คาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

คาลาไมน์โลชั่น

คาลาไมน์โลชั่น หรือ ยาคาลาไมน์ (Calamine lotion) เป็นยาน้ำแขวนตะกอน (แป้งน้ำสีชมพู) ที่ใช้บรรเทาอาการคันตามผิวหนัง เช่น ผดผื่นคัน ลมพิษ ผื่นแพ้ อีสุกอีใส เริม งูสวัด เป็นต้น โดยมีตัวยาสำคัญ คือ ซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide) หรือซิงค์คาร์บอเนต (Zinc Carbonate) และยังมีตัวยาอื่นที่ช่วยเสริมฤทธิ์ในการรักษา เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine HCL) หรือคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ที่เป็นยาแก้แพ้, การบูร (Camphor) และเมนทอล (Menthol Crystal) ที่มีสรรพคุณแก้ปวดแก้คันทำให้เย็น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสูตรตำรับของแต่ละบริษัทยาว่าขึ้นทะเบียนยาอย่างไร

คาลาไมน์โลชั่นเป็นยาที่ปลอดภัย (สามารถใช้ในหญิงตั้งครรภ์ได้) ใช้งานง่าย และมักไม่มีผลข้างเคียง ประชาชนทั่วไปมักซื้อยาคาลาไมน์นี้เก็บไว้เป็นยาประจำบ้าน เพื่อพร้อมหยิบใช้เมื่อจำเป็น ซึ่งยานี้ก็มีจำหน่ายทั่วไปตามร้านขายยา รวมถึงมีใช้ในโรงพยาบาลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ

ตัวอย่างยี่ห้อคาลาไมน์โลชั่น

ยาคาลาไมน์โลชั่น (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อัลเลอร์ดริล (Allerdryl), แอนคามิน (Ancamin), แอนตี้พรู โลชั่น (Antipru Lotion), คาบานา (Cabana), คาดินิล (Cadinyl), คาดรามาย-วี โลชั่น (Cadramine-V lotion), คาลาดิพ (Caladiph), คาลาอีส เอฟอาร์เอ็กซ์ (Calahyst Frx), คาลาคิน (Calakin), คาลาไมน์ โลชั่น จีพีโอ (calamine lotion GPO), คาลาไมน์ โลชั่น โอสถ อินเตอร์แลบ (Calamine lotion Osoth Interlab), คาลาไมน์พญายอ (เสลดพังพอน) อภัยภูเบศร, คาลาไมน์ สุพงษ์ (Calamine Suphong), คาลาไมน์โลชั่น ตราเสือดาว (Calamine Leopard brand), คาลาไมน์ โลชั่น ศิริบัญชา (Calamine lotion Siribuncha), คาลานอล (Calanol), คาลาโพร (Calapro), คาลาริน (Calarin), คาโลรีน (Caloryne), คานาไมน์ (Canamine), คาเนอริน (Canerin), คลารา (Clara), ฮิสตา โลชั่น (Hista Lotion), เค.บี. คาโล (K.B. Calo), คาดิล (Kadryl), ลานอล (Lanol), เอ็ม-ดี ครีม (M-D Cream), พาตาร์ โลชั่น (Patar Lotion), ยูเมดา คาลาไมน์-ดี (Umeda Calamine-D) ฯลฯ

รูปแบบคาลาไมน์โลชั่น

ประเทศไทยมีการจัดจำหน่ายยาคาลาไมน์โลชั่นในรูปแบบชนิดยาน้ำแขวนตะกอนที่เป็นยาสำหรับใช้ภายนอก โดยมีขนาดบรรจุตั้งแต่ 60, 120, 450 มิลลิลิตร และแบบที่เป็นแกลลอน โดยทั่วไปคาลาไมน์โลชั่นจะมีอยู่ด้วยกัน 2-3 สูตร ดังนี้

  • สูตรแรก คือ คาราไมน์โลชั่นขวดสีชมพู เช่น คาลาไมน์ โลชั่น ตราเสือดาว (Calamine leopard brand) ที่ประกอบไปด้วย คาลาไมน์ (Calamine) 15 กรัม และซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide) 5 กรัม

คาลาไมน์
IMAGE SOURCE : punyarx.com, leomedical.co.th, pantip.com (by หน้าม้าคุง … ฮี้ฮี้)

  • สูตรที่สอง คือ คาราไมน์โลชั่นขวดสีเขียว หรือ คาดรามาย-วี โลชั่น (Cadramine-V lotion) ซึ่งเป็นสูตรที่ทาแล้วรู้สึกเย็นสบาย แต่ไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็กมาก เพราะเด็กผิวบาง อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้ได้ โดยจะประกอบไปด้วย คาลาไมน์ (Calamine) 100 มิลลิกรัม, ซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide) 30 มิลลิกรัม, ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine HCL) 10 มิลลิกรัม, การบูร (Camphor) 15 มิลลิกรัม และเมนทอล (Menthol Crystal) 5 มิลลิกรัม

คาดรามายวีโลชั่น
IMAGE SOURCE : www.ebay.com

  • สูตรที่สาม เป็นสูตรที่ผสมสมุนไพรที่มีสรรพคุณแก้อาการคัน คือ คาลาไมน์พญายอ (เสลดพังพอน) อภัยภูเบศร

คาลาไมน์เสลดพังพอน
IMAGE SOURCE : www.pharmacy.mahidol.ac.th, www.weloveshopping.com

สรรพคุณของคาลาไมน์โลชั่น

  • ช่วยบรรเทาอาการคันหรือระคายเคืองผิวหนัง เช่น ผดผื่นคัน ผื่นแดง ผื่นแพ้ ลมพิษ อาการแพ้พืชบางชนิด (เช่น การสัมผัสไอวี่พิษ) ยุงกัด แมลงกัดต่อย ผิวไหม้เนื่องจากแสงแดด รอยขีดข่วน อาการคันจากงูสวัด เริม อีสุกอีใส เป็นต้น
  • ช่วยส่งเสริมการสมานผิวได้ในระดับหนึ่ง ทำให้แผลจากอาการคันติดกัน
  • ช่วยปกป้องผิวหนังจากความร้อนและความเปียกชื้น
  • ช่วยยับยั้งเชื้อโรคและป้องกันการติดเชื้อทางผิวหนังได้ในระดับหนึ่ง

กลไกการออกฤทธิ์ของคาลาไมน์โลชั่น

ตัวยาสำคัญของยาคาลาไมน์โลชั่น คือ ซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide) ซึ่งมีฤทธิ์ฝาด มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองของผิวหนัง ลมพิษ ผื่นคัน สามารถช่วยลดอาการอักเสบทางผิวหนังและช่วยสมานผิวได้ในระดับหนึ่ง (ทำให้แผลจากการคันติดกัน) นอกจากนี้ยังช่วยปกป้องผิวหนังจากแสงยูวี (UV light) ได้อีกด้วย ด้วยกลไกเหล่านี้จึงทำให้ยานี้มีฤทธิ์ในการรักษาและบรรเทาอาการจากผื่นคันต่าง ๆ ได้ดี

ก่อนใช้คาลาไมน์โลชั่น

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงคาลาไมน์โลชั่น สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาทาเฉพาะที่ทุกชนิด
  • อาการโรคเป็นมานานแล้วกี่วัน
  • มีโรคผิวหนังชนิดเรื้อรังอื่น ๆ ร่วมด้วย

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้คาลาไมน์โลชั่น

  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามใช้ทาบริเวณริมฝีปาก ภายในช่องปาก รอบตา หรือทาลูกตา

วิธีใช้คาลาไมน์โลชั่น

  • ให้ใช้ทาผิวหนังบริเวณที่มีอาการผดผื่นคันในขนาดที่พอเหมาะ วันละ 3-4 ครั้ง (โดยเฉพาะเวลาหลังอาบน้ำเช้าและเย็น)

คำแนะนำในการใช้คาลาไมน์โลชั่น

  • คาลาไมน์โลชั่นเป็นยาใช้ภายนอก ห้ามนำมารับประทาน
  • ให้เขย่าขวดก่อนใช้ยานี้ทุกครั้ง
  • การทายาซ้ำในครั้งถัดไป ให้ล้างยาที่ติดอยู่ที่ผิวหนังออกก่อน
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้ยาสัมผัสกับดวงตาหรือเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกาย

การเก็บรักษาคาลาไมน์โลชั่น

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ)
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

ผลข้างเคียงของคาลาไมน์โลชั่น

คาลาไมน์โลชั่นเป็นยาที่ใช้ทาภายนอกร่างกาย จึงไม่ค่อยพบผลข้างเคียงหรือผลอันไม่พึงประสงค์ต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายโดยตรง แต่หากพบว่าหลังจากที่ทายานี้แล้วมีอาการผื่นขึ้นมากกว่าเดิม รู้สึกระคายเคืองบริเวณที่ทายามากขึ้น หรือมีอาการปวดแสบปวดร้อน ให้รีบล้างยาออกด้วยน้ำสะอาดและไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาอาการแพ้ที่เกิดขึ้นดังกล่าว

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “ยาแก้ผดผื่นคัน/คาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 308.
  2. หาหมอดอทคอม.  “คาลาไมน์โลชั่น (Calamine Lotion)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [07 ต.ค. 2016].
  3. ThaiRx.  “Cadramine-V lotion”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : thairx.com.  [07 ต.ค. 2016].
  4. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา.  “คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย”.  พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา ; พ.ศ. 2553.  หน้า 127.

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด