กรวยไตอักเสบ อาการ สาเหตุ การรักษาโรคกรวยไตอักเสบ 7 วิธี !!

โรคกรวยไตอักเสบ

กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง พบได้ในคนทุกอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และอาจเป็นโรคแทรกซ้อนของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ

กรวยไตอักเสบ คือ การติดเชื้อแบคทีเรียที่เกิดขึ้นในบริเวณกรวยไต* แบ่งเป็นกรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute Pyelonephritis) ซึ่งมีอาการแสดงชัดเจน และนับว่าเป็นอาการที่ค่อนข้างรุนแรง แต่เมื่อได้รับการรักษาจะหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ และกรวยไตอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic pyelonephritis) ที่ไม่มีอาการแสดงชัดเจน แต่จะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ซึ่งมักเกิดจากการรักษาหรือควบคุมสาเหตุของโรคไม่ได้ ผู้ป่วยมักเป็นโรคโดยไม่รู้ตัว จึงไม่ได้รับการรักษา เมื่อปล่อยไว้นาน ๆ เข้า ก็จะกลายเป็นภาวะไตวายเรื้อรังได้

หมายเหตุ : กรวยไต (Renal pelvis) เป็นส่วนของไตที่มีลักษณะเป็นโพรง เป็นส่วนที่ต่อกับท่อไต (Ureter) ทำหน้าที่รองรับน้ำปัสสาวะที่กรองแล้วจากเซลล์ของไตและส่งต่อไปสู่ท่อไต

กรวยไต

กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน

กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pyelonephritis) เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 4-5 เท่า มักพบในผู้หญิงในวัยเด็กและวัยสาว ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ในคนที่เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เนื้องอกหรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต หรือผู้ป่วยที่เคยสวนปัสสาวะมาก่อน เช่น ผู้ป่วยหนักที่ต้องนอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ส่วนในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ ก็อาจมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ง่ายขึ้น

สาเหตุของโรคกรวยไตอักเสบ

อาการกรวยไตอักเสบกรวยไตอักเสบจัดเป็นการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection – UTI) ซึ่งเป็นการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะตอนบน (Upper urinary tract infection) กรวยไตอักเสบอาจเกิดขึ้นเพียงข้างเดียวข้างใดข้างหนึ่ง (โอกาสเกิดทั้งข้างซ้ายและข้างขวามีใกล้เคียงกัน) หรือเกิดพร้อมกันทั้งสองข้างก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้ออักเสบเฉียบพลันในบริเวณกรวยไต ซึ่งเชื้อที่พบได้บ่อยจะเป็นเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแกรมลบ ได้แก่ อีโคไล (Escherichia coli), เคล็บซิลลา (Klebsiella), สูโดโมแนส (Pseudomonas), สแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอีโคไล (E.coli) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบในอุจจาระของคนทั่วไป ส่วนในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจเกิดจากการติดเชื้อราได้ โดยเชื้อโรคมักจะแพร่กระจายมาจากบริเวณผิวหนังรอบ ๆ ท่อปัสสาวะ (จากอุจจาระ) เข้ามาในท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ และผ่านท่อไตขึ้นมาอยู่ในกรวยไต ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อไตรอบ ๆ กรวยไต เรียกว่า “กรวยไตอักเสบ

นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางราย (โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ) เชื้อโรคอาจแพร่กระจายจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยผ่านทางกระแสเลือดก็ได้ นอกจากนั้นยังสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินปัสสาวะในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

ปัจจัยเสี่ยงของโรคกรวยไตอักเสบ

  • ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีท่อปัสสาวะสั้นและอยู่ใกล้กับทวารหนัก จึงมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคที่ออกมากับอุจจาระได้ง่าย รวมไปถึงผู้หญิงวัยทองที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่ม
  • การอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะมักเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เพราะส่งผลให้มีปัสสาวะแช่อยู่ในทางเดินปัสสาวะนานกว่าปกติ เช่น มีนิ่วในไตหรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ, มีก้อนในช่องท้องหรือเป็นเนื้องอกของกระเพาะปัสสาวะ, ต่อมลูกหมากโตในผู้ชายสูงอายุ (ทำให้ทางเดินปัสสาวะตีบแคบ), ผู้สูงอายุที่มีการตีบตันของท่อปัสสาวะ, กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานหรือทำงานไม่เต็มที่ในผู้ป่วยอัมพาต, การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ๆ หรือการดื่มน้ำน้อย (ทำให้เชื้อโรคหมักหมมอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานขึ้น และเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะที่ตึงตัวขึ้นจากปริมาณปัสสาวะที่อั้นไว้ จะทำให้ความสามารถในการกำจัดเชื้อมีน้อยลง จึงเกิดการอักเสบขึ้นได้), ผู้หญิงตั้งครรภ์ขนาด 7-8 เดือนขึ้นไป (มดลูกจะขยายใหญ่จนไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ในช่วงนี้จึงอาจเกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งเกิดโรคกรวยไตอักเสบได้ง่ายขึ้น) เป็นต้น
  • การอักเสบต่อเนื่องจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งมักพบเป็นสาเหตุในผู้หญิง หรือในผู้ป่วยที่ต้องนอนนาน ๆ (เช่น โรคอัมพฤกษ์อัมพาต) หรือผู้ป่วยที่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะ (เช่น ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโรคต่าง ๆ ด้วยการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องนอนโรงพยาบาลนานและมีการใส่สายสวนปัสสาวะ)
  • การติดเชื้อของกระดูก หรือผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อต่าง ๆ แล้วเชื้อโรคแพร่กระจายทางกระแสเลือดมายังกรวยไต
  • ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่รับประทานยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ และผู้ป่วยโรคที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวีหรือเป็นโรคเอดส์ ซึ่งคนเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ
  • การมีโรคของทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจเป็นมาแต่กำเนิด เช่น มีปัสสาวะไหลย้อนกลับจากกระเพาะปัสสาวะเข้าในท่อไตและเข้าในไตตามลำดับ จากหูรูดระหว่างท่อไตกับกระเพาะปัสสาวะหย่อน ซึ่งมักพบเป็นสาเหตุในเด็กเล็ก
  • การมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีคู่นอนหลายคน (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
  • พันธุกรรม เพราะพบโรคนี้ได้บ่อยในคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคนี้

อาการของโรคกรวยไตอักเสบ

ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการปวดที่บริเวณสีข้างหรือบั้นเอวขึ้นอย่างฉับพลัน โดยจะปวดมากที่ข้างใดข้างหนึ่ง และอาจปวดร้าวลงมาที่บริเวณขาหนีบ พร้อมกับมีไข้สูงร่วมกับมีอาการหนาวสั่นมากเป็นพัก ๆ (อาจต้องห่มผ้าหลายผืนคล้ายไข้มาลาเรีย แต่จะจับไข้ไม่เป็นเวลาแน่นอน และมีอาการหนาวสั่นได้วันละหลายครั้ง) ปัสสาวะมักมีลักษณะขุ่นขาว บางครั้งอาจเป็นเลือด หรืออาจข้นเป็นหนอง นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และบางรายอาจมีอาการขัดเบาร่วมด้วย

ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะปวดแสบ ขัด ปัสสาวะน้อย เมื่อมีกระเพาะปัสสาวะอักเสบร่วมด้วย หรืออาจมีหนอง หรือมีสารคัดหลั่งบริเวณอวัยวะเพศ เมื่อเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกรวยไตอักเสบ

  • ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อโรคอาจลุกลามเข้ากระแสเลือดกลายเป็นภาวะโลหิตเป็นพิษ ซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
  • หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หรือรับการรักษาแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่เต็มที่ตามที่แพทย์นัด หรือไม่มีการรักษาที่สาเหตุร่วมด้วย ก็อาจกลายเป็นโรคกรวยไตอักเสบเรื้อรัง (มีอาการอักเสบแต่ไม่แสดงอาการ) ซึ่งหากปล่อยไว้นานปี ในที่สุดอาจกลายเป็นภาวะไตวายเรื้อรังได้

การวินิจฉัยโรคกรวยไตอักเสบ

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติอาการ ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ การตรวจร่างกาย และจากการตรวจปัสสาวะ ซึ่งจะพบเม็ดเลือดขาวอยู่กันเดี่ยว ๆ และเกาะกันเป็นแพ (White blood cells cast) ส่วนในรายที่รุนแรงอาจมีการตรวจเชื้อ เพาะเชื้อจากปัสสาวะและ/หรือจากเลือด นอกจากนั้นยังอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพไตด้วยการเอกซเรย์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรืออัลตราซาวนด์ หรือใช้วิธีการส่องกล้องตรวจทางเดินปัสสาวะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์

แพทย์มักตรวจพบไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส ปัสสาวะมีลักษณะขุ่น ถ้าใช้กำปั้นทุบเบา ๆ ที่สีข้างตรงที่มีอาการปวด ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บจนสะดุ้ง ส่วนหน้าท้องอาจมีอาการกดเจ็บหรือท้องเกร็งแข็งเล็กน้อย

โรคอื่น ๆ ที่อาจแสดงอาการคล้ายโรคกรวยไตอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่

  • มาลาเรีย จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่นอย่างมาก แต่จะจับไข้เป็นเวลาแน่นอน วันละครั้งหรือวันเว้นวัน ผู้ป่วยมักจะมีประวัติการเดินทางเข้าไปในเขตป่าเขาหรือได้รับการถ่ายเลือดมาก่อน
  • ไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามหลังและทั่วตัว เมื่อใช้กำปั้นเคาะสีข้างหรือบั้นเอวจะไม่รู้สึกเจ็บ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการหนาวสั่น เพียงแต่รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว และมักจะมีอาการเป็นหวัด เจ็บคอร่วมด้วย
  • ปอดอักเสบ (ในระยะ 24 ชั่วโมง) นอกจากจะมีไข้สูง มีเสลด เป็นหนอง หรือเจ็บหน้าอกแปล๊บเวลาหายใจแรง ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหนาวสั่นอย่างมากร่วมด้วย
  • ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก จะมีไข้สูง หนาวสั่น ซีด เหลือง อ่อนเพลีย
  • ท่อน้ำดีอักเสบ จะมีไข้สูง หนาวสั่น ตาเหลือง ตัวเหลือง และมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง

วิธีรักษาโรคกรวยไตอักเสบ

ผู้ป่วยที่เป็นกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน มักมีไข้สูงหนาวสั่นคล้ายไข้มาลาเรีย แต่จะมีอาการปวดและเคาะเจ็บที่สีข้างหรือบั้นเอวตรงที่มีอาการปวด และมีปัสสาวะขุ่น ดังนั้น ถ้าพบว่ามีอาการไข้หนาวสั่นมาก ๆ จนต้องห่มผ้าหนา ๆ ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าพบว่าเป็นกรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลัน แพทย์อาจรับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาลถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หรืออาจให้ยากลับไปรับประทานเองที่บ้าน ในกรณีที่คนไข้ยังกินได้ ดื่มน้ำได้ และบ้านไม่ได้อยู่ไกลจากโรงพยาบาลมากนัก

  • เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนเสมอ และไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเอง เพราะโรคนี้เป็นโรคที่ไม่หายจากการดูแลตนเอง แม้อาจดูว่ามีอาการดีขึ้น แต่แท้จริงแล้วจะกลายเป็นการอักเสบเรื้อรัง ส่วนยาปฏิชีวนะนั้นก็มีอยู่หลากหลายชนิด การจะรักษาโรคได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับชนิดของโรค อายุผู้ป่วย ชนิดและขนาดของยาปฏิชีวนะ ซึ่งต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
  • ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์จะให้การรักษาประคับประคองไปตามอาการ (เช่น ในขณะที่มีไข้สูง หนาวสั่น ให้รับประทานยาลดไข้-พาราเซตามอล เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น ดื่มน้ำให้มาก ๆ และห่มผ้าหนา ๆ ห้ามอาบน้ำเย็น) ร่วมไปกับให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ทุก 8 ชั่วโมง หลังอาหารและก่อนนอน, โคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง, โอฟล็อกซาซิน (Ofloxacin) ครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง, ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) ครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ซึ่งยาทั้งหมดนี้ให้รับประทานนาน 14 วัน
  • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ถ้ารับประทานยาไม่ได้ อาจต้องให้ยาทางหลอดเลือดดำ โดยรับตัวผู้ป่วยไว้เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์จะฉีดเจนตามัยซิน (Gentamicin) ให้ครั้งละ 40-80 มิลลิกรัม (ในเด็กจะใช้ในขนาด 0.5-1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) วันละ 2-3 ครั้ง ทุก 8-12 ชั่วโมง
  • รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ ในกรณีที่ตรวจพบสาเหตุซ่อนเร้น เช่น มีนิ่วหรือเนื้องอก ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น ก็อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือถ้าพบว่าเป็นเบาหวานก็ให้ยารักษาเบาหวานร่วมด้วย
  • ภายหลังการพบแพทย์แล้ว หากตรวจพบว่าเป็นกรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
    1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
    2. รับประทานยาต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ควรหยุดยาเอง โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะที่ต้องรับประทานให้หมดตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นภายในไม่กี่วันก็ต้องรับประทานยาต่อไปให้ครบ หากหยุดยาเองอาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาจนกลายเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรังและเกิดภาวะไตวายได้
    3. ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น โรคหัวใจล้มเหลว
    4. ไม่กลั้นปัสสาวะนาน และเมื่อเข้าห้องน้ำให้นั่งบนโถ เนื่องจากการยืนบนโถจะทำให้ถ่ายปัสสาวะไม่สุด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
    5. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
    6. ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อต่าง ๆ
    7. ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรืออาการต่าง ๆ เลวร้ายลง หรือเมื่อมีความกังวลในอาการ
  • หากรักษามา 3 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น ช็อก ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะออกน้อย ซีด เหลือง หรือสงสัยว่าเป็นภาวะโลหิตเป็นพิษ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด ซึ่งอาจต้องทำการเพาะเชื้อจากปัสสาวะ ซึ่งจะพบเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุ นอกจากนี้อาจต้องตรวจเอกซเรย์ ตรวจเลือด และตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อหาความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสริมให้มีการติดเชื้อ โดยในส่วนของการรักษานั้น แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่ตรวจพบ ซึ่งในระยะแรกมักจะให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด เช่น เจนตามัยซิน (Gentamicin), เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) เป็นต้น และถ้าตรวจพบความผิดปกติอื่น ๆ แพทย์อาจให้การรักษาร่วมไปด้วย ซึ่งโดยทั่วไปมักจะรักษาให้หายขาดได้
  • ผู้ป่วยเมื่อรักษาจนอาการหายดีแล้ว แพทย์จะนัดมาตรวจปัสสาวะเป็นระยะๆ อาจทุก 3-4 เดือน เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีอาการอักเสบเรื้อรัง มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรัง ซึ่งในระยะยาวอาจกลายเป็นไตวายเรื้อรังได้

โรคกรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลันเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง หากมีไข้สูงควรสังเกตว่ามีอาการหนาวสั่นหรือมีปัสสาวะขุ่นร่วมด้วยหรือไม่ เมื่อใช้กำปั้นทุบเบา ๆ ที่สีข้างแล้วมีอาการเจ็บหรือไม่ ถ้ามีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์และรับการรักษาอย่างจริงจัง ซึ่งโดยทั่วไปสามารถรักษาให้หายได้ง่ายเมื่อมาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ แต่ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือดกลายเป็นภาวะโลหิตเป็นพิษซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต หรือเมื่อรักษาควบคุมสาเหตุไม่ได้ก็อาจกลายเป็นโรคกรวยไตอักเสบเรื้อรัง เกิดภาวะไตวาย และเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

วิธีป้องกันโรคกรวยไตอักเสบ

ผู้ที่เคยเป็นโรคนี้ เมื่อรักษาหายแล้วควรป้องกันมิให้กลับมาเป็นซ้ำด้วยการป้องกันมิให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ ดังนี้

  1. พยายามดื่มน้ำให้มาก ๆ เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เพื่อช่วยล้างเชื้อโรคออกจากกระเพาะปัสสาวะและระบบทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้การดื่มน้ำแครนเบอร์รีหรือสารสกัดจากแครนเบอร์รียังอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ด้วย
  2. อย่ากลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ควรฝึกถ่ายปัสสาวะในห้องน้ำนอกบ้าน หรือระหว่างการเดินทางได้ทุกที่ เพราะการกลั้นปัสสาวะจะทำให้เชื้อโรคอยู่ในกระเพาะปัสสาวะได้นานจนสามารถเจริญเติบโต
  3. หลังการถ่ายอุจจาระ ควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง (ในผู้หญิง) เพื่อป้องกันมิให้นำเชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะ
  4. ทำความสะอาดอวัยวะเพศทุกวันและก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ และปัสสาวะทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์
  5. รักษาอาการท้องผูก เพราะอาการท้องผูกสามารถเพิ่มโอกาสของการพัฒนาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้
  6. ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐานอยู่เสมอ (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อต่าง ๆ
  7. เมื่อมีอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ หรือมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการอักเสบรุนแรงหรือเกิดกรวยไตอักเสบเรื้อรังได้
  8. ควรระวังอย่าให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ ซึ่งนอกจากอย่ากลั้นปัสสาวะแล้ว ถ้าผู้ป่วยมีอาการขัดเบา (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ), ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ, ต่อมลูกหมากโต หรือเป็นเบาหวาน ควรรักษาโรคเหล่านี้ให้หายขาด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้เกิดการติดเชื้อ มิฉะนั้นอาจมีกรวยไตอักเสบแทรกซ้อนได้

กรวยไตอักเสบเรื้อรัง

กรวยไตอักเสบเรื้อรัง (Chronic pyelonephritis) มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียในบริเวณกรวยไต เนื่องมาจากมีการอุดกั้นหรือมีความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ แต่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงอย่างใด (ต่างจากกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน) นอกจากการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะ (Bacteriurea) และเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะโดยบังเอิญ หรือในบางครั้งบางคราวอาจมีอาการของกรวยไตอักเสบกำเริบเฉียบพลัน หรือมีอาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

ผู้ป่วยมักจะมีการอักเสบของกรวยไตนานเป็นแรมปี จนในที่สุดเซลล์ของไตถูกทำลาย ไตฝ่อ และเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง โดยจะมีอาการซีด อ่อนเพลีย ความดันโลหิตสูง หากสงสัยหรือมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ ซึ่งแพทย์มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ และตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อหาความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่ว การตีบตันของทางเดินปัสสาวะ ถ้าพบอาจต้องผ่าตัดแก้ไข หรืออาจต้องให้ยาปฏิชีวนะ และติดตามดูอาการของผู้ป่วยติดต่อกันเป็นเวลานาน ด้วยการตรวจปัสสาวะและตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ เพื่อดูว่ามีภาวะไตวายแทรกซ้อนหรือไม่

ในบางครั้ง อาจพบผู้ป่วยเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรังที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหลายขนาน โดยที่ยังตรวจพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ แต่ตรวจไม่พบเชื้อจากวิธีเพาะเชื้อตามปกติ ซึ่งในกรณีนี้ ควรนึกถึงสาเหตุจากวัณโรคไต ซึ่งจะต้องวินิจฉัยโดยการส่งปัสสาวะเพาะหาเชื้อวัณโรคโดยเฉพาะและให้การรักษาด้วยยารักษาวัณโรคจึงจะได้ผล

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 854-856.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 172 คอลัมน์ : แนะยา-แจงโรค.  “กรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลัน”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [25 มิ.ย. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [26 มิ.ย. 2016].

ภาพประกอบ : www.medicalook.com, wwikimedia.org (by Grook Da Oger), www.cancer.gov, www.aafp.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด