กระต่ายจันทร์ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระต่ายจันทร์ 20 ข้อ !

กระต่ายจันทร์

กระต่ายจันทร์ ชื่อสามัญ Spreading-sneezeweed

กระต่ายจันทร์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Centipeda minima (L.) A.Braun & Asch. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[4]

สมุนไพรกระต่ายจันทร์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าจาม (เชียงใหม่), หญ้าขี้ตู้ด (น่าน), เหมือนโลด (นครราชสีมา), กระต่ายจันทร์ (กรุงเทพฯ), หญ้าจาม (ชุมพร), หญ้ากระจาม (สุราษฎร์ธานี), กระต่าย กระต่ายจาม กระตายจันทร์ หญ้ากระต่ายจาม หญ้าต่ายจาม หญ้าต่ายจันทร์ หญ้าผมยุ่ง สาบแร้ง (ภาคกลาง), โฮ่วเกี๋ยอึ้มเจี๋ยะเช้า (จีน), เอ๋อปุ๊สือเฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของกระต่ายจันทร์

  • ต้นกระต่ายจันทร์ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกฤดูเดียว ที่มีลำต้นทอดนอนเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดินที่ชื้นเย็น ลำต้นมีขนาดเล็กและแตกกิ่งก้านมาก ส่วนปลายจะแตกกิ่งก้านชูตั้งขึ้นเล็กน้อย หรืออาจชูได้สูงถึง 15-30 เซนติเมตร ลำต้นที่ยังอ่อนอยู่จะมีขนยุ่งขึ้นปกคลุมคล้ายใยแมงมุม หรือบางต้นก็ค่อนข้างเรียบ ลำต้นเป็นสีเขียวอ่อน มีกลิ่นเหม็นเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย แอฟริกา และออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาค โดยมักพบขึ้นตามบริเวณที่โล่ง ริมแหล่งน้ำ ริมชายฝั่งแม่น้ำ ตามนาข้าว หรือตามที่ชื้นแฉะ บนพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงที่ความสูงประมาณ 1,800 เมตร[1],[2],[3],[4]

ต้นกระต่ายจันทร์

ลำต้นกระต่ายจันทร์

  • ใบกระต่ายจันทร์ ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดเล็ก ออกเรียงสลับ ใบจะเกิดจากต้นโดยตรงโดยที่ไม่มีก้าน ลักษณะของใบเป็นรูปช้อนแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบสอบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ หรือหยักเว้าเป็นง่ามข้างละ 2-3 หยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-20 มิลลิเมตร ใบอ่อนใต้ท้องใบจะมีขน ส่วนใบแก่ขนนั้นจะหลุดออกไปจนเกลี้ยง เส้นใบเห็นได้ไม่ชัดเจน[1],[2],[3],[4]

ใบกระต่ายจันทร์

  • ดอกกระต่ายจันทร์ ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบ ดอกย่อยเรียงตัวอัดกันแน่นเป็นรูปเกือบกลม หรือมีลักษณะกลมแบน ปลายกลมจักเป็นซี่ ๆ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ก้านช่อดอกสั้นมากหรือไม่มีก้านดอก โคนช่อมีใบประดับรองรับเป็นรูปช้อนขนาดเล็กจำนวนมากเรียงซ้อนประมาณ 2 ชั้น อยู่โดยรอบฐานรองดอกที่เป็นแผ่นกลมขนาดเล็กและนูนเล็กน้อย ดอกเพศเมียจะมีขนาดเล็กมากและมีจำนวนมาก เรียงเป็นวงบนฐานดอกล้อมรอบดอกสมบูรณ์เพศซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและมีจำนวนน้อยกว่า ดอกเพศเมียจะมีกลีบดอกเป็นสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดเรียว สั้นมาก ปลายแยกออกเป็นแฉก 2-3 แฉก รังไข่เล็ก ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกออกเป็นแฉก 2 แฉก ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะมีกลีบดอกเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียวมีแถบสีม่วงแต้มอยู่ ซึ่งจะอยู่วงใน โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกออกเป็นแฉก 4 แฉก รังไข่มีขนาดเล็ก มีเกสรเพศผู้ 4 อัน[1],[2],[3],[4]

รูปกระต่ายจันทร์

ดอกกระต่ายจันทร์

  • ผลกระต่ายจันทร์ ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ลักษณะของผลมักเป็นสี่เหลี่ยมรูปรีหรือเป็นรูปเกือบขอบขนาน มีขนาดเล็กมาก ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร ด้านปลายหนา เปลือกด้านนอกมีขนสีขาวขึ้นปกคลุมเล็กน้อย[1],[2],[4]

ผลกระต่ายจันทร์

เมล็ดกระต่ายจันทร์

รูปเมล็ดกระต่ายจันทร์

สรรพคุณของกระต่ายจันทร์

  1. ทั้งต้นมีรสเผ็ด เป็นยาอุ่น ออกฤทธิ์ต่อตับและไต มีสรรพคุณช่วยทำให้โลหิตที่คั่งค้างตกทวารหนัก (ต้น)[3]
  2. ตำรายาไทยจะใช้ต้นสดและใบสดของต้นกระต่ายจันทร์ นำไปตำผสมกับเหล้า คั้นเอาแต่น้ำมาดื่มเป็นยาแก้ช้ำใน ช่วยให้เลือดกระจาย แก้ไอเป็นเลือด และแก้อาเจียน (ต้น, ใบ)[1]
  3. ใช้เป็นยาแก้เด็กเป็นตานขโมย ด้วยการใช้กระต่ายจันทร์ 3 เฉียน ยัดใส่ในไข่ ใช้ต้มรับประทาน (ต้น)[5]
  4. ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ต้นกระต่ายจันทร์ นำไปผสมกับใบข่อยและเทียนดำ ใช้ตำสุมหัวเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ (ทั้งต้น)[1]
  5. ลำต้นใช้เป็นยาแก้โรคเยื่อบุตาอักเสบ ตาเป็นฝ้า เป็นยาบำรุงสายตา (ต้น)[2],[3],[5]
  6. ใช้เป็นยาแก้โรคฟันผุ หรืออาจใช้ลำต้นสด นำมาตำให้ละเอียดแล้วทำเป็นยาพอกที่แก้มแก้โรคปวดฟัน (ลำต้น)[2]
  1. ช่วยรักษาโรคมาลาเรีย (ลำต้น)[2]
  2. ตำรับยาแก้หวัดคัดจมูก จะใช้ต้นกระต่ายจันทร์ 20 กรัม นำมาต้มกับหัวหอม 5 หัว ใช้รับประทานเป็นยา (ต้น)[3] ส่วนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงใช้ดอกสูดดมแก้หวัด (ดอก)[1]
  3. ใบและเมล็ดนำมาบดให้เป็นผง ใช้เป็นยาทำให้จาม (ใบและเมล็ด)[2]
  4. ตำรับยาแก้ไซนัส ริดสีดวงจมูก แก้จมูกอักเสบ จะใช้ต้นกระต่ายจันทร์สด ๆ นำมาตำให้แหลก แล้วนำไปใส่ในรูจมูก ถ้าเป็นต้นแห้งให้นำมาบดเป็นผงทำเป็นยานัตถุ์ จะช่วยให้จามและแก้หวัดได้ดี (ต้น)[1],[3]
  5. ตำรับยาแก้ไอกรนหรือไอหอบชนิดเย็น จะใช้กระต่ายจันทร์ 20 กรัม นำมาต้มรับประทานโดยใส่น้ำตาลกรวด ถ้าใช้น้ำตาลทราย ต้องนับอายุ 3 ปี ต่อ 7.5 กรัม ต้มกับน้ำรับประทาน (ต้น)[3]
  6. ใช้เป็นยาแก้คอตีบอักเสบ (ต้น)[3]
  7. เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิ (เมล็ด)[2]
  8. ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ช่วยแก้เชื้อบิดอะมีบา (ต้น)[2],[3]
  9. ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวาร (ต้น)[2]
  10. ลำต้นใช้เป็นยาแก้ระงับพิษ แก้งูพิษกัด ช่วยดับพิษสุรา (ต้น)[2],[3]
  11. ใช้เป็นยาใส่แผล (ต้น)[2]
  12. จีนจะใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาลดอาการบวม (ต้น)[4]
  13. ตำรับยาแก้ช้ำใน ฟกช้ำปวดบวม จะใช้ต้นกระต่ายจันทร์ 20 กรัม นำมาตำให้ละเอียดแล้วนำไปตุ๋นกับเหล้ารับประทาน ส่วนกากให้นำไปพอกบริเวณที่เจ็บ (ต้น)[3]
  14. ใช้เป็นยาขับลมชื้น แก้ไขข้ออักเสบเนื่องจากลมชื้นกระทบ (ต้น)[3]

หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [2],[3] ถ้าเป็นต้นสดให้ใช้ครั้งละ 6-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน แต่ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้เพียง 5-10 กรัม ส่วนกรณีใช้ภายนอกให้ใช้ต้นสดได้ตามความเหมาะสม โดยทำเป็นยาพอก[2],[3]

ข้อควรระวัง : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิด[3] ในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย มีผู้กล่าวถึงว่ามีพิษด้วย[4] และในบางข้อมูลยังระบุด้วยว่า สมุนไพรชนิดนี้เป็นพิษต่อปศุสัตว์

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระต่ายจันทร์

  • สารที่พบ ได้แก่ Taraxerol, Taraxasterol, Arinidiol, น้ำมันระเหย และ acid บางชนิด เช่น myriogyne acid[3] และพบสารเคมีจำพวก sesquiterpene 2 ชนิด และ flavonoid อีก 3 ชนิด มีผลในการยับยั้งและต้านภูมิแพ้[4]
  • กระต่ายจันทร์ที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์หรือนำมาต้มกับน้ำ พบว่ามีประสิทธิภาพในการแก้ไอ ขับเสมหะ และช่วยบรรเทาอาการหืดหอบได้ดี[3]
  • เมื่อนำน้ำต้มของกระต่ายจันทร์ 25-50% มารวมกับมันสำปะหลังและไข่ไก่ แล้วนำเชื้อวัณโรคไปเพาะในน้ำยานั้น จะพบว่าเชื้อวัณโรคจะไม่เติบโต จึงแสดงให้เห็นว่า สมุนไพรชนิดนี้สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อวัณโรคได้[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “กระต่ายจันทร์”.  หน้า 66.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “กระต่ายจันทร์”.  หน้า 22-23.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “กระต่ายจาม”.  หน้า 30.
  4. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระต่ายจันทร์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [06 ก.ค. 2015].
  5. ไทยเกษตรศาสตร์.  “ข้อควรรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกระต่ายจันทร์”.  อ้างอิงใน : บุญชัย  ฉัตตะวานิช.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [06 ก.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Harry Rose, 翁明毅, Russell Cumming, Friends of Chiltern Mt Pilot National Park), saseedbank.com.au

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด