กระดอม สรรพคุณและประโยชน์ของกระดอม 26 ข้อ ! (ลูกกระดอม)

กระดอม

กระดอม หรือ ลูกกระดอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnopetalum chinensis (Lour.) Merr. (ชื่อพ้อง Gymnopetalum cochinchinense (Lour.) Kurz) จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)[1]

สมุนไพรกระดอม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้กาดง ขี้กาน้อย (สระบุรี), ผักแคบป่า (น่าน), ขี้กาลาย (นครราชสีมา), ดอม (นครศรีธรรมราช), ผักขาว (เชียงใหม่), มะนอยหก มะนอยหกฟ้า (แม่ฮ่องสอน), มะนอยจา (ภาคเหนือ), ขี้กาเหลี่ยม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น[1] มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย พม่า ศรีลังกา ภูมิภาคมาเลเซีย และภูมิภาคอินโดจีน ส่วนในประเทศเทศไทยนั้นมีการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาค[2]

ลักษณะของกระดอม

  • ต้นกระดอม จัดเป็นไม้เถาเลื้อยลำต้นและมีมือเกาะ มีขน และลำต้นมักเป็นห้าเหลี่ยม มักขึ้นทั่วไปตามที่รกร้าง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดินฟ้าอากาศ ชอบดินร่วนและระบายน้ำได้ดี[2],[3]

 ต้นกระดอม

  • ใบกระดอม มีใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ลักษณะของใบมีรูปร่างแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่เป็นรูปไตไปจนถึงรูปสามเหลี่ยม รูปห้าเหลี่ยม หรือรูปแฉก ใบกว้างประมาณ 3-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ[2]

ใบกระดอม

  • ดอกกระดอม ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน มีใบประดับยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ขอบใบเป็นจักแบบลึกแหลม ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดยาว ส่วนปลายแยกเป็นแฉกรูปหอก 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ มีสีขาว โคนติดกันเล็กน้อย เกสรตัวผู้มี 3 อัน ส่วนดอกเพศเมียจะออกเป็นเดี่ยว ๆ และกลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ มีรังไข่ช่อเดียว ยอดเกสรตัวเมียแยกเป็น 3 แฉก[2]

ดอกกระดอม

รูปดอกกระดอม

  • ผลกระดอม หรือ ลูกกระดอม ผลมีสีแดงส้ม ผลอ่อนแห้งมีสีน้ำตาล ลักษณะของผลคล้ายรูปกระสวยหรือรูปรี แหลมทั้งหัวและท้าย มีความยาวของผลประมาณ 6 เซนติเมตร และมีเส้นรอบวงราว 5-7 เซนติเมตร ผิวสาก มีสัน 10 สัน เนื้อในผลมีสีน้ำตาล ในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปรีจำนวนมาก ลักษณะเป็นริ้ว ๆ มีสีน้ำตาลไหม้ และมีกลิ่นฉุน[1],[2]

ลูกกระดอม

สรรพคุณของกระดอม

  1. ผลใช้ต้มน้ำดื่มช่วยบำรุงโลหิต (ผล)[1]
  2. เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (เมล็ด)[1],[2] หรือจะใช้รากก็ได้เช่นกัน[4]
  3. ช่วยดับพิษโลหิต (ผลอ่อน)[1],[4] บางข้อมูลระบุว่าใช้รากก็ได้[4]
  4. ช่วยดับพิษร้อนภายในร่างกาย[1] ช่วยทำให้โลหิตเย็น (ผลอ่อน)[4]
  5. ช่วยแก้ไข้ แก้ไข้จับสั่น ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 15-16 ผล (หนักประมาณ 10 กรัม) นำมาต้มกับน้ำพอประมาณ แล้วเคี่ยวน้ำให้เหลือ 1 ใน 3 แล้วเอามาดื่มก่อนอาหารช่วงเช้าและเย็น หรือในช่วงที่มีอาการไข้ (ผลอ่อน)[1],[4] บางข้อมูลระบุว่ารากก็มีสรรพคุณแก้ไข้ได้เช่นกัน[4]
  1. เมล็ดนำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รับประทานเป็นยาลดไข้ (เมล็ด)[1],[2]
  2. ใบกระดอมนำมาคั้นเอาแต่น้ำ ใช้หยอดตาแก้อาการตาอักเสบได้ (ใบ)[4]
  3. ช่วยขับน้ำลาย (เมล็ด)[1],[2],[4]
  4. ผลช่วยแก้อาการสะอึก (ผลอ่อน)[1]
  5. ผลอ่อนช่วยในการเจริญอาหาร (ผลอ่อน)[1]
  6. ช่วยในการย่อยอาหาร (เมล็ด)[1],[2],[4] แต่บางข้อมูลระบุว่าใช้รากก็ได้[4]
  7. เมล็ดช่วยขับน้ำดี (เมล็ด)[1]
  8. ผลอ่อนมีรสขม ช่วยบำรุงน้ำดี (ผลอ่อน)[1],[4]
  9. ช่วยแก้ดีฝ่อ ดีแห้ง อาการคลั่งเพ้อ คุ้มดีคุ้มร้าย (ผลอ่อน)[1],[4]
  10. เมล็ดช่วยรักษาโรคในการแท้งบุตร (เมล็ด[1], ราก[4])
  11. ผลกระดอม สรรพคุณช่วยรักษามดลูกหลังจากการคลอดบุตรหรือแท้งบุตร (ผลอ่อน)[1],[4]
  12. ช่วยบำรุงมดลูก (ผลอ่อน)[1],[4]
  13. ช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี (ผลอ่อน)[1]
  14. ช่วยถอนพิษผิด แก้เป็นพิษ (ผลอ่อน)[4]
  15. เมล็ดกระดอมช่วยแก้พิษสำแดง ใช้เป็นยาถอนพิษจากการรับประทานผลไม้ที่เป็นพิษ ใช้ถอนพิษจากพืชมีพิษชนิดต่าง ๆ (เมล็ด)[1],[4]
  16. ใบช่วยแก้พิษบาดทะยัก (ใบ)[4]
  17. ในอินเดียใช้รากกระดอมแห้งที่นำมาบดผสมกับน้ำร้อน ใช้เป็นยาทาถูนวดตามกล้ามเนื้อที่มีอาการปวดเมื่อย (ราก)[2],[4]
  18. สมุนไพรกระดอมเป็นส่วนประกอบหนึ่งในตำรับยาแก้ไข้จันทน์ลีลา ตำรับยาหอมนวโกฐ และตำรับยาหอมอินทจักร์[1]
  19. ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรกระดอม ช่วยยับยั้งการจับตัวกันของเกล็ดเลือดและช่วยทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัว[1]

สมุนไพรกระดอม

ประโยชน์ของกระดอม

  • ผลอ่อนของกระดอมสามารถนำมารับประทานได้ แต่ผลแก่หรือผลสุกห้ามรับประทานเพราะมีพิษ (ผล)[1]
  • ผลนิยมนำมาใช้ทำแกงที่เรียกว่าแกงป่าหรือแกงคั่ว โดยผ่าเอาเมล็ดออกก่อนนำมาใช้แกง หรือจะนำมาใช้ลวกจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้เช่นกัน[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [14 ต.ค. 2013].
  2. ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data.  [14 ต.ค. 2013].
  3. สมุนไพรพื้นบ้าน โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่ฮ่องสอน.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: school.obec.go.th.  [14 ต.ค. 2013].
  4. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.  “ลูกกระดอม“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th.  [14 ต.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.flickr.com (by Vietnam Plants & The USA. plants)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด