กระดังงาสงขลา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระดังงาสงขลา 25 ข้อ !

กระดังงาสงขลา

กระดังงาสงขลา ชื่อสามัญ Ilang.-Ilang.[3], Drawf ylang ylang[5],[6]

กระดังงาสงขลา ชื่อวิทยาศาสตร์ Canangium fruticosum Craib[5],[6] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cananga odorata var. fruticosa (Craib) J.Sinclair, Cananga odorata (Lam.) Hook.f. & Thomson var. fruticosa (Craib) J.Sinclair[1], Cananga odorata Hook.f. & Thomson var. fruticosa (Craib) Corner[3]) จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE) เช่นเดียวกับกระดังงาไทย[1]

สมุนไพรกระดังงาสงขลา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระดังงาสาขา (กรุงเทพฯ), กระดังงางอ (ยะลา-มลายู), กระดังงาเบา (ภาคใต้), กระดังงอ (มาเลย์-ยะลา), ดังงา เป็นต้น[1],[4],[5],[6]

ลักษณะของกระดังงาสงขลา

  • ต้นกระดังงาสงขลา มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยที่จังหวัดสงขลา และมีความแตกต่างกับต้นกระดังงาไทยก็คือ ต้นกระดังงาไทยนั้นเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงประมาณ 8-15 เมตร ส่วนต้นกระดังงาสงขลานั้นจะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นไม่เกิน 4 เมตร โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1-2.5 เมตร บ้างว่าสูงประมาณ 1-4 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมสีน้ำตาลและมีกลิ่นฉุน เนื้อไม้เปราะ ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทึบ กิ่งตั้งฉากกับลำต้นปลายย้อยลู่ลง ที่กิ่งมีขนอ่อน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมกันมาก และอีกวิธีคือการตอนกิ่ง แต่ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากกิ่งเปราะและหักได้ง่าย โดยต้นกระดังงาสงขลาที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะเจริญเติบโตได้ดีและมีความแข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าต้นที่เกิดจากการตอน แต่การออกดอกจะช้ากว่าต้นที่ได้จากการตอน เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ระบายน้ำดี มีความชื้นสูง ต้องการน้ำมาก แต่ไม่ทนต่อน้ำท่วมขัง ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน หากปลูกในพื้นที่ที่มีแสงแดดแบบรำไรจะออกดอกน้อยและไม่แข็งแรง[1],[3],[4],[5],[6]

ต้นกระดังงาสงขลา

ลักษณะกระดังงาสงขลา

  • ใบกระดังงาสงขลา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าหรือเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวบางและอ่อน มีเส้นแขนงของใบประมาณ 8-9 คู่ สามารถมองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน และมีก้านใบยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร[1],[3],[5]

ใบกระดังงาสงขลา

  • ดอกกระดังงาสงขลา ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อกระจุกตามกิ่งตรงข้ามกับใบ ดอกเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมแรง ในหนึ่งดอกจะมีกลีบดอกประมาณ 15-24 กลีบ ในแต่ละกลีบจะมีความกว้างประมาณ 0.5-1.8 เซนติเมตรและมีความยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร เรียงเป็นชั้นหลายชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบมีลักษณะเรียวยาว บิดเป็นเกลียวและอ่อนนิ่ม ปลายกลีบแหลมและกระดกขึ้น กลีบชั้นนอกจะยาวและใหญ่กว่ากลีบชั้นในตามลำดับ ดอกมีเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียจำนวนมาก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว มีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม มีความกว้างประมาณ 6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร สามารถออกดอกได้เกือบตลอดทั้งปี ดอกที่ยังอ่อนหรือที่เป็นสีเขียวอ่อนจะยังไม่มีกลิ่นหอม ดอกที่มีสีเหลืองถึงจะมีกลิ่นหอม และที่สำคัญช่วงที่มีอุณหภูมิสูง เช่น ตอนกลางวัน ดอกจะไม่ค่อยส่งกลิ่นหอมเท่ากับช่วงตอนเช้าและเย็น[1],[3],[4],[5],[6]

ดอกกระดังงาสงขลา

รูปกระดังงาสงขลา

  • ผลกระดังงาสงขลา ออกผลเป็นกลุ่ม มีผลย่อยประมาณ 8-10 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี ปลายผลแหลม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ในผลมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด[1],[3],[5]

สรรพคุณของกระดังงาสงขลา

  1. ตำรายาไทยระบุว่าดอกใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก)[2],[6]
  2. ช่วยบำรุงร่างกาย (ดอก)[6]
  3. ช่วยชูกำลัง (ดอก)[9]
  4. ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (ดอก)[6]
  5. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เกสร)[9]
  1. ดอกใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (ดอก)[2],[6]
  2. ดอกมีรสสุขุมหอม ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (ดอก)[1],[2],[3],[6] ช่วยบำรุงหัวใจให้สดชื่น ทำให้ใจชุ่มชื่น (ดอก)[9]
  3. ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ดอก)[6] ส่วนเกสรช่วยแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อลม แก้ไข้เพื่อปถวีธาตุ แก้โรค (เกสร)[9]
  4. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (เกสร)[9]
  5. ช่วยแก้ลมวิงเวียน (ดอก)[1],[6]
  6. ช่วยแก้อาการจุกเสียด (ดอก)[6]
  7. เนื้อไม้มีรสขมและเฝื่อน ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (เนื้อไม้, ต้น, กิ่ง, ก้าน)[1],[6]
  8. ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ (เนื้อไม้, ต้น, กิ่ง, ก้าน)[1],[6]
  9. รากมีฤทธิ์ในการคุมกำเนิด (ราก)[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระดังงาสงขลา

  • มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต[9]
  • มีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็ง[9]
  • ต้านเชื้อ ต้านเชื้อรา ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านยีสต์[9]
  • ช่วยไล่แมลง ทำให้ระคายเคืองผิวหนัง[9]

ประโยชน์ของกระดังงาสงขลา

  1. ดอกสดสามารถนำมาสกัดทำเป็นน้ำมันหอมระเหย ใช้แก้ลมวิงเวียนได้[3] (สกัดโดยวิธีการต้มกลั่น (Hydrodistillation) จะได้น้ำมันหอมระเหยร้อนละ 0.90[5])
  2. ดอกใช้สกัดทำเป็นน้ำหอมและเครื่องหอม[8]
  3. เนื้อไม้และใบใช้ทำบุหงา อบร่ำ ใช้ทำน้ำหอม และน้ำมันหอมระเหย (Essential oil)[7],[10]
  4. บ้างว่าใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางประเภทครีมหรือโลชัน จะช่วยลดความมันบนใบหน้าได้ (ไม่ยืนยัน)[10]
  5. ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำขนม อบขนม อบข้าวแช่ (แต่ไม่ได้ระบุว่าใช้ส่วนใด)[10]
  6. แพทย์ตามชนบทใช้บำบัดรักษาโรคได้เช่นเดียวกับกระดังงาไทย[5]
  7. นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วประเทศ โดยใช้ตามสวน มุมอาคาร หรือปลูกเป็นกลุ่มแบบ 3 ต้นขึ้นไป เพื่อใช้เป็นฉากหรือบังสายตา ดอกมีกลิ่นหอมแรงในช่วงเช้าและเย็น สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี การปลูกและการดูแลรักษาทำได้ง่าย ไม่ค่อยมีโรคและแมลงมารบกวน อีกทั้งยังเป็นพันธุ์ไม้ที่มีราคาไม่แพงและให้ดอกมากอีกชนิดหนึ่ง จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มปลูกพันธุ์ไม้หอมมือใหม่ที่ไม่ควรมองข้าม[3],[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “กระดังงาสงขลา (Kradang Nga Songkhla)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 22.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  “กระดังงาสงขลา”. ( ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  หน้า 71.
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กระดังงาสงขลา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [31 ม.ค. 2014].
  4. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ความเหมือนที่แตกต่างพรรณไม้ กระดังงาไทย-กระดังงาสงขลา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [31 ม.ค. 2014].
  5. ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทย, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “กระดังงาสงขลา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/essentialoils/.  [31 ม.ค. 2014].
  6. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กระดังงาสงขลา”.  (นพพล เกตุประสาท, ไพร มัทธวรัตน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th .  [31 ม.ค. 2014].
  7. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “กระดังงาสงขลา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [31 ม.ค. 2014].
  8. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “กระดังงาสงขลา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [31 ม.ค. 2014].
  9. AromaHub.  “กระดังงาสงขลาไม้หอมไทยแท้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.aromahub.com.  [31 ม.ค. 2014].
  10. NanaGarden.  “ลักษณะกระดังงาสงขลา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.nanagarden.com.  [31 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : by kit

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด