ขางคันนา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นขางคันนา 5 ข้อ !

ขางคันนา

ขางคันนา ชื่อวิทยาศาสตร์ Desmodium heterocarpon var. strigosum Meeuwen จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2]

สมุนไพรขางคันนา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขางคันนาแดง (เชียงใหม่), หญ้าตืดหมา (ลำปาง), อีเหนียวใหญ่ (ชัยภูมิ), พึงฮวย (ชุมพร), เส่งช้างโชก (กะเหรี่ยง ลำปาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของขางคันนา

  • ต้นขางคันนา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกฤดูเดียว ลำต้นมีลักษณะตั้งกึ่งตั้งและกึ่งตั้งกึ่งเลื้อยถึงกึ่งแผ่ปกคลุมดิน มีความสูงได้ประมาณ 50-175 เซนติเมตร หรืออาจสูงได้ถึง 2 เมตร ลำต้นนั้นเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนที่ถูกแสงแดดมักเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม ส่วนด้านล่างที่ไม่ถูกแสงจะเป็นสีเขียวอ่อน ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.8-5.2 มิลลิเมตร มีขนสีขาวขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น พบขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส นครราชสีมา กาญจนบุรี อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ ศรีสะเกษ และขอนแก่น ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 76-892 เมตร[1],[2]

ต้นขางคันนา

  • ใบขางคันนา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบย่อยบนสุดจะเป็นรูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับแกมใบหอก ส่วนใบย่อยด้านข้างจะเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่กลับ โดยใบบนสุดจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.6-2.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร ส่วนใบด้านข้างจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.3-4 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวถึงค่อนข้างจะเขียวเข้ม หลังใบมีขนสีขาวขึ้นปกคลุมหนาแน่น (แต่ขนจะสั้นกว่าชนิด Desmodium styracifolium) ส่วนด้านหน้าใบนั้นไม่มีขน แต่พบได้ในบางสายพันธุ์ที่จะมีขนเล็ก ๆ ขึ้นกระจายอยู่ตามเส้นใบและแผ่นใบด้านหน้า ก้านใบยาวประมาณ 1.4-2.2 เซนติเมตร หูใบเป็นสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลแดงเข้ม[1],[2]

ใบขางคันนา

รูปขางคันนา

  • ดอกขางคันนา ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอดตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 4.3-5.8 เซนติเมตร มีดอกย่อยประมาณ 43-90 ดอก การออกดอกจะเป็นแบบ Indeterminate กลีบดอกเป็นสีม่วงหรือสีม่วงปนสีขาวนวล มีลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว อับเรณูเป็นสีเหลืองปนน้ำตาล ก้านอับเรณูเป็นสีแดง เกสรเพศเมียเป็นสีเหลืองปนน้ำตาล ส่วนก้านเกสรเพศเมียเป็นสีเขียว[1],[2]

ดอกขางคันนา

  • ผลขางคันนา ผลมีลักษณะเป็นฝักยาว ยาวประมาณ 1.3-3 เซนติเมตร มีขนและคอดหักเป็นข้อ ๆ แตกออกได้ตามตะเข็บล่าง ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดประมาณ 4-9 เมล็ด บางช่อดอกย่อยฝักจะมีเมล็ดเพียง 1 เมล็ด ออกดอกติดเมล็ดได้ดีมาก โดยจะเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่จะออกดอกมากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน[1],[2]

ฝักขางคันนา

สรรพคุณของขางคันนา

  • ตำรายาไทยระบุว่า สมุนไพรขางคันนามีรสเมาเฝื่อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้เด็กตัวร้อน ดับพิษตานซาง แก้กาฬมูตร (ลำต้นและใบ)[1],[2]
  • ใช้เป็นยาแก้โรคลำไส้ ใช้ขับพยาธิได้ทุกชนิด และเป็นยาขับปัสสาวะ (ลำต้นและใบ)[1],[2]
  • ยาพื้นบ้านจะใช้รากขางคันนา นำมาผสมกับรากมะเดื่อดิน และผงปวกหาด ใช้ต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง เป็นยาถ่ายพยาธิ (ราก)[1]
  • ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบและลำต้นขางคันนา นำมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้บวมพอง (ลำต้นและใบ)[1],[2]

ประโยชน์ของขางคันนา

  • ใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ โดยต้นที่มีอายุ 45 วัน คุณค่าทางอาหารจะประกอบไปด้วยโปรตีน 11.9-15.9%, แคลเซียม 1.26-1.49%, ฟอสฟอรัส 0.18-0.26%, โพแทสเซียม 1.17-1.26%, ADF 38.7-47.3%, NDF 45.8-54.9%, DMD 39.3-39.5%, ลิกนิน 14.2-17.7% ส่วนต้นที่มีอายุประมาณ 75-90 วัน จะมีโปรตีน 11-12.8%, ไนเตรท 78.4-85 พีพีเอ็ม, ออกซาลิกแอซิด 14.1-22.4 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, แทนนิน 4.2-6.1%, มิโมซิน 1.17-1.54% และไม่พบไนไตรท์[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ขางคันนา”.  หน้า 91.
  2. สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์.  “ขางคันนา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th.  [03 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด