การะเกด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นการะเกด 14 ข้อ !

การะเกด

การะเกด ชื่อสามัญ Screwpine[2]

การะเกด ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus tectorius Parkinson ex Du Roi จัดอยู่ในวงศ์เตยทะเล (PANDANACEAE)

สมุนไพรการะเกด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า การะเกด การะเกดด่าง ลำเจียกหนู (กรุงเทพมหานคร), เตยด่าง เตยหอม (ภาคกลาง) เป็นต้น[1]

หมายเหตุ : ต้นการะเกดที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นเตยทะเล (Seashore Screwpine) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pandanus odorifer (Forssk.) Kuntze (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pandanus odoratissimus L.f.)

ลักษณะของการะเกด

  • ต้นการะเกด จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้น ลำต้นมักแตกกิ่งก้านสาขา มีรูปทรงคล้ายต้นเตย สูงได้ประมาณ 3-7 เมตร มีรากอากาศค่อนข้างยาวและใหญ่ มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน และนำไปปลูกกันทั่วไป ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะหรือริมน้ำ ดินทรายชายทะเล ลำห้วย ริมลำธาร สามารถพบขึ้นได้ตามชายหาดและพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล[1]

ต้นการะเกด

รากการะเกด

  • ใบการะเกด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกันเป็น 3 เกลียวที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรางน้ำ แผ่นใบค่อย ๆ เรียวแหลมไปหาปลายใบ ส่วนขอบใบมีหนามแข็งยาวประมาณ 0.2-1 เซนติเมตร ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.7-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-9 เซนติเมตร แผ่นใบด้านล่างมีนวล[1]

ใบการะเกด

  • ดอกการะเกด ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ดอกจะออกที่ปลายยอดและมีจำนวนมาก ติดอยู่บนแกนช่อ ดอกจะไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก โดยช่อดอกเพศผู้จะมีลักษณะตั้งตรง ยาวได้ประมาณ 25-60 เซนติเมตร มีกาบสีนวลหุ้ม มีกลิ่นหอม เกสรเพศผู้จะติดรวมอยู่บนก้านซึ่งยาวประมาณ 0.8-2 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกเพศเมียนั้นจะมีลักษณะค่อนข้างกลม ประกอบไปด้วยเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน 3-5 อัน เป็นกลุ่มประมาณ 5-12 กลุ่ม ในแต่ละกลุ่มจะมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ที่ปลายมีลักษณะหยักตื้นเป็นร่องระหว่างยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียจะเรียงกันเป็นวง[1]

ดอกการะเกด

  • ผลการะเกด ลักษณะของผลจะเบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-20 เซนติเมตร แต่ละผลมีขนาดกว้างประมาณ 2-6.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7.5 เซนติเมตร เมื่อสุกจะมีกลิ่นหอม โคนสีเหลือง ตรงกลางเป็นสีแดง ส่วนตรงปลายยอดเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ผลที่สุกแล้วจะมีโพรงอากาศจำนวนมาก[1]

ลูกการะเกด

ผลการะเกด

สรรพคุณของการะเกด

  • ดอกมีกลิ่นหอม รสสุขุม ใช้ปรุงเป็นยาหอม ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ ใช้เป็นยาแก้โรคในอก เจ็บอก เจ็บคอ แก้เสมหะ บำรุงหัวใจ และบำรุงธาตุ (ดอก)[2],[3]
  • ยอดใช้ต้มกับน้ำให้สตรีดื่มตอนหลังคลอดบุตรใหม่ ๆ[3]

ประโยชน์ของการะเกด

  • ผลแก่จัด (ผิวผลเป็นสีแดง) สามารถนำมารับประทานได้ ซึ่งจะมีรสชาติคล้ายสับปะรด[3]
  • ดอกหอมใช้รับประทานได้ มีรสขมเล็กน้อย[2]
  • ดอกใช้อบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอม (สตรีโบราณนิยมนำมาใส่หีบ เพื่ออบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอม)[2],[3]
  • ใช้ดอกไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวหรือมันหมู แล้วปรุงเป็นน้ำมันใส่ผม ซึ่งในสมัยก่อนนิยมใช้กันมาก[2],[3]
  • ใบการะเกดสามารถนำมาใช้ในงานจักสานทำเป็นเครื่องมือใช้สอยต่าง ๆ ได้ดี เช่น กระสอบ เสื่อ หมวก กระเป๋า ฯลฯ เป็นวัตถุดิบของงานหัตถกรรมที่ดีและหาได้ง่าย[3]
  • การะเกดเป็นไม้ที่มีรูปทรงเฉพาะตัวที่สวยงามแปลกตา ดอกมีกลิ่นหอม ปลูกเลี้ยงได้ง่าย มีความทนทาน อายุยืนยาว และหาพันธุ์ปลูกได้ง่าย จึงสามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี (เหมาะสำหรับปลูกตามที่ชื้นแฉะหรือริมฝั่งน้ำ)[1],[3]

งานจักสานจากการะเกด

เอกสารอ้างอิง
  1. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “การะเกด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [12 ก.ย. 2015].
  2. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “การะเกด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [12 ก.ย. 2015].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 312 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า.  (เดชา ศิริภัทร).  “การะเกด : ความหอมในกลิ่นอายชาตินิยม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [12 ก.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Jupiter Nielsen, Lauren Gutierrez, swan-ee, StevePillman, J. B. Friday, Piet, dustaway)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด