คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

คลอเฟนิรามีน

คลอเฟนิรามีน / คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine)* เป็นยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีนในกลุ่มอัลไคลามีน (Alkylamine) ถูกนำมาใช้รักษาอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ลมพิษ ผื่นคัน หวัดภูมิแพ้ ฯลฯ ใช้บรรเทาอาการหวัด (ลดน้ำมูกใส ๆ) และอาการคัน แต่ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยานี้คือ อาการง่วงนอน โดยจะมีอาการตั้งแต่เล็ก ๆ น้อย ๆ มีอาการซึม ๆ ไม่สดชื่น อยากนอน ซึ่งจะเป็นสักพักหนึ่งแล้วกลับมาเป็นปกติ หรือบางคนอาจจะมีอาการง่วงนอนมาก  จนขนาดลุกไม่ไหว อยากนอนมาก และไม่สามารถทำงานหรือดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม คลอเฟนิรามีนก็ยังเป็นยาแก้แพ้ที่นิยมใช้กันมากที่สุดและมีอัตราการใช้ยาชนิดนี้มากเป็นอันดับ 2 ของยาสามัญประจำบ้านรองจากยาพาราเซตามอล เนื่องจากเป็นยาที่มีราคาถูก ปลอดภัย โอกาสแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงจากยามีน้อย และหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป โดยมีทั้งในยาสูตรเดี่ยว (ที่มีทั้งยาเม็ดสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ และยาน้ำสำหรับเด็ก) และยาสูตรผสมกับยาแก้หวัดและยาลดไข้ ซึ่งการเลือกใช้ยานี้อย่างเหมาะสมควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น

ยาคลอเฟนิรามีนเป็นยาที่ปลอดภัย โดยในระดับความปลอดภัยของคนท้อง ยานี้จัดอยู่ใน Pregnancy category B ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ค่อนข้างปลอดภัย และยังไม่มีรายงานอันตรายที่รุนแรงจากการใช้ยานี้ แม้จะใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ยานี้ก็สามารถขับออกทางน้ำนมได้ จึงต้องระมัดระวังการใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตรด้วย

หมายเหตุ : คลอร์เฟนิรามีน หรือ “ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลือง” บางครั้งอาจเรียกย่อ ๆ ว่า ซีพีเอ็ม (CPM) หรืออาจเรียกสั้น ๆ ว่า คลอร์เฟน ก็ได้

ตัวอย่างยาคลอเฟนิรามีน

ยาคลอเฟนิรามีน (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อเซตาคอล-พี (Acetacol-P), อัลเลอร์จิน (Allergi), อลี (Aly), แอนตามีน (Antamin), อาร์ค-คลอ (Arc-Chlor), คลอเฟ (Chlophe), คลอเฟน (Chlophen), คลอราฮีส (Chlorahist), คลอรามีน-เอส (Chloramine-S), คลอร์ดอน (Chlordon), คลอร์ลีเอท (Chlorleate), คลอร์เฟ (Chorphe), คลอร์เฟน (Chorphen), คลอร์เฟนแคพ (Chlorphencap), คลอร์เฟนิรามีน เอ.เอ็น.เอช. (Chlorpheniramine A.N.H.), คลอร์เฟนิรามีน แอคดอน (Chlorpheniramine Acdhon), คลอร์เฟนิรามีน เอเอ็นบี (Chlorpheniramine ANB), คลอร์เฟนิรามีน เอเซียน ฟาร์ม (Chlorpheniramine Asian Pharm), คลอร์เฟนิรามีน เอเซียน ยูเนียน (Chlorpheniramine Asian Union), คลอร์เฟนิรามีน ชิว บราเทอร์ส (Chlorpheniramine Chew Brothers), คลอร์เฟนิรามีน จีพีโอ (Chlorpheniramine GPO), คลอร์เฟนิรามีน เค.บี. (Chlorpheniramine K.B.), คลอร์เฟนิรามีน เมดิคฟาร์มา (Chlorpheniramine Medicpharma), คลอร์เฟนิรามีน นครพัฒนา (Chlorpheniramine Nakornpatana), คลอร์เฟนิรามีน พิคโค (Chlorpheniramine Picco), คลอร์เฟนิรามีน ที แมน (Chlorpheniramine T Man), คลอร์เฟนิรามีน ที.โอ. (Chlorpheniramine T.O.), คลอร์เฟโน (Chlorpheno), คลอร์ไพรามีน (Chlorpyramine), โคฮิสแตน (Cohistan), ฮีสดารอน (Hisdaron), ฮีสตาแทบ/ฮีสตาแทปป์ (Histatab/Histatapp), อิลซิด (llcid), เค.บี. รามีน (K.B. Ramine), คลอรามิน (Kloramin), คูลนอกซ์ (Koolnox), เมด-คลอรามีน (Med-chloramine), เมดคอร์ (Medcor), มัยคอร์เฟน (Mycorphen), พาตาร์เฟน (Patarphen), พี.เค.รามิน (P.k.ramin), เฟดามิน (Phedamin), เฟรามีน-ที (Pheramine-t), โพเฟน (Pophen), ไพรามีน (Pyramine), ซี-คลอร์ (Sea-chlor), ไซคลอร์เฟน (Sichlorphen), ซินคลอมีน (Sinchlormine), ซูรามีน (Suramine), ที.เอ็ม. โคท ไซรัป (T.M. Cough Syrup), ไวรามีน (Wyramine) ฯลฯ

รูปแบบยาคลอเฟนิรามีน

  • ยาเม็ด ขนาด 2 และ 4 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำเชื่อม ขนาด 2 และ 2.5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)
  • ยาฉีด ความแรง 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร บรรจุในหลอด 2 มิลลิลิตร (10 มิลลิกรัม) และขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

คลอเฟนิรามีน
IMAGE SOURCE : Medthai.com

คลอเฟนิรามีนมาลีเอท
IMAGE SOURCE : thaimisc.pukpik.com (by มดแดง), pantip.com (by สมาชิกหมายเลข 1538077)

คลอร์เฟนิรามีนมาลีเอท
IMAGE SOURCE : Medthai.com

สรรพคุณของยาคลอเฟนิรามีน

ยานี้เป็นสารต้านฮิสตามีนสำหรับใช้รักษาและบรรเทาอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ลมพิษ ผื่นคัน หวัดภูมิแพ้ ไข้ละอองฟาง เยื่อจมูกอักเสบเนื่องจากการแพ้ เยื่อตาขาวอักเสบจากการแพ้ การแพ้อาหาร แพ้ยาหรือน้ำเกลือ ยุง แมลง เป็นต้น และยังใช้เป็นยาลดน้ำมูกไหลเนื่องจากหวัด และบรรเทาอาการคันจากสาเหตุต่าง ๆ

  • ใช้บรรเทาอาการแพ้และหวัด ได้แก่ อาการจาม น้ำมูกไหล (ช่วยลดน้ำมูกใส ๆ) คัดจมูก ตาแดง คันที่ตาและน้ำตาไหล คันจมูกและคอ
  • ใช้บรรเทาอาการแพ้ไข้ละอองฟาง (Hey fever) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการแพ้สารจำพวกละอองเกสร ดอกไม้ ฝุ่นละออง หรือสารอื่นในอากาศ
  • ใช้บรรเทาอาการคันจากสาเหตุต่าง ๆ รักษาอาการคันระคายเคืองในบริเวณดวงตา และกรณีใส่เฝือกรักษาโรคกระดูก
  • ด้วยยานี้มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอน จึงมีการนำมาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยที่ต้องการพักผ่อน เพราะไม่ว่าจะเป็นโรคหวัด โรคภูมิแพ้ หรือโรคไข้หวัด ถ้าผู้ป่วยได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ก็จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น โรคเหล่านี้จึงหายได้เร็วยิ่งขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น ในบางรายที่มีปัญหาเรื่องการนอนไม่ค่อยหลับ ยังสามารถใช้ยาคลอเฟนิรามีนเพื่อช่วยให้ง่วงนอนและหลับพักผ่อนได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอาการของหวัดคัดจมูกหรือน้ำมูกไหลก็ตาม

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคลอเฟนิรามีน

ยาคลอเฟนิรามีนจะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการป้องกันร่างกายไม่ให้ตอบสนองกับสารก่อภูมิแพ้ที่เข้ามากระตุ้นภายในร่างกาย

ก่อนใช้ยาคลอเฟนิรามีน

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาคลอเฟนิรามีน สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) หรือส่วนประกอบใด ๆ ของยานี้ การแพ้ยากลุ่มอัลไคลามีน (Alkylamine) และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาคลอเฟนิรามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาคลอเฟนิรามีนร่วมกับยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติด เช่น โพรพอกซิฟีน (Propoxyphene) อาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีอาการง่วงนอนมากขึ้น รู้สึกสับสน ควบคุมสติได้ไม่ดีเหมือนปกติ
    • การใช้ยาคลอเฟนิรามีนร่วมกับยากลุ่มที่ให้เกลือแร่โพแทสเซียมกับร่างกายชนิดรับประทาน เช่น โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride) อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร หรือทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ที่อาจมีเลือดปนออกมา หรืออุจจาระเป็นสีดำคล้ำ
    • การใช้ยาคลอเฟนิรามีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและง่วงนอนมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจทำให้สูญเสียการควบคุมสติสัมปชัญญะได้ด้วย
  • เป็นหรือเคยเป็นโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือโรคปอดอื่น ๆ, มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ, โรคต้อหิน, มีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ, โรคหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, แผลในกระเพาะอาหาร, ปัสสาวะลำบาก, ต่อมลูกหมากโต, , ต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ, โรคตับ, โรคไต, ลมชัก, โรคมะเร็งหรือความผิดปกติอื่น ๆ เกี่ยวกับเม็ดเลือด และโรคเรื้อรังอื่น ๆ
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้ เช่น ความพิการแต่กำเนิด
  • หากกำลังจะเข้ารับการผ่าตัดหรือการทำทันตกรรมใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้อยู่

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาคลอเฟนิรามีน

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) หรือยากลุ่มอัลไคลามีน (Alkylamine) เช่น บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine), เดกซ์คลอเฟนิรามีน (Dexchlorpheniramine), ไตรโพรลิดีน (Triprolidine) เป็นต้น (ไตรโพรลิดีนเป็นยาที่นิยมใช้ผสมกับซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) มีชื่อทางการค้า เช่น แอกติเฟด (Actifed), ไตรโพรดรีน (Triprodrine), ซูเฟด (Sufed) เป็นต้น)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการหอบหืดกำเริบ ทารกแรกเกิด และทารกที่คลอดก่อนกำหนด
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด โรคต้อหิน ปัสสาวะลำบากเนื่องจากต่อมลูกหมากโต หญิงตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก) และหญิงให้นมบุตร (หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรสามารถใช้ยานี้ได้ แต่ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น)
  • ผู้ป่วยที่มีน้ำมูกเหนียวข้น หรือมีสีเหลือง/เขียว ไม่ควรใช้ยานี้
  • โดยทั่วไปยานี้ควรใช้ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรใช้ยานี้ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้ซึมเศร้า หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจเสริมฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนมากขึ้น
  • ผู้ที่ขับรถ ขับเรือ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้ เพราะหลังการรับประทานยาอาจทำให้ง่วงนอน มึนงง เวียนศีรษะ และตาพร่าได้ ถ้าหากมีอาการดังกล่าว ให้หยุดทำงานเหล่านี้จนกว่าจะหมดฤทธิ์ยา

วิธีใช้ยาคลอเฟนิรามีน

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด* วันละ 2-4 ครั้ง หรือทุก 4-6 ชั่วโมง หรือฉีดครั้งละ ½-1 หลอด* เข้ากล้าม หรือเข้าหลอดเลือดดำ
  • เด็กอายุ 2-12 ปี ให้รับประทานยาวันละ 0.35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง หรือให้ตามน้ำหนักตัว ดังนี้
    • น้ำหนักตัวต่ำกว่า 8 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ ½ ช้อนชา* วันละ 2 ครั้ง
    • น้ำหนักตัว 8-10 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ ½ ช้อนชา วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
    • น้ำหนักตัว 11-16 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ ½ ช้อนชา วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
    • น้ำหนักตัว 17-24 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 1 ช้อนชา หรือ ½ เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
    • น้ำหนักตัว 25-34 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 1 ช้อนชา หรือ ½ เม็ด วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
    • น้ำหนักตัวมากกว่า 34 กิโลกรัมขึ้นไป ให้รับประทานยาในขนาดเท่าผู้ใหญ่
    • ส่วนยาฉีดสำหรับเด็ก ให้ฉีดครั้งละ ¼-½ หลอด เข้ากล้าม หรือเข้าหลอดเลือดดำ

หมายเหตุ : ยาเม็ด 1 เม็ด = 4 มิลลิกรัม, ยาน้ำเชื่อม 1 ช้อนชา = 2 มิลลิกรัม, ยาฉีด 1 หลอด = 10 มิลลิกรัม

คำแนะนำในการใช้ยาคลอเฟนิรามีน

  • ยานี้สามารถรับประทานในช่วงเวลาใดก็ได้ เพราะไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และหลังจากรับประทานยาแล้วให้ดื่มน้ำตาม 1 แก้ว
  • สำหรับยาคลอเฟนิรามีนในรูปแบบยาน้ำ ให้ใช้ช้อนสำหรับตวงยาโดยเฉพาะในการรับประทานยา
  • การใช้ยาทุกชนิด ซึ่งรวมถึงยาคลอเฟนิรามีน ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ
  • การใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เสมอ และต้องใช้ยานี้อย่างระมัดระวังในเด็กอายุ 6-11 ปี
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • เนื่องจากในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยาสูตรผสมสำหรับแก้หวัด แก้ไอ แก้คัดจมูก และขับเสมหะจำนวนมากที่มียาคลอเฟนิรามีนผสมอยู่ ผู้ป่วยจึงต้องระมัดระวังถ้าจะใช้ร่วมกับยานี้ โดยการตรวจสอบว่าส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เหล่านั้นซ้ำซ้อนกับยานี้หรือไม่ เพื่อป้องกันการได้รับยาเกินขนาด
  • ในกรณีที่รับประทานยาคลอเฟนิรามีนแล้วรู้สึกไม่สบายท้อง อาจรับประทานยานี้พร้อมกับอาหารหรือนมเพื่อลดอาการดังกล่าว
  • การใช้ยาคลอเฟนิรามีนติดต่อกันเป็นเวลานานอาจได้ผลน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยต้องเพิ่มขนาดยาจาก 1 เม็ด เป็น 2 เม็ด จึงได้ผลดีดังเดิม และเมื่อใช้ไปอีกสักระยะก็จะมีแนวโน้มจะต้องใช้ยาชนิดนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจจะมากเกินไป ซึ่งเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนชนิดของยาแก้แพ้จากชนิดเดิมไปเป็นชนิดใหม่สัก 1-2 เดือน แล้วค่อยกลับมาใช้ยาเดิม
  • ยานี้อาจทำให้ตาแห้งและการมองเห็นไม่ชัด ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่สวมใส่คอนแทคเลนส์รู้สึกไม่สบายตาได้ ดังนั้น ผู้ที่สวมใส่คอนแทคเลนส์จึงควรใช้ยาหยอดตาที่ช่วยหล่อลื่นในตาเพื่อลดอาการดังกล่าว
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอน มึนงง เวียนศีรษะ และตาพร่าได้ ถ้าเป็นไปได้จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหลังจากรับประทานยา หรือหากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ให้หยุดทำงานเหล่านี้ทันทีจนกว่าจะหมดฤทธิ์ยา

การเก็บรักษายาคลอเฟนิรามีน

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น)
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

เมื่อลืมรับประทานยาคลอเฟนิรามีน

โดยทั่วไปยานี้จะใช้รับประทานเฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น การลืมรับประทานยาจึงไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่หากแพทย์ระบุให้รับประทานยานี้เป็นประจำและลืมรับประทานยา ให้รับประทานยานี้ในทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาคลอเฟนิรามีน

  • ยานี้มักทำให้ง่วงนอน มึนงง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว การมองเห็นไม่ชัดเจน ปากคอจมูกแห้ง (แนะนำให้อมลูกกวาดที่ไม่หวานนักหรือดื่มน้ำ) ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ หงุดหงิด มือสั่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารหรือเจริญอาหาร ท้องเสีย ไม่สบายท้อง ท้องผูกจากฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก ปัสสาวะลำบาก เป็นลมพิษ ผื่นคัน เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงรุนแรงของยานี้ คือ มีปัญหาในการมองเห็น เช่น มองเห็นไม่ชัด, มีปัญหาในการหายใจ, อาการกระวนกระวาย ตื่นเต้น วิตกกังวล นอนไม่หลับ (พบมากในเด็ก), หน้ามืด วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม, หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ใจสั่น หรือเจ็บแน่นหน้าอก, ปัสสาวะลำบาก, การชัก การเกร็งของกล้ามเนื้อและใบหน้า เป็นต้น
  • ยานี้อาจทำให้เสมหะหรือเสลดเหนียวข้นและขับออกได้ยาก จึงไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีอาการไอและมีเสมหะหรือเสลด เช่น หืด หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ
  • ในเด็กเล็กถ้าใช้ยานี้ในขนาดที่มากเกินไป อาจทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่ายหรือชักได้
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 264-265.
  2. Drugs.com.  “Chlorpheniramine”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [16 ต.ค. 2016].
  3. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “CHLORPHENIRAMINE MALEATE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [16 ต.ค. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [16 ต.ค. 2016].
  5. Siamhealth.  “ยาแก้แพ้ Chlorpheniramine”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [17 ต.ค. 2016].
  6. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 357 คอลัมน์ : การใช้ยา พอเพียง.  “ยาแก้แพ้คลอร์เฟนิรามีน”.  (ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [17 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด