5 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นข้าวสารดอกเล็ก !

ข้าวสารดอกเล็ก

ข้าวสารดอกเล็ก ชื่อวิทยาศาสตร์ Raphistemma hooperianum (Blume) Decne. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1],[2]

สมุนไพรข้าวสารดอกเล็ก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เคือคิก (สกลนคร), ข้าวสารดอกเล็ก (กรุงเทพฯ), เมือยสาร (ชุมพร), ปลายสาน ดอกข้าวสาร ผักข้าวสาร (อุดรธานี, ภาคอีสาน), ข้าวสาร เครือข้าวสาร (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของข้าวสารดอกเล็ก

  • ต้นข้าวสารดอกเล็ก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกหรือไม้เถาเลื้อยพัน ลำต้นเกลี้ยงและมีน้ำยางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ต้องการแสงแดดปานกลางจนถึงค่อนข้างมาก ดินที่ใช้ปลูกควรเป็นดินร่วนปนทรายที่มีส่วนผสมของปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก เพื่อเป็นอาหารให้แก่ต้นไม้ได้ พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามชายป่าดิบทั่วไป ตามชายป่าธรรมชาติ หรือบริเวณสวนที่รกร้าง บริเวณป่าไผ่ ในประเทศไทยพบขึ้นทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง[1],[2],[3]

ต้นข้าวสารดอกเล็ก

  • ใบข้าวสารดอกเล็ก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลมเป็นหางยาว โคนใบเว้าทั้งสองข้าง ห้อยเป็นรูปติ่งหู ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-10.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-15 เซนติเมตร แผ่นใบบาง ด้านบนที่โคนเส้นกลางใบจะมีขนสั้น ๆ และออกเป็นกระจุก ส่วนก้านใบมีลักษณะเล็กและยาว โดยจะมีความยาวได้ประมาณ 2-7 เซนติเมตร[1],[2]

ใบข้าวสารดอกเล็ก

  • ดอกข้าวสารดอกเล็ก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 4-7 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 0.25-5.5 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวได้ประมาณ 1.25-3.5 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กและมีกลิ่นหอม กลีบรองกลีบดอกเป็นรูปไข่ปลายมน ยาวได้ประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ตรงโคนเชื่อมติดกัน ส่วนกลีบดอกนั้นมี 5 กลีบ กลีบเป็นสีขาว และต่อมาก็จะกลายเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองนวล ส่วนโคนจะเชื่อมติดกันเป็นท่อยาวประมาณ 8-9 มิลลิเมตร ส่วนตรงปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ มีลักษณะยาวกว่าท่อดอกเล็กน้อย ที่ปลายกลีบมีสีแต้มสีม่วง เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ส่วนเส้าเกสรนั้นจะเป็นสีขาว มีความยาวประมาณ 10-13 มิลลิเมตร ออกดอกในช่วงฤดูหนาว[1],[3]

ดอกข้าวสารดอกเล็ก

  • ผลข้าวสารดอกเล็ก ลักษณะของผลจะเป็นฝักรูปไข่แกมขอบขนานหรือเป็นรูปกระสวย ฝักมีขนาดยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ฝักเป็นสีเขียว ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลและมีขนสีขาว[1],[2]

ผลข้าวสารดอกเล็ก

สรรพคุณของข้าวสารดอกเล็ก

  • ตำรายาไทยจะใช้รากข้าวสารดอกเล็กเป็นยาถอนพิษ ทำให้อาเจียน ระงับพิษทั้งปวง (ราก)[2],[5]
  • รากใช้ปรุงเป็นยารักษาตา โดยใช้รากตากแห้งแล้วนำไปบดเป็นยากินรักษาโรคตาต่าง ๆ เช่น แก้ตาแดง ตาอักเสบ ตาแฉะ ตามัว ตาฝ้าฟาง นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันโรคต้อกระจกได้อีกด้วย (ราก)[3],[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าใช้ทำเป็นยาหยอดตา[5]
  • ในเมล็ดจะมีสาร Cardiac glycoside ที่เป็นพิษ (เมล็ด)[1]

ประโยชน์ของข้าวสารดอกเล็ก

  • ผล ดอก เถา และส่วนโคนของลำต้นใช้เป็นอาหารได้ โดยดอกจะใช้ทำแกงส้ม (อร่อยไม่แพ้ผักอื่น ๆ ที่นำมาทำแกงส้มเลยทีเดียว) ส่วนเถาใช้ลอกเปลือกจิ้มกับน้ำพริก และโคนต้นที่หมกดินนำมาล้างแล้วต้มลอกเปลือก ใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริกหรือน้ำปลาร้าได้เช่นกัน[3],[4]
  • มีบ้างที่นำมาปลูกเพื่อกินเป็นผัก โดยนำต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดมาปลูกลงในดิน หากเพาะต้นกล้าใส่ถุงเพาะชำถุงละหนึ่งต้น เมื่อต้นกล้าโตและแข็งแรงแล้วก็ให้ย้ายมาปลูกได้ โดยใช้มีดกรีดถุงให้ขาด แล้วนำต้นกล้าพร้อมดินที่ติดอยู่ในถุงลงหลุมปลูก กลบดินให้แน่น แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ในระยะแรกควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เมื่อต้นเริ่มแข็งแรงดีแล้วให้รดน้ำวันละ 1 ครั้งก็พอ ส่วนการให้ปุ๋ย ให้ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกผสมดินปลูกและใส่บริเวณโคนต้นโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีก็ได้[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ข้าวสารดอกเล็ก”.  หน้า 124-125.
  2. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ข้าวสารดอกเล็ก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [15 มี.ค. 2015].
  3. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ข้าวสารดอกเล็ก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [15 มี.ค. 2015].
  4. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม.  “ข้าวสารดอกเล็ก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.m-culture.in.th.  [15 มี.ค. 2015].
  5. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ข้าวสารดอกเล็ก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [15 มี.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Robert Lafond), www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด