ตามขอบมีขนครุย กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน สีขาวปนสีเหลือง เรียงบิดเวียนแบบขวาทับซ้าย ส่วนแฉกยาวประมาณ 9-12 มิลลิเมตร และหลอดยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ผิวเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อยบริเวณปลายกลีบด้านนอก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน อับเรณูยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ติดด้านหลัง ก้านชูอับเรณูมีขนาดสั้น สีเหลืองเกลี้ยง ส่วนเกสรเพศเมีย รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ มี 1 คาร์เพล 1 ช่อง 23-46 ออวุล รังไข่ยาวได้ประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียแยกแฉก 2 แฉกตื้น ๆ สีเหลืองและมีขนเล็กน้อย เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[2]

ดอกคุย

  • ผลคุย ผลเป็นผลเดี่ยวแบบผลสดมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ เปลือกผลหนา ผิวเกลี้ยง มีขนาดประมาณ 5.8-7.2 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงส้ม เปลือกหุ้มผลมีน้ำยางสีขาวมาก ลักษณะเหนียว ก้านผลยาวได้ประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร และมีขนเล็กน้อย ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด เนื้อผลลื่นติดกับเมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1.2-1.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.9-2.8 เซนติเมตร โดยจะติดผลในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[2]

ผลคุย

ลูกคุย

เมล็ดคุย

สรรพคุณของคุย

  1. ตำรับยาพื้นบ้านอีสานจะใช้ลำต้นคุยผสมกับลำต้นม้ากระทืบโรง ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง และเป็นยาอายุวัฒนะ (ลำต้น)[2]
  2. เปลือกต้นมีรสฝาด ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ (เปลือกต้น)[1],[2]
  3. ในประเทศมาเลเซียจะนำรากมาต้มกับน้ำกินเป็นยารักษาโรคดีซ่านที่เกิดจากโรคมาลาเรีย (ราก)[1]
  4. รากมีรสฝาดใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้เจ็บคอ เจ็บหน้าอก (ราก)[1],[2]
  5. เถา ลำต้น หรือรากนำมาต้มดื่มเป็นยารักษาโรคบิด (เถา, ลำต้น, ราก)[1],[2]
  1. ผลสุกใช้รับประทาน ช่วยหล่อลื่นลำไส้ ทำให้ขับถ่ายได้สะดวก (ผลสุก)[2]
  2. ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ตับพิการ (ลำต้น)[1],[2]
  3. ตำรับยาพื้นบ้านภาคใต้จะใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย (ลำต้น)[2]
  4. ผลดิบมีรสเปรี้ยวฝาด ใช้ผลดิบตากแห้งย่างไฟ แล้วป่นนำมาผสมกับน้ำ ใช้เป็นยาทาแผล (ผลดิบ)[1],[2]
  5. ยางใช้สำหรับทาแผล (ยาง)[1]
  6. ยางมีรสฝาดร้อน ใช้แก้คุดทะราด และแก้เท้าเป็นหน่อ (ยาง)[1],[2]
  7. ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคคุดทะราด (ลำต้น)[1],[2]
  8. รากนำมาตำให้ละเอียดใช้เป็นยาทาแก้โรคตัวเหลืองในทารก (ราก)[1]
  9. ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้มือเท้าอ่อนเพลีย ส่วนรากและเถาก็มีสรรพคุณแก้มือเท้าอ่อนเพลียได้เช่นกัน (ลำต้น, เถา, ราก)[1],[2]
  10. หมอยาพื้นบ้านที่จังหวัดอุบลราชธานีจะใช้เถาคุยนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อัมพฤกษ์ อัมพาต (เถา)[2]
  11. เถาหรือลำต้นมีรสฝาด นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ประดงเข้าข้อ ลมขัดในข้อ ลมขัดในกระดูก (เถา, ลำต้น)[1],[2] ส่วนตำรับยาพื้นบ้านภาคกลางจะใช้ลำต้นผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ลมคั่งข้อ (ลำต้น)[2]

ประโยชน์ของคุย

  • ผลสุกมีรสเปรี้ยวอมหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้[1],[2]
  • ลำต้นใช้แทนเชือกสำหรับมัดสิ่งของ[2]
  • รากนำมาใช้ในการย้อมสี โดยจะให้สีแดง[1]
  • น้ำยางใช้ทำเป็นกาวสำหรับดักจับแมลง เช่น จักจั่น ด้วยการใช้น้ำยางจากพืช 3 ชนิด คือ ยางเถาคุย ยางไทร และยางมะเดื่อหรือยางขนุน นำมาผสมในอัตราส่วนอย่างละเท่า ๆ กัน จากนั้นให้เติมน้ำมันก๊าดหรือน้ำมันโซล่า แล้วนำไปเคี่ยวจนกระทั่งน้ำยางข้นเหนียว ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วจึงนำมาใช้เป็นกาวได้[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “กะตังกะติ้ว”, “คุย”, “เถาคุย”.   หน้า 48-49, 194-197, 342-343.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “คุย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [28 ส.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Rukhacheat, Navida2011), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด