กาสามปีก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกาสามปีก 9 ข้อ !

กาสามปีก

กาสามปีก ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex peduncularis Wall. ex Schauerr[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[6]

สมุนไพรกาสามปีก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตีนนกผู้ มะยาง ห้าชั้น (เชียงใหม่), สวองหิน (นครราชสีมา), ไข่เน่า (นครราชสีมา, ลพบุรี), เน่า (ลพบุรี), ขี้มอด (นครปฐม), แคตีนนก (กาญจนบุรี), กะพุน ตะพรุน (จันทบุรี), ตะพุน ตะพุนทอง ตะพุ่ม สะพุนทอง (ตราด), กานน สมอกานน สมอตีนนก สมอหิน (ราชบุรี, ประจวบคีรีธันธ์), สมอป่า สมอหิน (ประจวบคีรีขันธ์), นนเด็น (ปัตตานี), ตาโหลน (สตูล), กาสามปีก กาจับหลัก ตีนนกผู้ มะยางห้าชั้น (ภาคเหนือ), กาสามซีก กาสามปีก ตีนกา สมอบ่วง (ภาคกลาง), โคนสมอ ตีนนก สมอตีนเป็ด สมอหวอง (ภาคตะวันออก), ปะถั่งมิ เปอต่อเหมะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), นน สมอตีนเป็ด (ภาคใต้), ลือแบ ลือแม (นราธิวาส-มาเลเซีย), ไม้เรียง (เมี่ยน), ตุ๊ดอางแลง (ขมุ) เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5]

ลักษณะของกาสามปีก

  • ต้นกาสามปีก จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้มหรือดำ กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนอ่อนขึ้นประปราย ส่วนกิ่งแก่จะเกลี้ยงไม่มีขน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ชอบแสงแดดจัด ขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด มีเขตการกระจายพันธุ์ในภาคเหนือของปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นในป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าคืนสภาพ พบมากในป่าชายหาด บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400-900 เมตร[2],[3],[4]
  • ใบกาสามปีก ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้าม มีใบย่อย 3 ใบ ก้านใบเรียว ยาวประมาณ 3.5-7 เซนติเมตร ด้านบนเรียบหรือเป็นร่องตื้น มีขอบเป็นสันชัดเจน ผิวเรียบหรือมีขนขึ้นประปราย ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานถึงรูปรี หรือเป็นรูปคล้ายใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเรียวแหลม ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา ใบย่อยจะมีขนาดไม่เท่า โดยใบกลางจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-5.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-17 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นประปราย ส่วนใบแก่ด้านบนจะเกลี้ยง ด้านล่างมีขนขึ้นตามเส้นกลางใบ ปลายเส้นแขนงใบโค้งจรดกัน เห็นได้ไม่ชัด ก้านใบย่อยยาวได้ประมาณ 0.1-1.2 เซนติเมตร[2]
  • ดอกกาสามปีก ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ออกเป็นช่อเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ มีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-25 เซนติเมตร แตกแขนงเป็นคู่ตรงข้ามหรือเกือบตรงข้ามกัน แต่ละแขนงจะแตกแขนงย่อยเป็นคู่ ๆ อีกประมาณ 1-3 คู่ ที่ปลายสุดของกิ่งจะเป็นช่อกระจุก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-0.5 เซนติเมตร มีใบประดับติดเป็นคู่ตรงจุดที่แตกกิ่ง ยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร ร่วงได้ง่าย ดอกกาสามปีกจะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีใบประดับย่อยขนาดเล็ก 1 คู่ ติดอยู่ใต้กลีบเลี้ยง ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนติดกันเป็นรูปกรวย สูงประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ที่ปลายแยกเป็นแฉกสามเหลี่ยมเล็ก 5 แฉก แฉกด้านล่างมักจะมีขนาดใหญ่กว่าแฉกอื่น ๆ กว้างได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน แบ่งเป็นอันยาว 2 อัน และสั้น 2 อัน ส่วนรังไข่มี 3-4 ช่อง[2]
  • ผลกาสามปีก ผลมีลักษณะกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ฝาปิดขั้วผลมีขนาดกว้างประมาณ 1 ใน 4 ของตัวผล มีเนื้อหุ้มเมล็ดบาง ๆ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดแข็งมาก[2],[3]

ต้นกาสามปีก

สรรพคุณของกาสามปีก

  1. เปลือกต้นใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (เปลือกต้น)[1]
  2. ในอินเดียจะใช้น้ำต้มจากใบและเปลือกเป็นยาลดไข้ และเชื่อว่าน้ำคั้นจากใบมีสรรพคุณทางยา (ใบ, เปลือกต้น)[2]
  3. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (เปลือกต้น)[1],[5]
  4. เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะดำหรือปัสสาวะเป็นเลือด (เนื้อไม้)[1]
  5. บางข้อมูลระบุว่า ราก ต้น และใบของสมุนไพรชนิดนี้สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรียได้ (ต้น ,ราก, ใบ)

ประโยชน์ของกาสามปีก

  1. ใบอ่อน ยอดอ่อน นำมาลวกหรือต้มรับประทานเป็นผัก ให้รสฝาดมัน[4]
  2. ชาวเมี่ยนจะใช้ใบนำมาตากแห้งแล้วต้มกับน้ำดื่มเหมือนชา ให้รสชาติดี[5]
  3. ในปากีสถานจะใช้ใบอ่อนรับประทานเป็นผักและรับประทานผลสุกด้วย[2]
  4. เนื้อไม้ใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ ทำเครื่องมือเครื่องใช้ทั่วไป เช่น เสา พื้น กระดาน รอด ตง พาย กรรเชียง ครก สาก พานท้าย รางปืน ฯลฯ ใช้ในงานแกะสลักได้ดี[2],[3] และใช้ทำฟืน[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “ตีนนก”.  หน้า 99.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กาสามปีก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [16 ก.ค. 2015].
  3. การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี).  “ตีนนก / สวอง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : inven.dnp9.com/inven/.  [16 ก.ค. 2015].
  4. พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “กาสามปีก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th.  [16 ก.ค. 2015].
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “กาสามปีก, ตีนนก”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [16 ก.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.biogang.net (by suchada28538), www.tistr.or.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด